รู้หรือไม่? แชร์รูป “หอไอเฟล” ที่ถ่ายตอนกลางคืนผิดกฎหมาย!!

หอไอเฟล ฝรั่งเศส
ภาพ : Unsplash

หอไอเฟล ไฮไลท์แห่งกรุงปารีส ฝรั่งเศส ที่ไม่ว่าใครไปถึงก็ต้องไปถ่ายรูปแล้วโพสต์ลงโซเชียลมีเดีย ทั้งเฟซบุ๊ก อินสตาแกรม ฯลฯ เพื่อให้คนอื่น ๆ รับรู้ว่าเราได้ “มาถึงแล้ว” จริง ๆ

เรื่องการถ่ายรูปกับสถานที่ท่องเที่ยวแล้วโพสต์ลงโซเชียลมีเดียนี้เป็นเรื่องธรรมดา ใคร ๆ ก็ทำกัน แต่รู้หรือไม่ว่า การเผยแพร่รูปหอไอเฟลที่ถ่ายในยามกลางคืนนั้น เป็นเรื่อง “ผิดกฎหมาย”

หอไอเฟล (Eiffel Tower) กรุงปารีส ประเทศ ฝรั่งเศส

ลิขสิทธิ์คุ้มครองผลงานศิลปะในสหภาพยุโรป

ในสหภาพยุโรป มีกฎหมายทางด้านลิขสิทธิ์คุ้มครองผลงานศิลปะในรูปแบบต่าง ๆ  ไม่ว่าจะเป็นงานเพลง จิตรกรรม ภาพถ่าย วิดีโอ หรือแม้แต่ผลงานทางสถาปัตยกรรม โดยลิขสิทธิ์ของงานศิลปะเหล่านี้จะหมดอายุลง 70 ปี ภายหลังจากการเสียชีวิตของศิลปินเจ้าของผลงาน หมายความว่า ไม่ว่าใครก็ตามที่ต้องการเผยแพร่ภาพถ่ายผลงานศิลปะจากประเทศยุโรป ก็จะต้องขอรับการพิจารณาจากเจ้าของลิขสิทธิ์เสียก่อน

เรื่องของลิขสิทธิ์การจำกัดการเผยแพร่รูปถ่ายผลงานศิลปะโดยเฉพาะผลงานด้านสถาปัตยกรรมนี้ได้ส่งผลกระทบให้กับเว็บไซต์ชื่อดังอย่างวิกิพีเดียเป็นอย่างมาก เนื่องจากวิกิพีเดียจะใช้รูปที่ได้รับอนุญาตให้นำมาเผยแพร่ได้เท่านั้น ดังนั้นปัญหาเรื่องข้อจำกัดการเผยแพร่รูปดังกล่าวส่งผลให้วิกิพีเดียจำเป็นต้องแก้ปัญหาโดยการเซ็นเซอร์รูปผลงานทางศิลปะในบางบทความ

ภาพอะโตเมียม (Atomium) สถาปัตยกรรมหนึ่งในไฮไลท์สถานที่ท่องเที่ยวของกรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม ถูกเซ็นเซอร์ในเว็บไซต์วิกิพีเดียในช่วงก่อน ค.ศ. 2016 หรือก่อนที่จะมีการแก้ไขกฎหมายการจำกัดการเผยแพร่ภาพงานศิลปะในประเทศเบลเยียม (ภาพโดย Nro92 + Romaine จาก https://commons.wikimedia.org/wiki/File:Atomium_010-censored.png ภายใต้สิทธิ Creative Commons Attribution-Share Alike 4.0 International)

อย่างไรก็ตามเมื่อไม่กี่ปีมานี้ ทางรัฐสภาของยุโรปก็ได้พิจารณาให้แก้ไขกฎหมายการจำกัดการเผยแพร่ภาพงานศิลปะ กล่าวคือเปิดกว้างให้นักท่องเที่ยวหรือใครก็ตามที่มาเยี่ยมชมผลงานศิลปะสามารถที่จะถ่ายรูปและเผยแพร่รูปผลงานเหล่านั้นได้ (Freedom of Panorama) แต่ถึงกระนั้นก็ยังมีบางประเทศที่ยังเป็นข้อยกเว้น ยังคงยืนยันที่จะรักษาข้อกำหนดดังกล่าวเอาไว้  ซึ่งแน่นอนว่าหนึ่งในนั้นก็คือ ประเทศฝรั่งเศส

ฝรั่งเศสเมืองเลื่องลือวัฒนธรรมนี้ เชื่อได้ว่ามีผู้ไปเยือนจำนวนไม่น้อยที่ได้ฝ่าฝืนกฎหมายข้อนี้กันไปเรียบร้อยแล้ว เพราะจะมีสักกี่คนที่รู้ว่าการแชร์รูปหอไอเฟลที่ถ่ายยามกลางคืนนั้นถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์!

เรื่องลิขสิทธิ์ภาพหอไอเฟลนี้ฟังดูแล้วน่าประหลาดใจเมื่อลองตั้งคำถามว่า ทำไมจึงห้ามแชร์รูปหอไอเฟลที่ถ่ายในยามกลางคืนเท่านั้น? แถมศิลปินเจ้าของผลงานหอไอเฟลก็เสียชีวิตไปตั้งแต่ ค.ศ. 1923 หรือ 93 ปีที่แล้ว ทำไมจึงยังมีลิขสิทธิ์คุ้มครองอยู่?

คำตอบก็คือ แท้จริงแล้ว ลิขสิทธิ์นั้นไม่ได้อยู่ที่ตัวหอไอเฟล แต่อยู่ที่ไฟที่ติดอยู่ที่หอไอเฟลซึ่งเพิ่งจะมีการติดตั้งใน ค.ศ. 1985 หรือเมื่อ 35 ปีที่แล้วเท่านั้น ทั้งนี้ฝรั่งเศสได้ถือว่าแสงไฟสุดโรแมนติกที่เพิ่มความงดงามให้กับหอไอเฟลในยามกลางคืนนี้ก็เป็นผลงานทางศิลปะเช่นกัน หากใครอยากจะแชร์ภาพตัวเองยืนคู่กับหอไอเฟลในยามกลางคืนอย่างถูกกฎหมายก็อาจจะต้องรอกันอีกนานหน่อย หรือไม่ก็ลองยื่นเรื่องให้เจ้าของลิขสิทธิ์ซึ่งในที่นี้คือ Société d’Exploitation de la Tour Eiffel ลองพิจารณาดู

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :
https://mymodernmet.com/eiffel-tower-copyright-law/https://

https://www.theguardian.com/commentisfree/2015/jul/03/sharing-photos-freedom-of-panorama


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 9 พฤศจิกายน 2561