หอไอเฟล ซุ้มทางเข้างาน Expo ที่กลายเป็นสัญลักษณ์ประเทศที่ดึงดูดคนทั่วโลก

ภาพลายเส้นแสดงให้เห็นว่า หอคอยไอเฟล สร้างขึ้นเพื่อเป็นทางเข้าขนาดมหึมาในงานมหกรรม ค.ศ. 1889

ในงานนิทรรศการนานาชาติแห่งกรุงปารีส ค.ศ. 1889 นอกจากวิทยาการใหม่ที่ในด้านอุตสาหกรรม, งานศิลปะล้ำค่าที่มาแสดง และบางรายการที่มีการจำหน่ายแล้ว หากสิ่งที่มีชื่อเสียงโด่งดังที่สุดในมหกรรมครั้งนี้ก็คือ “ทางลอดซุ้มประตูเข้างาน” หรือที่รู้จักกันทั่วไปว่า “หอไอเฟล” นั่นเอง

หากแนวคิดในการสร้างหอไอเฟลมีมาตั้งแต่ ค.ศ. 1883

หอไอเฟล เป็นแนวคิดของมอริซ โคชแล็ง (Maurice Koechlin) และ เอมิล นูชิเยร์ (Emile Nougier) วิศวกรที่ทํางานให้กับกุสตาฟ ไอเฟล (Gustave Eiffel) ซึ่งเสนอแผนในการสร้างหอคอยที่ทําจากเหล็กดัดขนาดความสูง 1,000 ฟุต และหนึ่งปีต่อมาเมื่อมีการประกาศจัดงานมหกรรมนานาชาติ ณ กรุงปารีส อย่างเป็นทางการ

ไอเฟลก็ได้รับสิทธิ์ให้ดําเนินการตามแผน และเริ่มต้นสร้างหอคอยดังกล่าวให้เป็นรูปเป็นร่างขึ้นจริง แม้จะมีเสียงคัดค้านจํานวนหนึ่ง แต่คณะทำงานสามารถดําเนินการจนได้รับอนุญาตในการก่อสร้างหอคอยให้เป็นทางลอด “ซุ้มหลัก” ของงานมหกรรม ค.ศ. 1889 จากคณะกรรมการการจัดงานได้สําเร็จ

ความคืบหน้าในการก่อสร้างหอไอเฟลแต่ละช่วง

โครงสร้างของหอคอยสร้างขึ้นระหว่าง ค.ศ. 1887-1889 ด้วยแรงงาน 300 คน ใช้เหล็กหลอมทั้งหมด 7,350 ตัน และหมุดยึด 2.5 ล้านตัว โดยมีความสูง 302.6 เมตร ตั้งอยู่ทางเหนือของช็องเดอมาร์ส กลางกรุงปารีส ใช้ทุนในการสร้าง 7.7 ล้านฟรังก์ โดยได้รับงบประมาณจากไอเฟล และเงินสนับสนุนจากรัฐบาล 1.5 ล้านฟรังก์ ครอบคลุมพื้นที่ 129.22 ตารางเมตร โดยสามารถครองตําแหน่งสิ่งปลูกสร้างที่สูงที่สุดในโลกเป็นเวลาถึง 40 ปี

หอไอเฟลเปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม ค.ศ. 1889 ระหว่างงานมหกรรมโลก ค.ศ. 1889 มีผู้เข้าชมหอคอยจํานวน 3.7 ล้านคน ซึ่งโดยความตั้งใจเดิมนั้น หอไอเฟลได้รับการออกแบบมาให้มีอายุ 20 ปี แล้วจึงรื้อทิ้ง แต่จากคุณค่าในฐานะสิ่งปลูกสร้างที่สื่อความหมายในหลายๆ ด้าน ทําให้หอคอยแห่งนี้ยังคงอยู่มาจนถึงทุกวันนี้

ปัจจุบัน หอไอเฟล หอคอยเหล็กกลางกรุงปารีส กลายเป็น “สตรีเหล็กแห่งปารีส” ที่มีเสน่ห์ดึงดูดผู้คนให้มาเข้าชมปีละหลายล้านคน และถือเป็นสัญลักษณ์ของกรุงปารีสและประเทศฝรั่งเศส ทั้งยังเป็นอนุสรณ์สถานที่เก็บค่าเข้าชมที่มีจํานวนผู้เข้าชมมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก


ข้อมูลจาก

สำนักงานส่งเสริมการรัดการประชุมแบละนิทรรศการ (องค์การมหาชน). 150 ปี แห่งศาสตร์และศิลป์ไทยในมหกรรมโลก World Expo, 2563


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 15 มีนาคม 2564