ผู้เขียน | เสี่ยวจิว |
---|---|
เผยแพร่ |
กิมย้งนักเขียนปรมาจารย์ ผู้สร้างตำนานในบรรณพิภพ ด้วยผลงานสะเทือนฟ้าดิน
สำหรับคอนิยายกำลังภายในคงไม่มีใครไม่รู้จัก “กิมย้ง” ผลงานของกิมย้งหลายเล่มมี “น.นพรัตน์” แปลเป็นภาษาไทย และนักวิชาการจีนวิทยา “ถาวร สิกขโกศล” เขียนบทวิเคราะห์ผลงานกิมย้งไว้อย่างพอดี
ในวันที่จอมยุทธ์อาวุโสกิมย้งอำลาโลก (30 ต.ค. 2561) จึงต้องใช้งานของเหล่าผู้กล้ามาอ้างอิง

“ร้อยปีมีแต่กิมย้ง” คือคำพูดที่ น.นพรัตน์ กล่าวถึงจอมยุทธ์ท่านนี้ และกล่าวย้อนไปอีกว่าถ้าสำนักพิมพ์เพลินจิตไม่จัดพิมพ์ “มังกรหยก” เมื่อปี 2501 นิยายกำลังภายในคงไม่อยู่ยงคงกระพันในตลาดหนังสือไทยมานานกว่าครึ่งศตวรรษ
แต่เหตุใดจอมยุทธ์ที่มีผลงานเขียน 15 เล่ม จึงยิ่งใหญ่ถึงเพียงนี้
คงต้องให้ท่านเป็นผู้ตอบว่าท่านเองอ่าน/ดู มังกรหยก, แปดเทพอสูรมังกรฟ้า, ดาบมังกรหยก (หรือมังกรหยกภาค 3),จอมยุทธ์อินทรีย์ กระบี่เย้ยยุทธจักร, อุ้ยเสี่ยวป้อ ฯลฯ กี่รอบ? เพราะอะไร?
นั้นเพราะการวางโครงเรื่อง, การสร้างบุคลิกตัวละคร, ความสามารถในการใช้ภาษา ฯลฯ
น.นพรัตน์กล่าวว่า คำว่า “วิญญูชนจอมปลอม” ที่เป็นศัพท์ที่ใช้กันอย่างแพร่หลายทุกวันนี้ แม้แต่ประเทศไทย นั้นมีที่มาจากตัวละครอย่าง “งักปุกคุ้ง” ผู้เป็นอาจารย์ของเหล็งฮู้ชงพระเอกในเรื่อง “กระบี่เย้ยยุทธจักร” ซึ่งไม่มีฉากประวัติศาสตร์ใดๆ มาหลอมรวมกับเรื่องที่แต่งขึ้น (เช่น มังกรหยก, แปดเทพอสูรมังกรฟ้า ฯลฯ) แต่เลือกที่จะเขียนถึงธาตุแท้จิตใจคนได้ดีที่สุด
ขณะที่อาจารย์ถาวร สิกขโกศล ชี้ให้เห็นความลุ่มลึกในข้อมูลและวิธีการนำเสนอของกิมย้งขอยกตัวอย่างจากเรื่องมังกรหยก
ภูมิหลังของนิยายเรื่องนี้สอดคล้องกับสถานการณ์จริงของโลกที่จริงกำลังเผชิญในปี 2500 อยู่ ไต๊กิมก๊ก และมองโกล เป็นสัญลักษณ์แทนมหาอำนาจตะวันตกอย่างอเมริกา หรือรัสเซียมิตรกลายเป็นศัตรู ที่ดำเนินนโยบายปิดล้อม และโจมตีจีนอย่างหนัก
ชื่อของตัวละครอย่าง “ก๊วยเจ๋ง”, “เอี้ยคัง” นั้นมาจากชื่อศักราช “เจ๋งคัง” คือปี พ.ศ. 2444 ที่จีนต้องอัปยศใหญ่หลวง เมื่อ 8 มหาอำนาจร่วมกันปราบกบฏนักมวย บุกเข้ายึดพระราราชปักกิ่ง
โดยกิมย้งวางบทบาทของตัวละครทั้งสองที่ต่างไปโตในต่างแดน แต่ก๊วยเจ๋งเป็นคนดีมีสำนึกรักในความเป็นจีน แต่เอี้ยคังเป็นตัวร้ายรักความเป็นแมนจูมากกว่าความเป็นจีน
สาระสำคัญของเรื่องมังกรหยกภาคหนึ่งนั้นต้องการสื่อสารไปยังลูกจีนโพ้นทะเลทั้งหลายให้สำนึกในความเป็นจีน เพราะแม้กิมย้งจะลี้ภัยมาอยู่ฮ่องกง แต่ก็ยังมีความผูกผันในแผ่นดินเกิด
ความรอบรู้และลีลาในการเขียนอของกิมย้งยังแสดงผ่าน คำพูดของตัวละครที่เขาสร้างขึ้น ที่เขาการนำกวีนิพนธ์โบราณจีนมาใช้ได้อย่างลงตัวกับตัวละครอย่างหลีม้อกโช้วรำพึงถึงชะตารักของตนเองว่า “โลกเอยข้าขอถาม ความรักคืออะไร? จึงมอบให้กันด้วยชีวิต”
คำพูดของเหง่ยคังนักเขียนบทภาพยนตร์และเพื่อนสนิทของกิมย้งที่กล่าวถึงงานของเขาว่าเป็น “เสื้อสวรรค์ไร้ตะเข็บ” จึงไม่มากไปจริงๆ
ผลงานของกิมย้งเพียง 15 เล่ม หากแต่ละเล่มก็สะเทือนฟ้าดิน ถ้าจะกล่าวถึงก็คงยืดยาว ส่งกันพันลี้ก็ต้องเอ่ยคำอำลา
สุดท้ายนี้เพื่ออำลา และคารวะให้กับผลงานขั้นเทพของ “กิมย้ง” ขอใช้ผลงงานของกิมย้ง จากเรื่องดาบมังกรหยก ที่ทูตซ้ายเอี้ยเซียวท่องคำสวดประจำนิกายเม้งก่าว่า
“อัคคีศักดิ์สิทธิ์โชติชัชวาล เผาผลาญครบสังขารเรา มีชีวิตไยหรรษา แม้นตายไยต้องโศกา มุ่งความดีขจัดชั่วร้าย สู่หนทางอันสดใส ยินดีปรีชดาหรือโศกเศร้าล้วนกลับคืนสู่เถ้าธุลีดิน นึกเวทนาชนชาวโลก วิตกทุกข์ร้อนเหลือคณา นึกเวทนาชนชาวโลก วิตกทุกข์ร้อนเหลือคณา”
ข้อมูลจาก :
ถาวร สิกขโกศล. สกัดจุดยุทธจักรมังกรหยก,สำนักพิมพ์สร้างสรรค์ 2554
ประสิทธิ์ ฉกาจธรรม. “มุมมองต่อนักเขียนนิยายกำลังภายใน ของ น.นพรัตน์”, 60 ปี น.นพรัตน์ ฯ, สำนักพิมพ์บุ๊คสไมล์, 2553
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 30 ตุลาคม 2561