นัยของ งักปุกคุ้ง เจ้าสำนักที่เป็นวิญญูชนจอมปลอม ตัวละครไร้กาลเวลาโดย “กิมย้ง”

ภาพประกอบเนื้อหา - ภาพเขียนสมัยราชวงศ์ซ้ง แสดงการสอนแบบวิพากษ์เชิงปัญญาของขงจื่อ

***บทความอาจเปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของนิยาย***

สำหรับคอ (นิยาย) กำลังภายใน ชื่อที่คุ้นเคยกันดีคือนักเขียนอย่าง “กิมย้ง” หรือชื่อจริงว่า จา เลี้ยงย้ง งานเขียนหลายชิ้นของกิมย้ง ถูกยอมรับว่าเป็นเรื่องที่ “ไร้กาลเวลา” หมายถึงมีนัยเชิงสะท้อนภาพสังคม และกึ่งวิพากษ์วิจารณ์สภาวะในขณะนั้นผ่านธาตุแท้ของจิตใจมนุษย์ บางเรื่องได้รับแรงบันดาลใจมาจากสถานการณ์การเมืองของจีน ขณะที่นิยายกำลังภายในที่เป็นการเมืองมากที่สุด แต่ไม่รู้สึกถึงการเมืองมากที่สุด (หมายถึงเนียน) คงต้องเป็น “กระบี่เย้ยยุทธจักร” พิมพ์ระหว่างค.ศ. 1967-69

นิยายที่ชาวไทยรู้จักในชื่อ “กระบี่เย้ยยุทธจักร” ชื่อภาษาอังกฤษว่า The Smiling, Proud Wanderer ว่าด้วยเรื่องราวในยุทธจักรที่แบ่งแยกฝ่ายธรรมะ และอธรรม เต็มไปด้วยการชิงอำนาจโดยไม่เลือกวิธี ฝ่ายธรรมะ ไม่แน่ว่าจะเป็นธรรมะ ขณะที่ฝ่ายอธรรมก็ไม่แน่ว่าจะเป็นอธรรมเสมอไป

กิมย้ง เขียนนิยายเรื่องนี้เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์หมิ่งเป่า (Ming Pao) ระหว่างเมษายน ค.ศ. 1967 ถึงตุลาคม 1969 ช่วงเวลานั้นอยู่ในบรรยากาศที่คนรุ่นหลังเรียกกันว่า “ปฏิวัติวัฒนธรรม” ซึ่งงานเขียนของจา หลายชิ้นก็สะท้อนการเมืองชัดเจน แต่สำหรับงานชิ้นนี้ “กิมย้ง” กล่าวถึงผลงานของตัวเองโดยนิยามว่า เป็นนิยายกำลังภายในที่แฝงคติสัญลักษณ์เชิงเปรียบเทียบในทางการเมือง และในแง่การเปรียบเทียบนั้น บริบทในนิยายสามารถนำมาใช้เปรียบเทียบได้กับทุกยุคสมัย และแทบจะทุกหน่วยในสังคม

อ่านเพิ่มเติม : การปฏิวัติวัฒนธรรม (ที่ถูกทำให้ลืม) ระบอบกวาดล้างคนเห็นต่างแบบจีนๆ

องค์ประกอบหลายประการในนิยายนี้เป็นดังที่กิมย้ง นิยามไม่มากก็น้อย ตัวละครและพล็อตเรื่องอยู่ในฉากหลังยุคโบราณ (ไม่ได้อิงยุคสมัยทางประวัติศาสตร์มากนัก แม้จะเอ่ยถึงมองโกลบ้างเล็กน้อย)

ฐานของเรื่องอยู่ใต้บริบทแบบบรรทัดฐาน “ธรรมจริยา” แบ่งคนออกเป็นสองฝ่าย ดี-เลว (ธรรม-อธรรม) ดังที่เกริ่นไว้ มีฝ่ายครองอำนาจ-กบฏ ฝ่ายดี-เลว และผู้ใฝ่สันโดษ

มีตัวละครอย่างวิญญูชนจอมปลอม มี “อธรรม” ที่มีคุณธรรม มีผู้ครองอำนาจมักใหญ่ใฝ่สูง มีผู้เคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงช่วงชิง มีเรื่องราวความรักของปุถุชน และความนึกคิดของผู้ใฝ่สันโดษ (ในแง่ผู้สันโดษ ขงจื้อไม่เห็นด้วยกับบุคลลที่อยู่ในหนังสือ “ลุ่นงื่อ” (ตรรกบท) แต่ก็ยกย่องเหล่าผู้สันโดษที่มีจุดเด่นเฉพาะตัว)

ประเด็นที่น่าสนใจอีกประการคือ เนื้อเรื่องและตัวละครจากฝ่ายต่างๆ ที่พยายามสื่อสารว่า คนที่ถูกจัดหรือจัดตัวเองใน “ก๊กธรรมะ” ไม่จำเป็นต้องเป็น “คนดี” เสมอไป เหมือนกับที่ “ก๊กอธรรม” ก็อาจไม่ได้มีคนในก๊กที่ “เลว” เสมอไป

คำอธิบายภูมิหลังของนิยายจากผู้เขียนที่มีพลังน่าจะเป็นส่วนที่เขียนว่า

“คนมีชีวิตในโลก ไม่อาจมีอิสระสมบูรณ์พร้อม คิดหวังปลดเปลื้องทุกสิ่งได้คิดปรุโปร่ง มิใช่วิสัยผู้คนธรรมดา ผู้คนที่กระตือรือร้นต่อการเมืองและมัวเมาอำนาจ ถูกความทะเยอทะยานผลักดันให้กระทำเรื่องราวผิดมโนธรรมประจำใจแท้ที่จริงเป็นบุคคลที่น่าเวทนา”

และจา ย้ำว่าผลงานนี้ไม่ได้วิจารณ์ปฏิวัติวัฒนธรรมโดยตรง

แต่ถ้ามี “สัญญาณ” มาให้ ผู้อ่านน่าจะเชื่อว่า สามารถมองนิยายชิ้นนี้ในแง่ตีแผ่ปรากฏการณ์การเมืองในจีน (และอีกหลายประเทศ) รอบกว่า 3 พันปีได้แบบเหนือกาลเวลา และยังใช้ได้ต่อไป ธาตุแท้ของใจคนยังมีอยู่ในวังวนนี้เสมอ

ตัวละครที่สะท้อนภาพการเปรียบเทียบธาตุแท้ในใจคนซึ่งยังเป็นที่จดจำในหมู่นักอ่านย่อมมีชื่อ “งักปุกคุ้ง”

ในเรื่องบรรยายว่า งักปุกคุ้ง เป็นเจ้าสำนักชื่อดังมีลักษณะและความประพฤติสุภาพเรียบร้อยเป็นที่น่านับถือ อบรมเหล่าลูกศิษย์ สั่งสอนเรื่องจริยธรรมตามครรลอง แต่เมื่อดำเนินเรื่องต่อไป ผู้อ่านจะได้เห็นธาตุแท้ของตัวละครที่อยู่ฝ่าย “ธรรมะ” แต่แท้จริงแล้วกลับมีพฤติกรรมไม่ต่างจากที่ฝ่ายตัวเองนิยามฟากตรงข้ามว่า “อธรรม” ราวกับเป็นการกล่าวโดยนัยเปรียบเทียบว่า “การแก่งแย่งชิง ‘อำนาจ’ โดยไม่คำนึงถึงทุกสิ่ง” ยังเป็นเหตุการณ์ที่ไร้กาลเวลาเสมอไม่ว่าจะเป็นฝ่ายใดก็ตาม (อำนาจย่อมปรากฏและรับรู้ได้ในหลายรูปแบบ)

ขณะที่ “ตงฟางปุ๊ป้าย” จอมยุทธไร้พ่ายในเรื่องนั้นถูกนักวิชาการทางวรรณกรรมจีนวิเคราะห์ว่าเป็นภาพตัวแทนของ “เหมา เจ๋อตง” พฤติกรรมของตงฟางปุ๊ป้าย ในเรื่องเปรียบเทียบได้กับผลจากการปฏิวัติวัฒนธรรม อาทิ สั่งให้เยาวชนด่าว่าความผิดพลาดทางการเมืองของพ่อแม่ตัวเองต่อหน้าสาธารณะ

อย่างไรก็ตาม นิยายเรื่องนี้ก็ไม่อาจกล่าวได้ว่าเป็นนิยายต่อต้านคอมมิวนิสต์เสียทีเดียว แก่นของเนื้อเรื่องไม่ได้วิจารณ์ทั้งฟากคอมมิวนิสต์ หรือลักษณะอเมริกันนิยม แต่โดยรวมเป็นการวิจารณ์วิธีคิดแบบยึดเอาตัวเองเป็นศูนย์กลางว่าเป็นสิ่งถูกต้อง (dogmatism) ซึ่งนำมาสู่ความเชื่อทางการเมืองเข้มงวดและไม่ยืดหยุ่น

ในนิยายกำลังภายใน เหล่าผู้แสวงหาอำนาจต่างแย่งชิงเทคโนโลยีอย่าง “คัมภีร์กระบี่” ซึ่งเป็นเครื่องมือไต่เต้าไปสู่ความยิ่งใหญ่ โดยทั่วไปแล้วนิยายกำลังภายในมักกล่าวถึงการแย่งชิงของวิเศษ หรือไม่ก็เป็นการล้างแค้น โดยที่โครงเรื่อง (ของผลงานในยุคเดียวกับกิมย้ง) ไม่ได้บ่งบอกนัยยะในบริบททางการเมือง ขณะที่กิมย้ง มักแฝงบริบททางวัฒนธรรม และการเมืองในช่วงเวลานั้นในบางผลงาน อาทิ ฉากการบรรเพลงบทเพลงของผู้อาวุโสทั้งจากฝ่ายธรรมะ-อธรรม

ตัวละครหยิบยกการบรรเลงของตัวเองมาเปรียบเทียบกับปราชญ์-นักเขียนคือ Xi Kang (223-262) ซึ่งเป็นหนึ่งใน 7 ปราชญ์แห่งป่าไผ่ (Seven Sages of the Bamboo Grove) กลุ่มบัณฑิต นักปราชญ์ นักเขียน และนักดนตรี รวมกลุ่มกันศึกษาด้านศิลปะ และวัฒนธรรมอย่างสันโดษในช่วงสมัยศตวรรษที่ 3 (ศักราชสากล) กลุ่มนี้ถือเป็นภาพตัวอย่างของวิถีชีวิตแบบสันโดษซึ่งได้รับอิทธิพลจากแนวคิดแบบขงจื้อ ในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม ลัทธิขงจื้อก็เป็นอีกหนึ่งแนวคิดที่เป็นเป้าหมายหลักในการกวาดล้าง โดยขงจื้อ ถูกมองว่าเป็นขั้วตรงข้ามกับเต๋ามาตลอด

ขณะที่ผู้ใฝ่สันโดษ หรือนักเดินทางท่องเที่ยวโดยไร้จุดหมาย ตามคำว่า Wanderer ตามชื่อเรื่องฉบับภาษาอังกฤษ ย่อมเป็นภาพสะท้อนของผลกระทบและความกระเสือกกระสนของผู้อยู่ในวังวนทางการเมืองเพื่อแสวงหาอำนาจ ความโหดร้ายและการกระทำที่ไร้ประโยชน์เพื่ออำนาจเป็นแนวคิดที่ปรากฏอยู่ในงานยุคแรกหลายชิ้นของกิมย้ง

 

หมายเหตุ : เรียบเรียงเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ “ถอดรหัส “กิมย้ง” ทำไมสร้างนิยายกำลังภายในที่เหนือกาลเวลา อิทธิพลการเมือง-คุณธรรม”


อ้างอิง :

สุรพงศ์ แก้วดีกิจ. “ถอดรหัส “กิมย้ง” ทำไมสร้างนิยายกำลังภายในที่เหนือกาลเวลา อิทธิพลการเมือง-คุณธรรม”. ศิลปวัฒนธรรม. ออนไลน์. เผยแพร่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2561. เข้าถึง 23 มกราคม 2563. <https://www.silpa-mag.com/history/article_21978>

Hamm, John Christopher. Paper Swordsmen: Jin Yong And The Modern Chinese Martial Arts Novel. University of Hawaii Press, 2005

Wang, David Der-wei. A New Literary History of Modern China. Harvard University Press, May 22, 2016


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 23 มกราคม 2563