เบื้องหลัง “ดร.ซุนยัตเซน” เข้าเฝ้า รัชกาลที่ 6 สนทนาตั้งแต่ค่ำยันเช้ามืดอีกวัน

ดร. ซุนยัตเซน ผู้นำ การปฏิวัติ ประชาธิปไตย จีน
ภาพถ่าย ดร. ซุนยัตเซน ผู้นำการปฏิวัติประชาธิปไตยของจีน คาดว่าถ่ายช่วงธันวาคม 1911 ในเซี่ยงไฮ้ ภาพจาก AFP

คุยอะไรกัน? “ดร.ซุนยัตเซน” ผู้นำการปฏิวัติจีน เข้าเฝ้า “รัชกาลที่ 6” ครั้งเป็นสมเด็จพระบรมฯ สนทนาตั้งแต่ค่ำยันเช้ามืดอีกวัน

ดร.ซุนยัตเซน ผู้นำการปฏิวัติ บิดาแห่งชาติ และประธานาธิบดีคนแรกของสาธารณรัฐจีน เกิดเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2409 (ค.ศ. 1866) การปฏิวัติของ ดร. ซุนยัตเซน เกิดขึ้นใน พ.ศ. 2453 ปีที่สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จสวรรคต

แต่ก่อนที่จะเกิดการปฏิวัติครั้งยิ่งใหญ่ในคราวนั้น ดร.ซุนยัดเซนได้มาเยี่ยมชาวจีนโพ้นทะเลในเอเชียอาคเนย์แทบทุกประเทศ และได้เล่าลือกันว่าด้วยทุนทรัพย์และการสนับสนุนของชาวจีนโพ้นทะเลเหล่านี้แท้ ๆ ที่ ดร.ซุนยัดเซนได้รับความสำเร็จในการปฏิวัติ กิติศัพท์ของดร.ซุน หัวหน้าปฏิวัติของจีนผู้นี้ได้แพร่มาถึงประเทศไทยแล้ว

ฉะนั้น เมื่อ ดร.ซุนยัตเซนมาถึงกรุงเทพฯ ก็ขอเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าหลวง พระเจ้าแผ่นดินไทยองค์นี้นั้นทรงทราบดีการปฏิวัติตามแบบฉบับของดร.ซุนยัตเซนแล้วประเทศจีนจะรุ่งเรืองขึ้นโดยทันที แต่จะทรงสนับสนุนโดยเปิดเผยก็มิใช่วิถีทางของกษัตริย์ อันมีทศพิธราชธรรม

จึงมอบหน้าที่การสัมภาษณ์นี้ให้แก่สมเด็จพระบรม เมื่อมีพระบัญชามาเช่นนี้ก็เป็นหน้าที่ของ นายวรการบัญชา อีกนั่นแหละที่จะต้องจัดให้ ดร.ซุนเข้าเฝ้าสมเด็จพระบรม ณ สถานที่ที่เหมาะสมและในเวลาที่สมควร เพื่อมิให้มีข่าวระบือไปทั่วโลกว่า ประเทศไทยสนับสนุนการปฏิวัติของซุนยัตเซนซึ่งในขณะนั้นยังเป็นราชาธิปไตยอยู่

นายวรการบัญชาเป็นบุตรของหมาต๋าเทียม และกำลังมีอิทธิพลในทางการเมือง ชายจีนที่เคารพนับถือในหลวงธุระการ ในที่สุดเพื่อความปลอดภัยด้วยประการทั้งปวง นายวรการบัญชาจึงตัดสินใจให้ ดร.ซุนเข้าเฝ้าสมเด็จพระบรม ณ บ้านของนายวรการบัญชาเอง ที่ถนนเยาวราช

(ซ้าย) พระยาคทาธรบดีสีหราชบาลเมือง หรือ “นายวรการบัญชา” ผู้นำ ดร.ซุนยัตเซนเข้าเฝ้ารัชกาลที่ 6 ภาพนี้ถ่ายเมื่อยังเป็นพระอัศวบดีอธิบดีกรมอัศวราช (พ.ศ. 2457)
(ขวา) นายเซียวฮุดเสง เจ้าของหนังสือพิมพ์จีนโนสยามวารศัพท์

เวลาเข้าเฝ้านั้นกะไว้ที่บ้านเยาวราช เวลา 19.00 น. ดร.ซุนมาตรงตามเวลา และสมเด็จพระบรมทรงเสด็จไปรเวทตรงตามกำหนดเช่นเดียวกัน นายวรการบัญชาได้จัดห้องรับแขกของตนที่ต่อบ้านเดิมของหลวงธุระการจำกัดเป็นพิเศษขึ้นก่อนแล้วนั้น เป็นห้องถวายตัวและเข้าเฝ้าของ ดร.ซุน ไม่มีคนอื่นร่วมเข้าเฝ้าด้วยเลย

นายวรการทำหน้าที่เป็นมหาดเล็กถวายคอกเทล ดร.ซุนซึ่งพูดภาษาอังกฤษได้ดีกว่าชนชาวอเมริกาประเทศที่เป็นแหล่งการศึกษาของดร.ซุนเป็นส่วนมาก และสมเด็จพระบรมก็ทรงถนัดที่จะรับสั่งเป็นภาษาอังกฤษอยู่ด้วย และเมื่อนายวรการบัญชาถวายงานอยู่อย่างใกล้ชิดและมิได้มีผู้อื่นมานั่งฟังอยู่ด้วยเลย การสนทนาจึงยืดยาวตั้งแต่ 19.00 น. จนถึง 4.00 น. ของวันรุ่งขึ้น

การสนทนาได้ดำเนินไปในรูปเรื่องใดนั้นไม่มีใครในโลกปัจจุบันจะทราบหรือรู้ได้เลย เพราะพระองค์สมเด็จพระบรมและผู้เข้าเฝ้านั้น ตลอดจนผู้ถวายอยู่งานก็ได้สละโลกนี้ไปแล้ว อย่างไรก็ดีเจ้าคุณคทาธรได้เล่าว่า เมื่อเสด็จกลับได้ทรงรับสั่งว่า “เขาทำของเขาสำเร็จแน่นอน” และยังรับสั่งให้นายวรการให้ความสะดวกแก่ ดร.ซุนในการพบปะกับชนชาวจีนในประเทศไทยให้ถูกต้องตามกฎหมายของประเทศอีกด้วย

หัวหน้าของชาวจีนในกรุงเทพฯ ในขณะนั้น คือท่านเซียวฮุดเสง (ต้นตระกูลสีบุญเรือง) นายวรการจึงถาม ดร.ซุนว่า จะต้องการพบใคร และแนะนำว่าไม่ควรพบปะเกิน 5 คนต่อครั้ง นายวรการรับอาสาที่จะจัดให้มีการพบปะกันให้ถูกต้องตามทำนองคลองธรรมและตามกฎหมายของประเทศไทย คือห้ามมิให้ประชุมกันเพื่อ “กบฏ”

หนังสือพิมพ์จีนโนสยามวารสาร ซึ่งนางสาวลม่อม สีบุญเรือง บุตรสาวคนโตของเซียวฮุดเสง เป็นบรรณาธิการอยู่นั้นเป็นผู้จัดการรายงานข่าวการมาของดร.ซุน นามปากกา “จูปีเตอร์” ของคุณลม่อมนี้ นักอ่านหนังสือสมัยรัชกาลที่ 6 และที่ 7 คงจะจำกันได้เป็นแน่

การพบปะกับชาวจีนโพ้นทะเลของ ดร. ซุน ในกรุงเทพฯ นั้นได้ดำเนินไปอย่างเรียบร้อยปราศจากเหตุการณ์ใด ๆ เลย ดร.ซุน ยังได้รับพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระบรม ให้นายวรการบัญชาติดต่อกัปตันบูเลียต ซึ่งมีราชทินนามว่า “พระอนุกูลสยามกิจ” กงสุลกิตติมศักดิ์ไทยใน เอ็ฟ. เอ็ม. เอส. หรือบริษัทมาเลประเทศราชอีกด้วย ที่ทำการของพระอนุกูลสยามกิจนั้นตั้งอยู่ที่ปีนังและสิงคโปร์ ดร.ซุนสามารถที่จะเจรจากับชาวจีนโพ้นทะเลใประเทศมลายูและสิงคโปร์อย่างได้ผลสมความมุ่งหมายทุกประการ

เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญที่สุดเรื่องหนึ่งของท่านเจ้าคุณคทาธร เพราะคำว่าประชาธิปไตยนั้นได้เข้ามาแพร่ในประเทศไทยหลังจากเรื่องข้างต้นนี้กว่า 20 ปี ภายหลัง และหลังจาก พ.ศ. 2475 เป็นต้นไป ได้มีการกล่าวขวัญถึงพระมหาธีรราชเจ้า ว่าทรงเป็นผู้ที่นิยมประชาธิปไตย โดยสร้างดุสิตธานีขึ้นมานั้น ย่อมทำให้ท่านเจ้าคุณคทาธรยิ้มไม่ได้ เพราะก่อนที่จะได้มีประชาธิปไตยหรือรัฐธรรมนูญเมื่อ พ.ศ. 2475 นั้น พระมหาธีรราชเจ้าได้ทรงสดับตรับฟังหลักแห่งประชาธิปไตยนี้มาจากปากบิดาแห่งประชาธิปไตยของชาวตะวันออกมาแล้ว และได้เห็นด้วยตามหลักนี้เป็นอย่างยิ่ง ถึงได้รับสั่งอย่างเด็ดขาดว่า “เขาทำสำเร็จแน่นอน”

ใครบ้างเล่าจะได้ทราบถึงการเข้าเฝ้าของ ดร.ซุนในครั้งนั้น เพราะบารมีของพระมหาธีรราชเจ้ารัชกาลที่ 6 ยังทรงคุ้มครองพวกประชาชนของพระองค์ที่เจ้าคุณคทาธรจำเรื่องนี้ได้เป็นอย่างดี และยังได้เล่าอีกว่า หลังจาก พ.ศ. 2453 เมื่อ ดร.ซุนได้ปฏิวัติสำเร็จเป็นสาธารณรัฐแล้ว จะเป็นปีใดท่านผู้เล่ามิได้บอกไว้ ท่านยังได้รับเชิญให้ไปดูผลงานของ ดร.ซุนและมาดาม ในการไปดูงานในครั้งนั้นของนายวรการบัญชา เป็นผู้แทนส่วนพระองค์ของสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้าอีกด้วย

ท่านผู้วายชนม์ได้เล่าว่าการเดินทางจากฮ่องกงไปปักกิ่งนั้นได้เดินทางตามริมฝั่งทะเลแทบตลอดทาง

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

หนังสือที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพ พลตำรวจตรี พระยาคทาธรบดีสีหราชบาลเมือง (เทียบ อัศวรักษ์) ณ เมรุหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส วันอาทิตย์ที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2512


ปรับปรุงในระบบออนไลน์ครั้งล่าสุดเมื่อ 12 พฤศจิกายน 2565