ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
ใน “ประวัติต้นรัชกาลที่ 6” พระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 (ทรงใช้นามแฝงว่า “ราม วชิราวุธ”) ทรงพระราชนิพนธ์ถึงเหตุการณ์บ้านเมืองในด้านต่างๆ โดยมีความตอนหนึ่งที่ รัชกาลที่ 6 รับสั่งถึง “บัตรสนเท่ห์” ที่ตำหนิและข่มขู่พระองค์ไว้ดังนี้
“ฉันได้รับ บัตรสนเท่ห์
เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2453, กรมประจิณ [พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงปราจิณกิติบดี] ส่งจดหมายฉบับ 1 เข้าไปให้ฉัน, เปนบัตรสนเท่ห์ซึ่งทิ้งมาโดยไปรษณีย์ มีข้อความพูดกับฉันเปนเชิงบอกกล่าว, ใจความในบัตรสนเท่ห์นั้นมีว่าผู้เขียนจดหมายเปนสมาชิกแห่งสมาคมอัน 1 ซึ่งถือความยุติธรรมเปนเจ้าเปนใหญ่, และถ้าผู้เปนเจ้าเปนใหญ่พระองค์ใดที่ไม่ตั้งอยู่ในยุติธรรมแล้ว พระนามก็ต้องมาเข้าในที่ประชุมเปนทางวินิจฉัย.
ชื่อของฉันได้เคยเข้าที่ประชุมครั้ง 1 แล้ว, คือเมื่อครั้งนายทหารถูกเฆี่ยน เพราะวิวาทกับมหาดเล็กของฉัน, ในครั้งนั้นก็เห็นกันแล้วว่าฉันเป็นผู้ไม่มียุติธรรมและปราศจากความเมตตาต่อนายทหาร, แต่เห็นว่ายังมิได้เป็นพระเจ้าแผ่นดินประการ 1, และนายทหารนั้นๆ เองก็มีความผิดประพฤติไม่ดีจริงด้วยประการ 1, สมาคมจึงนิ่งไว้.
ครั้นต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จสวรรคตแล้ว, ฉันได้ขึ้นครองราชสมบัติสนองพระองค์แล้ว, ก็ได้แสดงให้ปรากฏว่าปราศจากความยุติธรรมและความเมตตาต่อประชาชนผู้ตกทุกข์ได้ยาก. พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการก็ได้ทรงตั้งแต่เลื่อนยศบรรดาศักดิ์และให้เครื่องประดับเกียรติยศต่างๆ มากแล้ว, แต่ไม่ได้คิดถึงไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินบ้างเลย.
……………
เมื่อราชาภิเษกได้ออกประกาศหลอกลวงว่าจะปล่อยนักโทษที่มีโทษอย่างนั้นๆ ก็หาเป็นไปจริงตามประกาศนั้นไม่. พวกสมาชิกสมาคมผู้รักยุติธรรมได้เตรียมการไว้พร้อมแล้วที่จะลงโทษฉัน, มีทั้งปืนเบรานิง และลูกระเบิด ทั้งมีคนตั้ง 10 คนที่เต็มใจยอมเสียชีวิตเพื่อประโยชน์แห่งเพื่อนมนุษ, เพราะฉนั้นขอให้ฉันปล่อยบรรดานักโทษที่ได้กระทำความผิดติดคุกมาแต่รัชกาลที่ 5 นั้นทั้งหมด, อย่าให้เหลือเลยแม้แต่คนเดียว. ถ้าเมื่อถึงเวลาถวายพระเพลิงพระบรมศพแล้ว ยังมิได้ปล่อยนักโทษทั้งหมดตามคำที่ขอนี้ก็ให้พึงระวังตัวเถิด, ถึงแม้จะไม่ไปแห่งใดเลยก็ไม่พ้นมือพวกเขา, เพราะจะมีคนแต่งเครื่องแบบทหารเข้าไปให้ถึงจงได้วัน 1
เมื่อรับบัตรสนเท่ห์นี้แล้ว ก็เดากันยุ่ง เพราะต้องเข้าใจว่าในเวลานั้นยังมิได้รู้ระแคะระคายเลยถึงเรื่องพวกทหารคิดก่อกำเริบ. ข้อความสำคัญในหนังสือนั้นก็มีอยู่เป็น 2 ข้อ คือ (1) เรื่องนายทหารถูกเฆี่ยน เพราะวิวาทกับมหาดเล็กของฉัน, (2) เรื่องไม่ปล่อยนักโทษตามแบบ
เรื่องที่ 1 นั้นเป็นเหตุการณ์อันได้เกิดขึ้นในมิถุนายน 2452, ในเวลานั้นพวกกรมรถม้าของฉันอยู่ที่วังจันทร์, และกรมทหารราบที่ 2 อยู่ที่โรงเชิงสพานมัฆวานรังสรรค์, ฉะนั้นจึ่งเปนอันมีชายหนุ่มๆ สองพวกอยู่ในที่ใกล้เคียงกัน, ก็เปนธรรมดาอยู่เองที่จะต้องเกิดเหตุระหองระแหงกันบ้าง, เนื่องด้วยการแย่งผู้หญิงกันเปนต้น. การทุ่งเถียงและพูดแดกดันกันนั้นคงจะได้มีแก่กันอยู่นาน, ในที่สุดคืนหนึ่งจึงได้ถึงแก่ตีกันขึ้น, และหม่อมราชวงศ์เหรียญ, พนักงานรถม้าของฉันคน 1 ได้ถูกนายทหารราบที่ 2 ตีหัวแตก.
เมื่อเกิดชำระกันขึ้นได้ความว่าตัวการมี นายร้อยเอกสม, นายร้อยตรีจัน, กับนายดาบบาง, ได้พาพลทหารออกจากโรงไปตีเขา. กรมนครชัยศรีเอาตัวพวกทหารขึ้นศาลทหารชำระได้ความจริงว่าได้ออกจากโรงทหารผิดเวลาและยกพวกไปตีเขาเช่นนั้น เห็นว่าเป็นโทษหนัก, จำเปนต้องลงอาญาให้เปนเยี่ยงอย่าง, กรมนครชัยศรีจึงได้กราบบังคมทูลพระเจ้าหลวงขอให้ลงพระราชอาญา เฆี่ยนหลังคนละ 30 ทีและถอดจากยศ.
การลงอาญาครั้งนั้นไม่ใช่โดยความขอร้องของฉันเลย, ตรงกันข้ามฉันเปนผู้ท้วงว่าแรงเกินไป, แต่กรมนครชัยศรีว่าจะต้องลงโทษให้เปนเยี่ยงอย่าง หาไม่จะกำราบปราบปรามทหารที่เกะกะไม่ได้, และนายทหารจะถือตนเปนคนมีพวกมาก เที่ยวรังแกข่มเหงเขาร่ำไปให้เสียชื่อทหาร.
เรื่องที่ 2, คือการงดประเพณีปล่อยนักโทษนั้น, ได้ตกลงกันในที่ประชุมเสนาบดีเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2453, ดังฉันได้เล่ามาแล้วโดยพิสดารในสมุดเล่มนี้น่า 139 และ 140. เมื่อพูดกันขึ้นครั้งนั้นใครๆ ก็ว่ากันว่าเปนการดี, ไม่อาจมีผลร้ายได้, ต่อมาได้รับบัตรสนเท่ห์ฉบับนี้ จึ่งได้รู้สึกกันขึ้นว่ามีคนเข้าใจผิดและติโทษฉันอยู่ไม่น้อย, จนถึงยกขึ้นเป็นข้อติเตียน…
ส่วนสำนวนโวหารที่ใช้มาในหนังสือนั้นเปนอย่างโซ๊ดๆ ห่ามๆ. ที่เรียกกันภายหลังว่า “สำนวนรักชาติ” สำนวนชนิดนี้ได้เกิดมีขึ้นในหนังสือพิมพ์ “จีนโนสยามวารศัพท์” ของนายเซียวฮุดเส็ง สีบุญเรือง, ซึ่งแสดงตนเปนพรรคพวกของหมอซุนยัดเซน, หัวน่าพวกเก๊กเหม็งในประเทศจีน, และตั้งแต่พวกเก๊กเหม็งได้ทำการสำเร็จในขั้นต้น, คือเอาพระเจ้าแผ่นดินจีนออกจากตำแหน่งได้แล้ว, พวกเก๊กเหม็งในกรุงเทพ ออกจะฟุ้งสร้านมาก, พูดถึงไปถึงเรื่อง “รักชาติ”, “ราษฎรเปนใหญ่” ฯลฯ ซึ่งเกิดเปนขี้ปากของพวกคนไทยเชื้อจีนขึ้นก่อน แล้วคนไทยหนุ่มๆ ที่ชอบคบเจ๊กพลอยเก็บขี้ปากของมันมาพูดกันบ้าง ทั้งนี้ได้เกิดมีขึ้นในปลายรัชกาลที่ 5, และเฟื่องกันมากขึ้นในต้นรัชกาลของฉัน.
แต่ก็ชอบกล, ในเวลานั้นทั้งตัวฉันและใครๆ ที่ได้พูดจาหาฤากันไม่ได้นึกเลยว่าเป็นหนังสือของพวกที่กำลังเริ่มคิดการกำเริบ, โดยมากสำคัญกันเสียว่าเปนหนังสือของคนสัประดนอะไรคน 1 หรือพวก 1 ซึ่งชอบทำให้คนตื่นตกใจ, เพื่อจะได้หัวเราะเยาะเล่น.
ส่วนตัวฉันเองได้เคยรับบัตรสนเท่ห์ก่อนนั้นมากกว่ามาก, เปนถ้อยคำเสียดสีบ้าง, ด่าตรงๆ บ้าง, บอกข่าวบ้าๆ บ้าง, ฟ้องเหลวๆ ไหลๆ บ้าง, จนออกจะชินเสียแล้ว, และตามความสันนิษฐานของฉันในเวลานั้นว่าอาจจะเปนกรมหลวงประจักษ์ศิลปากคม [พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม] เขียนมา, เพราะท่านพระองค์นั้นมีชื่อเสียงอยู่ว่าชอบเล่นสัประดนต่างๆ เปนอเนกประการ, และเปนผู้ที่ไม่ชอบฉันมาแต่ไหนแต่ไรด้วย.
ฉันจึ่งตกลงมอบหนังสือนั้นให้เจ้าน่าที่ฝ่ายนครบาลไปสืบดู, แต่ก็ไม่ได้เร่งรัดตักเตือนอะไรเขาเท่าใดนัก, เพราะรู้อยู่ว่าการสืบหาตัวผู้ทิ้งบัตรสนเท่ห์ไม่ใช่ของง่าย, และส่วนการแสดงความอาฆาตมาดร้ายนั้น ฉันก็ได้เคยรับก่อนนั้นหลายครั้งแล้ว, ไม่เคยเห็นว่าผู้ใดทำจริงจามที่บอกกล่าวนั้นเลย ต่อมาเมื่อได้เกิดตับพวกคิดการกำเริบแล้ว จึ่งได้ทราบว่าบัตรสนเท่ห์นั้นเป็นของอ้ายพวกก่อกำเริบทิ้งมา.”
หมายเหตุ : จัดย่อหน้าใหม่และสั่งเน้นคำโดยกองบรรณาธิการ
อ่านเพิ่มเติม :
- กลร้องเรียนทางการเมืองยุคโบราณ สงครามบัตรสนเท่ห์ปริศนา สู่คดีกบฏเจ้าฟ้าเหม็น
- ย้อนแย้ง! คดีกบฏเจ้าฟ้าเหม็น ขุนนางที่เคยล้มพระเจ้าตาก กลับหนุนเจ้าฟ้าเหม็นชิงบังลังก์
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 18 สิงหาคม 2564