ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม ฉบับกันยายน 2546 |
---|---|
ผู้เขียน | เอนก นาวิกมูล |
เผยแพร่ |
พ.ศ. 2417 รัชกาลที่ 5 ทรง “โปรยทาน” ด้วยสิ่งน่าสนใจที่ไม่ใช่เงิน แต่เป็น “ลอตเตอรี่” !
การโปรยทานในปัจจุบันไม่วิลิศมาหราเหมือนก่อน เพราะไม่มีใครสนใจสร้าง “ต้นกัลปพฤกษ์” แบบโบราณอีกต่อไป คงเหลือแต่การหว่านเงินแบบง่าย ๆ ดังพอมีตามงานบวช งานศพ ให้เด็กแย่งกันประเดี๋ยวเดียว การยัดเงินใส่ต้นมะกรูด มะนาว กากะทิง และลูกหมากแบบโบราณ เป็นอันไม่มีให้ดู
คนโบราณเชื่อว่า ต้นกัลปพฤกษ์ เป็นต้นไม้บนสวรรค์ ใครต้องการแก้วแหวนเงินทอง เสื้อผ้าแพรพรรณ ตลอดจนข้าวน้ำทั้งหลายก็ไปสอยเอาจากต้นไม้นี้ได้หมด
แต่สวรรค์ก็อยู่ส่วนสวรรค์ ทำอย่างไรให้สิ่งนี้เกิดขึ้นในโลกมนุษย์เมืองสยามได้ก็ต้องสมมุติกันขึ้นมา
เวลามีงานหลวง พระเจ้าแผ่นดินก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพนักงานปักเสาสูง ๆ ลงไป จากนั้นก็ทำคอกเล็ก ๆ เหมือนรังกาสำหรับคนขึ้นไปยืนข้างบน ที่ปลายเสาทำพุ่มติดผลมะนาวยัดเงิน สมมุติว่าเป็นผลกัลปพฤกษ์ เพราะเงินคือแก้วสารพัดนึก อยากจะเอาไปซื้ออะไรก็เชิญ
พอได้เวลาเจ้าพนักงานก็ปีนบันไดขึ้นไปปลิดผลมะนาวหว่านลงมา ผู้คนข้างล่างก็แย่งกันเกรียวกราว ประเพณีแบบนี้ทำกันมานานอย่างน้อยก็ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา หรือเมื่อ 300-400 ปีก่อน
ถามว่า รัชกาลที่ 5 พระมหากษัตริย์ที่เราบูชาทรงเคย โปรยทาน ด้วยพระหัตถ์ของพระองค์เองบ้างหรือไม่
ตอบว่าเคย และบางครั้งสิ่งที่ทรงโปรยก็น่าสนใจมาก
ดังข้อความในหนังสือ ดรุโณวาท ฉบับที่ 17 หน้า 177 ออกเมื่อ พ.ศ. 2417 หรือเมื่อ ร.5 ทรงมีพระชนมายุ 21 พรรษา
หนังสือบอกว่า วันพุธ เดือน 11 ขึ้น 11 ค่ำ อันเป็นวันสิ้นสุดพระราชพิธีคเชนทรัสวสนาน หรือการออกสนามใหญ่ มีแห่ช้างม้าอาวุธไพร่พลใหญ่โต เวลาบ่าย 4 โมงเศษ ร.5 เสด็จ ออกที่พระที่นั่งสุทไธสวรรค์ (ตรงข้ามสวนสราญรมย์)
“ทรงบริจากพระราชทรัพย์ทรงซื้อตั๋ว ‘ลอตเตอรี’, มาทรงทิ้งทานเปนเงินตราห้าชั่ง เปนตั๋วร้อยใบ, ทรงโปรยพระราชทานแก่ราษฎร, เพื่อจะมิให้คนจนต้องลงเงินของตนซื้อตั๋วนั้นเลย, เพราะมีพระราชประสงค์จะให้เปนประโยชน์, แก่ผู้ซึ่งมิได้ไปลงเงินในการลอตเตอรี, เผื่อจะเปนลาภแก่คนเหล่านั้นบ้าง, ครั้นเวลาบ่ายสี่โมงเสศ พระบาทสมเดจพระเจ้าอยู่หัวจึ่งเสดจออก ‘โปรยทาน’, ครั้นทรงโปรยทานแล้ว, จึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สั่งให้เรียกช้างน้ำมันมาที่ท้องสนามไชย.
ครั้นช้างมาถึงแล้ว, คนผัดก็ถือพัช สวมมงคลแดง นุ่งกางเกงริ้ว, เดิรเข้าไปใกล้หน้าช้างประมาณสองวา สามวา สี่วา, ก็เอาพัชตบกับมือผัดภาน แล้วร้องว่า ผัดพ่อ, ผัด, ผัด, ผัด, ผัด. แล้ววิ่งหนีไป. ช้างวิ่งไล่ตามไป…”
จากข่าวทรง “โปรยทาน” ด้วย “ลอตเตอรี่” นี้ เมื่ออ่านดรุโณวาทต่อไปในหน้า 307-309 ก็จะพบว่าเมื่องานเฉลิมพระชนมพรรษา เดือน 10 หรือเดือนกันยายนปีเดียวกันนั้น เพิ่งมีการขายลอตเตอรี่กันเป็นครั้งแรกในประเทศไทย
น่าเสียดายที่ขณะนี้เรายังหา “ลอตเตอรี่” รุ่น 2417 ไม่ได้ ถ้าใครเก็บไว้ก็ขอให้ทราบเถิดว่านั่นเป็นล็อตเตอรี่ที่มีค่าที่สุดของประเทศไทย
อ่านเพิ่มเติม :
- “ลอตเตอรี่เสือป่าล้านบาท” จ่ายเงินรางวัลให้ “บุคคลไร้ตัวตน” คดีทุจริตหวยสุดอื้อฉาวสมัย ร.6
- เมื่อรัชกาลที่ 4 ทรงออกประกาศ ห้ามพระสงฆ์ไม่ให้ใบ้-แทง “หวย” แลประพฤติอนาจาร
- “ยี่กอฮง” เจ้ามือหวยในตำนาน รับมือเลขเด็ดอย่างไร และดูเคล็ดวิธีออกหวยในอดีต
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
หมายเหตุ : คัดส่วนหนึ่งจากบทความ “ร.5 ทรงโปรยทาน” เขียนโดย เอนก นาวิกมูล ในนิตยสาร ศิลปวัฒนธรรม กันยายน 2546
ปรับเนื้อหาและเผยแพร่ในระบบออนไลน์เมื่อ 27 พฤษภาคม 2567