ภาพที่สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงชม

แย่งผลกัลปพฤกษ์ วัดพระแก้ววังหน้า นายมั่นวาดสมัย ร.4 (เอนกถ่าย 00597-187-พุธ26กย2550.)

ภาพที่ สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงชม

คนไทย+นักท่องเที่ยวฝรั่ง-จีน ฯลฯ เข้าวัดพระแก้ววังหลวงกันปีหนึ่งไม่รู้กี่ล้านคน

แต่ผมว่าน้อยคนจะได้เข้าไปวัดพระแก้ววังหน้า เชิงสะพานพระปิ่นเกล้า ทั้งๆ ที่อยู่ไม่ไกลกัน เดินสัก 500 เมตรก็ถึงแล้ว

นักเรียนช่างศิลป์ นักเรียนนาฏศิลป์เขาเรียนศิลปะตรงนั้น อาจจะมีโอกาสมากกว่าคนอื่น

แต่ผมก็ไม่แน่ใจอยู่ดี ว่าจบออกมาแล้วจะมีใครเขียนถึงวัดพระแก้ววังหน้าบ้าง โดยเฉพาะเรื่องจิตรกรรมฝาผนังที่มีเรื่องราวน่าสนใจมากมาย

ที่พูดนี่ไม่ใช่ว่าผมรู้เรื่องดี พูดก็เพราะไม่รู้เรื่อง+หาหนังสืออ้างอิงไม่ได้

มีแต่ประชุมพงศาวดารภาคที่ 13 ตำนานวังหน้า พระนิพนธ์สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2461 ซึ่งกล่าวถึงเรื่องวัดพระแก้ววังหน้าแต่เพียงสั้นๆ

น้องชาย ร.1 ทรงสร้างวังหน้า พร้อมๆ วังหลวง… เริ่ม 2325 เสร็จ 2328 แต่ตอนนั้นยังไม่มีโบสถ์วัดพระแก้ววังหน้า

โบสถ์วัดพระแก้ววังหน้าเพิ่งมาสร้างเอาเมื่อสมัย ร.3 (ครองราชย์ พ.ศ. 2367-2394)

โบสถ์วัดบวรสถานสุทธาวาส หรือวัดพระแก้ววังหน้า (ภาพถ่ายเก่าจาก สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร)

วังหน้าสมัย ร.3 คือกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพ น้องชายองค์หนึ่งของ ร.2 ซึ่งเท่ากับเป็นอาของ ร.3 เป็นผู้สร้าง

เรียกอย่างเป็นทางการว่า วัดบวรสถานสุทธาวาส

นัยว่าสร้างแก้บนครั้งเสด็จยกกองทัพไปปราบขบถเจ้าอนุวงศ์ เวียงจันทน์

ทรงประชวรโรคมานน้ำ หรือโรคท้องมานอยู่ 8 ปี ก็สวรรคต พ.ศ. 2375

พ.ศ. 2394 สิ้นรัชกาลที่ 3 พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เข้าไปอยู่วังหน้า ซึ่งกำลังรกร้างมาก ทรงออกพระโอษฐ์ว่า

เออ อยู่ดีดีก็ให้มาเป็นสมภารวัดร้าง

เล่ามาถึงตอนนี้ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ ก็ทรงให้ข้อมูลว่า ในสมัย ร.4 โปรดให้เชิญพระพุทธสิหิงค์ไปเป็นพระประธานในโบสถ์วัดพระแก้ววังหน้า (เดี๋ยวนี้ตั้งที่พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ ขึ้นไปก็ได้ดู)

โปรดให้ก่อฐานชุกชีที่จะตั้งบุษบกกลางพระอุโบสถ และเขียนเรื่องตำนานพระพุทธสิหิงค์ที่ฝาผนัง

ตรงนี้สำคัญมาก เพราะเป็นเบาะแสให้รู้ว่า อ้อ… บนผนังเขียนเรื่องตำนานพระพุทธสิหิงค์และเขียนกันเมื่อสมัย ร.4 นี่เอง…

อ้างพระนิพนธ์แค่นี้ก่อน จะไม่ลงรายละเอียดอื่นต่อ เกรงจะยาว… ขอกลับมาเพ่งที่เรื่องจิตรกรรมอย่างเดียว

ที่ว่าเพ่งก็เพราะบังเอิญไปหยิบสาส์นสมเด็จ เล่ม 11 ฉบับคุรุสภามาพลิกเล่น

พบในหน้า 168 สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงกล่าวในจดหมายฉบับ 22 พ.ค. 2480 ว่าทรงติดใจรูปในวัดบวรสถานรูปหนึ่ง

ทรงเห็นว่าดีล้ำเลิศกว่าที่เคยเห็นมา คือช่างเขียน เขียนรูปพนักงานกำลังทิ้งผลกัลปพฤกษ์ มีคนเป็นร้อยกำลังโก้งโค้งแย่งลูกกัลปพฤกษ์เป็นกลุ่มๆ

ช่างไม่ได้เขียนให้เห็นลูกมะนาว แต่เราดูแล้วรู้ได้ว่าลูกมะนาวตกลงที่ตรงไหน

เพราะตรงนั้นจะมีคนรุมกันเป็นวงๆ

ดูเหมือนจริงอย่างที่สุด ไม่เคยเห็นฝีมือช่างผู้นี้ที่ไหนมาก่อนเลย กรมหมื่นวรวัฒน์บอกว่าชื่อนายมั่นเป็นคนของเจ้าฟ้า (….)

แย่งผลกัลปพฤกษ์ วัดพระแก้ววังหน้า นายมั่นวาดสมัย ร.4 (เอนกถ่าย 00597-187-พุธ26กย2550.)

ตรงนี้สำคัญมาก เพราะนอกจากจะได้รู้ว่าในวัดพระแก้ววังหน้าเขียนเรื่องพระพุทธสิหิงค์ (มีรูปคนไว้ผมอย่างชาวเหนือกันมาก) ยังได้รู้ชื่อช่างเขียนซึ่งปกติมักไม่มีใครเอ่ยถึงด้วย ว่าชื่อ นายมั่น

แต่นายมั่นมีลูกหลานสืบสกุล ใช้นามสกุลอะไรหรือไม่ แหะแหะ… ไม่รู้อีกเช่นเคย…

ชาวเหนือใช่ไหม? วัดพระแก้ววังหน้า นายมั่นวาดสมัย ร.4 (เอนกถ่าย 00597-140-พุธ26กย2550.)

ต่อไปเป็นของแถม

สมเด็จฯ ทรงกล่าวต่อว่า ปกติช่างวาดมักขี้เกียจ ทำเพียงสุกเอาเผากินเป็นพื้น เขียนแต่ตัวที่เป็นเนื้อเรื่องหรือตัวสำคัญเป็นหลัก

ถ้าตัวละครสำคัญมีน้อยก็ทำพื้นว่างๆ ไว้ ไม่เขียนอย่างอื่นให้เต็ม

หากเสียไม่ได้ มีที่ว่างก็เขียนคนใส่ลงไปสักสองสองสามคนพอให้มีอะไรบ้าง

ทรงอ้างถึงกรมหมื่นวรวัฒน์สุภาภรณ์. เจ้านายวังหน้าอีกว่า ท่านเคยขอดค่อนเรื่องนี้ ว่าเขียนคนบ้าคนใบ้ไว้ทั้งนั้น ไม่พูดกัน ไม่ดูกัน ไม่ทำอะไรกัน ได้แต่นั่งและยืนเหม่อๆ กันตามบุญตามกรรม

ข้อนี้สมเด็จฯ ทรงเห็นด้วย แต่ของนายมั่นหาเป็นเช่นนั้นไม่ จึงได้เห็นว่าดีนัก

ย้อนไปเมื่อสิบปีก่อน… คือวันพุธที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2550

ผมมีโอกาสได้ติดตามผู้ใหญ่ที่น่าเคารพคือคุณชายศุภวัฒย์ เกษมศรี กับ อ.จุลทัศน์ พยาฆรานนท์ ไปเที่ยวพิพิธภัณฑ์ แล้วต่อไปยังวัดพระแก้ววังหน้า

โบสถ์วัดพระแก้ววังหน้า (เอนกถ่าย)

เป็นการได้เข้าโบสถ์วัดพระแก้ววังหน้าเป็นครั้งแรกในชีวิต

เพราะเคยหาทางเข้าชมก็เป็นเวลาปิดซ่อมเสียบ้าง ไม่รู้จะไปหาใครช่วยเปิดบ้าง กลัวครูบาอาจารย์เจ้าของที่เขาดุ ก็เลยอดดูเรื่อยมา

เคยเห็น อ.จาตุรนค์ มนตรีศาสตร์ ถ่ายรูปกะอั้วแทงควาย บนช่องไหนไม่รู้มาลงหนังสือร้องรำของท่าน ผมติดใจก็จดจำเอาไว้แต่ครั้งกระโน้น พอไปถึงก็รีบยกกล้องถ่ายสุ่มไปเรื่อยโดยไม่มีเวลาดูหรอกว่าภาพอะไรอยู่ตรงไหน

ถ่าย ถ่าย ถ่ายและรีบถ่ายด้วยกล้องที่ไม่ได้มีคุณภาพมากนัก เวลามีน้อย… ไม่ได้นั่งพักเหมือนท่านอื่นๆ

หลังจากนั้นก็ไม่ได้เอามาใช้งานเลย เพราะเดินต่อไปไม่ถูก ไม่รู้จะหาหนังสือเล่มไหนมาอ้างอิง

การที่บังเอิญหยิบสาส์นสมเด็จมาอ่าน จึงนับเป็นความโชคดี

เมื่อคืนนี้เปิดคอม หารูปแย่งกัลปพฤกษ์ พบว่าถ่ายมาพอสมควร และได้แถมถ่ายกระอั้วแทงควายมา 1 รูปไกลๆ ด้วยเพิ่งเห็นจริงๆ ก็วันนี้แหละ

วัดพระแก้ววังหน้าเปิดให้คนดูตอนไหนอีกบ้างหรือไม่ ผมไม่รู้ ถ้าได้ไปดูอีกก็คงเป็นบุญ

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 10 มีนาคม 2562