ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม ฉบับตุลาคม 2551 |
---|---|
ผู้เขียน | ณัฏฐชัย วิรูฬห์วชิระ |
เผยแพร่ |
“เน็คไท” ผ่านร้อนผ่านหนาวมีวิวัฒนาการมากับการสู้รบของทหารกล้านานนับร้อยปี โดยเท่าที่ค้นหาประวัติต้นตอเจอพอจะเป็นเค้าของเน็คไท ย้อนไปไกลได้ถึงสมัยของโรมันเรืองอำนาจ
กองทัพที่ยิ่งใหญ่ของโรมันได้ยกทัพขยายอาณาเขตไปที่ต่าง ๆ มากมาย และในสมัยนั้น อากาศที่ร้อนอบอ้าวในภูมิประเทศต่าง ๆ ทหารโรมันได้ใช้ผ้าซับน้ำพันคอเอาไว้ เรียกว่า Focale เพื่อบรรเทาความร้อน แต่ก็ไม่ได้ช่วยอะไรมากนัก รวมไปถึงไม่ได้กลายมาเป็นแฟชั่นยอดนิยมฮิตกันมากนัก
จนล่วงเลยมาใน ค.ศ. 1660 ผ้าพันคอหรือคราวาต (Cravat สันนิษฐานว่าน่าจะมาจากภาษาฝรั่งเศส Croat ซึ่งต่อมาชาวอังกฤษเรียกว่าเป็น Necktie) ผ้าพันคอนี้เป็นสัญลักษณ์ของการฉลองชัยชนะของทหารโครเอเชียที่รบชนะชาวเติร์ก ในยุคสมัยการล่าอาณานิคมของประเทศฝรั่งเศส ซึ่งส่วนใหญ่ของทหารพวกนี้คือการรับจ้าง
ทหารพวกนี้ได้ใช้ผ้าพันคอสีแดงสดเป็นสัญลักษณ์ของตนเองในการบ่งบอกพวกพ้อง หลังศึกสงคราม เหล่าทหารกลุ่มนี้ในฐานที่เป็นวีรบุรุษของสงครามในยุคนั้น ได้รับเกียรติยศสูงส่งโดยการได้รับโอกาสได้เข้าเฝ้าพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศส (ตรงกับสมัยสมเด็จพระนายณ์)
พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 (5 กันยายน ค.ศ. 1638 – 1 กันยายน ค.ศ. 1715) ได้ทอดพระเนตรและทรงชอบผ้าพันคอของทหารที่เข้าเฝ้าจึงเอามาใช้บ้าง จากนั้นเหล่าชนชั้นสูงและประชาชนทั่วไปก็เลียนแบบพระองค์อีกต่อหนึ่ี่ง นับได้ว่า พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 เป็นผู้นำแฟชั่นที่ทำให้ผ้าพันคอสีแดงหรือเน็คไท กลายมาเป็นเครื่องแต่งกายอันเป็นที่นิยมของผู้ชายในเวลาต่อมา
หลังจากนั้นแฟชั่นผ้าพันคอเกิดการลื่นไหลแพร่เข้ามาถึงประเทศอังกฤษ โดยพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 2 ซึ่งเป็นคนที่ชื่นชอบหลงใหลในเรื่องราวของผ้าพันคอที่ทำจากผ้าลูกไม้ราคาแพงลิ่ว ยุคนั้นผู้ชายอังกฤษนิยมผูกผ้าพันคอให้สูงมากที่สุด เพื่อมีบุคลิกที่สง่างามและที่อังกฤษนี่เองมีการคิดค้นวิธีผูกผ้าพันคอที่หลากหลาย รวมถึงการเลือกชนิดของผ้ามาใช้ตัดเย็บ ได้แก่ ผ้าฝ้าย ผ้าลูกไม้ ผ้าลินิน และผ้ามัสลิน
การเปลี่ยนแปลงรูปแบบจากผ้าพันคอมาเป็นเน็คไท เริ่มขึ้นในราวศตวรรษที่ 19 นวัตกรรมของเน็คไทชิ้นเอกเกิดขึ้นโดยชาวอเมริกันชื่อ เจสส์ ลองส์ดอร์ฟ (Jesse Langdorf) เขาได้ออกแบบเน็คไทให้ผูกได้สะดวกและมีรูปแบบที่ทันสมัยขึ้น เน็คไทของเจสส์ทำขึ้นจากผ้า 3 ชิ้น จากนั้นนำมาเย็บติดกัน โดยมีความกว้างประมาณ 1-4 นิ้ว ส่วนความยาวไม่ได้ระบุเอาไว้ และมีแถบผ้าเล็ก ๆ ติดไว้ด้านหลังของเน็คไทให้สอดส่วนปลายผ้าเข้าไปได้ (ลักษณะคล้ายกับเน็คไทที่เราคุ้นตาในปัจจุบัน) ทำให้สะดวกในการปรับความสั้นยาวของเน็คไท หลังจากที่ผูกปมเสร็จเรียบร้อยแล้ว ช่วยให้ลดความเสียหายจากการรีดและการถอดเน็คไทบ่อย ๆ ต่อมาเน็คไทดังกล่าวได้มีการจดสิทธิบัตรใน ค.ศ. 1924
อ่านเพิ่มเติม :
- “ผ้าเช็ดหน้า” แฟชั่นสาวชั้นสูง ของใช้ “เกินวาสนา” ชาวบ้าน!!?
- สมเด็จเจ้าฟ้าหญิง ผู้เป็น “แฟชั่นนิสต้า” แห่งราชสำนักฝ่ายในสมัยรัชกาลที่ 5
- แฟชั่นสตรีในงานศิลปะญี่ปุ่นสมัย “เอโดะ” ทำไมเน้นทรวดทรงสัดส่วนผู้หญิงให้ยาวเกินจริง
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ “เน็คไท สัญลักษณ์ทหารกล้าสู่แฟชั่นสากลนิยม” เขียนโดย ณัฏฐชัย วิรูฬห์วชิระ ในศิลปวัฒนธรรม ตุลาคม 2551
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 13 ตุลาคม 2561