ผู้เขียน | นารีรัตน์ จำปาเฟื่อง |
---|---|
เผยแพร่ |
ผ้าเช็ดหน้า ที่เราคุ้นตาในรูปผ้าสี่เหลี่ยมผืนเล็กๆ เกิดขึ้นเพื่อใช้สำหรับซับเหงื่อ เช็ดปาก หรือสมัยก่อนก็นำมาห่อสิ่งของบ้างบางครั้ง หรือผูกคลุมศีรษะช่วยกันแดดได้อีก แต่นอกจากประโยชน์ใช้สอย ผ้าเช็ดหน้า ยังเป็นสิ่งแบ่งแยกสถานะทางชนชั้นในสังคมได้ด้วย
แม้จะมีหลักฐานว่าไทยมีผ้าเช็ดหน้ามาแล้วกว่า 400 ปี อย่าเพิ่งคิดว่าเก่าแก่ยาวนานมาก เพราะถ้าไปดูประวัติศาสตร์จีน จะเห็นว่าชาวจีนรู้จักผ้าเช็ดหน้ามา 2,000 กว่าปีแล้ว ซึ่ง ส.พลายน้อย นักเขียนสารคดีชั้นครู ได้ให้ความคิดเห็นว่า คงจะเป็นแบบไทย ที่มีการใช้ผ้าเช็ดหน้าจำกัดอยู่ในวงขุนนางหรือพวกมีอันจะกิน มากกว่าจะใช้แพร่หลายกันในทุกกลุ่มชน
สอดคล้องกับชาวโรมันยุคต้นๆ ก็ปรากฎว่ามีผ้าเช็ดหน้าใช้แล้วเช่นกัน ต่อมาผ้าเช็ดหน้ามีการใช้อย่างแพร่หลายในยุโรป แต่ก็มีใช้กันเฉพาะภายในราชสำนักหรือบุคคลชั้นสูงเท่านั้น พวกชาวบ้านยังไม่มีโอกาสได้ใช้ ทั้งนี้ก็มีเหตุผล เพราะผ้าเช็ดหน้าสมัยนั้นราคาแพงมาก ปรากฏใน ค.ศ. 1604 (พ.ศ. 2147) ผ้าเช็ดหน้าผืนหนึ่งมีราคา 32 เซ็นต์ และใน ค.ศ. 1719 (พ.ศ. 2262) ก็ขึ้นราคาเป็นราคาผืนละ 2 เหรียญ 50 เซนต์
ผ้าเช็ดหน้า ที่แพงที่สุด เห็นจะเป็นผ้าเช็ดหน้าของซารินาแห่งรัสเซียในช่วงประมาณ ค.ศ. 1841-1905 (พ.ศ. 2384-2448) ซึ่งมีราคาถึง 2,500 เหรียญ (ในสมัยนั้น) เมื่อเป็นเช่นนี้ ชาวบ้านธรรมดาจะเอากำลังจากไหนหาเงินเพื่อซื้อผ้าเช็ดหน้าผืนเล็กๆ มาไว้ครอบครองได้ ผ้าเช็ดหน้าในสมัยก่อนจึงเป็นเรื่องเกินวาสนาที่คนธรรมดาจะจับต้องหรือเป็นเจ้าของ
ผ้าเช็ดหน้าในสมัยก่อน และโดยเฉพาะที่พวกในราชสำนักใช้กันนั้น ส่วนมากเป็นผ้าเช็ดหน้าที่ทำกันอย่างประณีตมาก ราคาจึงแพง บางผืนถึงขั้นใช้ทองประดับตามขอบผ้าเลยก็มีให้เห็น และโดยเหตุผลที่ผ้าเช็ดหน้าเป็นของมีราคา ประดับด้วยของมีค่านี้เอง ผ้าเช็ดหน้าจึงมีสภาพเป็นของประดับร่างกายไปด้วย กลายเป็นแฟชั่นของสตรีสูงศักดิ์ ทุกคนจะต้องมีผ้าเช็ดหน้าใช้
มีเรื่องเล่ากันว่า แอนน์ โบลีน มเหสีของพระเจ้าเฮนรีที่ 8 ใช้ผ้าเช็ดหน้าถึง 48 ผืนประดับชุดวิวาห์ แอนน์ผู้นี้มีแขนข้างหนึ่งลีบ ไม่งดงาม จึงเกิดความจำเป็นที่จะต้องซ่อนแขนข้างนั้นเสีย ด้วยเหตุนี้พระนางจึงมักจะเอาผ้าเช็ดหน้ามาพับผูกไว้ที่แขนเสื้อเสมอ เพื่อบังแขนที่พระนางไม่ต้องการให้ใครเห็น นี่ก็นับเป็นหนึ่งในประโยชน์ของผ้าเช็ดหน้าในสมัยก่อน
ในราวศตวรรษที่ 17 คนยุโรปนิยมนัดยานัตถุ์กันมาก การนัดยานั้นทำโดยวิธีการสูด ซึ่งยานัตถุ์มักฟุ้งกระจาย และเพื่อไม่ให้ยานัตถุ์เปื้อนเสื้อผ้า ก็จะหาผ้ามาเตรียมไว้ยามนัดยา ต่อมาเมื่อเห็นว่าผ้านั้นผืนใหญ่เกินไป ก็ปรับขนาดให้พอใส่กระเป๋าติดตัวได้ จึงเรียกกันว่า “ผ้าประจำกระเป๋า” หากจะกล่าวให้ตรงตัวก็คือผ้าสำหรับนัดยา และต่อมาก็คือสิ่งที่เรียกว่าผ้าเช็ดหน้าในปัจจุบันนั่นเอง
ในเมืองไทย ผ้าเช็ดหน้ายังได้รับความนิยมในการเป็นของชำร่วยงานศพ งานแต่งงาน และงานบวช เวลาแจกมักพับเป็นรูปต่างๆ อย่างรูปสัตว์ ดอกไม้ ให้มีความงดงาม ซึ่งความนิยมนี้เริ่มปรากฏให้เห็นในสมัยรัชกาลที่ 6
ส.พลายน้อย เล่าไว้ว่า ต้นความคิดเดิมนั้นกล่าวกันว่าเป็นของ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงทิพยรัตนกิริฏกุลินี และความคิดที่เกิดขึ้นก็เป็นไปโดยความบังเอิญ คือระหว่างที่กำลังเฝ้าพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว อยู่นั้น เสด็จกรมหลวงฯ ทรงพระกรรแสงด้วยความโศกเศร้า ทรงใช้ผ้าเช็ดพระพักตร์ซับน้ำพระเนตร แล้วก็ทรงม้วนผ้าที่เปียกอยู่ไปมา ในที่สุดก็กลายเป็นตัวนก ต่อมาก็ทรงจับเค้าเงื่อนอันนั้นมาพลิกแพลงทำเป็นนกกกลูกเล็กๆ อยู่ในรัง และทำเป็นหนู เป็นกระต่าย วิชาเหล่านี้ได้ถ่ายทอดให้ผู้ใกล้ชิด ซึ่งนำมาประดิษฐ์ให้เป็นรูปแปลกๆ มากขึ้น จนกระทั่งแพร่หลายเป็นวงกว้าง
ปัจจุบันผู้คนอาจพก “ผ้าเช็ดหน้า” กันน้อยลง แต่ในอดีต ผ้าเช็ดหน้าคือสิ่งบ่งบอกสถานะ ระบุตำแหน่งแห่งหนชนชั้น ไม่แพ้เครื่องประดับอื่นๆ เลยทีเดียว
อ่านเพิ่มเติม :
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
ส.พลายน้อย. (2516). เกร็ดโบราณคดีประเพณีไทย ชุดที่ 2. กรุงเทพฯ: บำรุงสาส์น.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 9 กุมภาพันธ์ 2566