ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤษภาคม 2556 |
---|---|
ผู้เขียน | ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย |
เผยแพร่ |
“วันนี้แต่งเต็มที่ เพราะเวลาตายจะได้ตายสวย ๆ” เป็นพระดำรัสของ สมเด็จเจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร ขณะทรงแต่งพระองค์เตรียมเสด็จงานฉลองพระนครครบรอบ 150 ปี
สมเด็จเจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร (16 เมษายน 2427 – 15 กุมภาพันธ์ 2482) เป็นพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติแต่สมเด็จพระศรีสวรินทิรา พระบรมราชเทวี แต่พระราชมารดาพระราชทานให้เป็นพระราชธิดาบุญธรรมในสมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ
สมเด็จเจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์จึงทรงเรียกสมเด็จพระศรีพัชรินทราฯ ว่า “เสด็จแม่”
สมเด็จพระศรีพัชรินทราฯ ทรงเลี้ยงพระราชธิดาบุญธรรมพระองค์นี้อย่างเด็กสมัยใหม่ ทั้งการแต่งพระองค์ ก็มักให้ทรงกระโปรงบานแบบเด็กฝรั่ง ไว้พระเกศายาว ทำให้เป็นพระเยาวนารีที่งดงามน่ารัก จนคนในวังเรียกขานกันว่า “ทูลกระหม่อมฟ้าหญิงแหม่ม”
ประการสำคัญทรงกวดขันพระราชธิดาพระองค์นี้ให้ได้รับการศึกษาวิชาการสมัยใหม่ ทำให้พระองค์ทรงมีแนวคิดและการปฏิบัติพระองค์ที่บ่งบอกถึงความเป็นผู้ก้าวตามสมัยนิยม เช่น การเสด็จไปทรงซื้อของตามห้างต่าง ๆ ที่มีชื่อเสียงมีสินค้าสั่งจากยุโรป โปรดเสด็จไปทำพระเกศาที่ร้านศรีวารพาร หรือเสด็จไปเสวยพระกระยาหารบะหมี่เกี๊ยวและไอศกรีมที่ราชวงศ์ ดังเช่นที่วงสังคมชั้นสูงในสมัยนั้นนิยมปฏิบัติกัน
นอกจากพระจริยวัตรดังกล่าวแล้ว การแต่งพระองค์ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่แสดงถึงความก้าวล้ำสมัยของพระองค์ เล่ากันว่าทรงสั่งหนังสือแบบเสื้อมาจากประเทศทางยุโรป แล้วทรงนำมาดัดแปลงให้เข้ากับพระบุคลิกเฉพาะพระองค์ คือเมื่อทรงแล้วจะทั้งงามทั้งเก๋
ดังที่พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ทรงเล่าถึงสมเด็จเจ้าฟ้าหญิงพระองค์นี้ไว้ในพระนิพนธ์เรื่องเกิดวังปารุสก์ ความตอนหนึ่งว่า
“—ทูลหม่อมอาหญิงท่านทั้งงามทั้งเก๋ ข้าพเจ้าชอบไปเฝ้าท่านบ่อย ๆ —“
ความก้าวหน้าทันสมัยในด้านเครื่องแต่งกายของพระองค์ยังเผื่อแผ่เลยไปถึงข้าหลวงทุกคนในพระตำหนัก จนเป็นที่กล่าวขานกันทั่วไปในสมัยนั้นว่า
“—ไม่มีข้าหลวงตำหนักใดจะสวยเก๋ทันสมัยเท่าข้าหลวงของสมเด็จเจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์—“
กล่าวกันว่า สมเด็จเจ้าฟ้าหญิงพระองค์นี้ทรงเป็นแบบอย่างและเป็นผู้นำด้านการแต่งกายของสตรีในพระราชสำนักฝ่ายใน
อ่านเพิ่มเติม :
- แฟชั่นสตรีในงานศิลปะญี่ปุ่นสมัยเอโดะ ทำไมเน้นทรวดทรงสัดส่วนผู้หญิงให้ยาวเกินจริง
- กำเนิด “มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์” กับอนุสรณ์ เจ้าฟ้าวไลยฯ ผู้ทรงอุปถัมภ์การศึกษา
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ “สมเด็จเจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ ผู้นำการแต่งกายทั้งงามทั้งเก๋” เขียนโดย ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤษภาคม 2556
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 25 กันยายน 2561