เผยแพร่ |
---|
สมเด็จพระราชปิตุจฉาเจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร ทรงให้ความสำคัญในการศึกษาของเยาวชนชาวไทยเป็นอันดับแรก ถึงกับเคยมีพระราชดำรัสกล่าวว่า “ถ้าหากไฟไหม้ไม่ต้องเก็บเครื่องเพชร ให้เก็บหนังสือก่อน”
สมเด็จฯ เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ ทรงมีเมตตาต่อวงการศึกษา พระองค์ทรงสละทุนทรัพย์เพื่อสมทบทุนในการสร้างสถานศึกษา โรงเรียน อาทิ โรงเรียนราชินีบน โรงเรียนเจ้าฟ้าสร้างโรงเรียนเบญจมเทพอุทิศ และ “โรงเรียนฝึกหัดครูเพชรบุรีวิทยาลงกรณ์”
โรงเรียนฝึกหัดครูเพชรบุรีวิทยาลงกรณ์ มาจากพระนาม “เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์” และพระนามทรงกรม “กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร” ทรงประทานอาคารพร้อมที่ดินประมาณ 4 ไร่ บริเวณ ถนนเพชรบุรี แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร (ปัจจุบันคือศูนย์กรุงเทพมหานคร) ให้กระทรวงศึกษาธิการ จัดตั้งโรงเรียนฝึกหัดครูเพชรบุรีวิทยาลงกรณ์ เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2475 โดยย้ายนักเรียนฝึกหัดครูและนักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลาย (ม.7-8) มาจากโรงเรียนเบญจมราชาลัย โรงเรียนใช้ชื่อย่อว่า พ เป็นสัญลักษณ์ และสีเขียว เป็นสีประจำโรงเรียนเนื่องจากเป็นสีประจำวันประสูติของพระองค์
ต่อมา พ.ศ. 2513 ได้ยกฐานะโรงเรียนฝึกหัดครูเพชรบุรีวิทยาลงกรณ์ ขึ้นเป็น “วิทยาลัยครูเพชรบุรีวิทยาลงกรณ์” ถึง พ.ศ. 2515 ขยายพื้นที่มายังอำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี (ที่ตั้งของมหาวิทยาลัยในปัจจุบัน) กระทั่ง พ.ศ. 2516 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับวิทยาลัยครูเพชรบุรีวิทยาลงกรณ์ และสมาคมศิษย์เก่าฯ ไว้ “ในพระบรมราชูปถัมภ์”
พ.ศ. 2535 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามสถาบันราชภัฏแก่วิทยาลัยครูทั่วประเทศ เป็นเหตุให้เปลี่ยนชื่อเป็น “สถาบันราชภัฏเพชรบุรีวิทยาลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์” พ.ศ. 2546 เปลี่ยนชื่อเป็น “สถาบันราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์” ตามพระนามของสมเด็จฯ เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ ผู้ทรงมีคุณูปการต่อสถาบันการศึกษาแห่งนี้ตั้งแต่แรกตั้ง
จวบจน พ.ศ. 2547 ได้ยกฐานะเป็น “มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์”
สำหรับอนุสรณ์ของสมเด็จฯ เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ ที่ทรงอุปถัมภ์สถานศึกษาแห่งนี้นั้น ในปัจจุบันปรากฏพระอนุสาวรีย์ที่บริเวณหน้าอาคารหอประชุม มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ จังหวัดปทุมธานี
นอกจากนี้ยังปรากฏตราพระนามย่อของสมเด็จฯ เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ บนหน้าบันศาลาพระพุทธรูปประจำมหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ (ศูนย์กรุงเทพมหานคร) ซึ่งแต่เดิมคือโรงเรียนฝึกหัดครูเพชรบุรีวิทยาลงกรณ์ ที่พระองค์ทรงเป็นองค์ประทานกำเนิดสถาบัน
โดยเป็นตราพระนามย่อ ว.อ. ในลักษณะอักษร ว. แหวน และ อ. อ่าง ทำเป็นโครงลักษณะกรอบห้าเหลี่ยม ซึ่งตรานี้มีลักษณะสื่อถึงรูปเพชร อันเป็นราชทินนามพระราชทานทรงกรม ที่ “เพชรบุรีราชสิรินธร”
นอกจากนี้ กรอบห้าเหลี่ยมนี้ยังสื่อถึงการที่พระองค์เป็นพระราชธิดาในรัชกาลที่ 5 และสื่อผ่านเลข “๕” ไทย ในด้านล่างอักษร ว.อ. อักษรพระนามองค์นี้ในอดีตที่ทรงพระชนมชีพอยู่ปรากฏบนการ์ด และทรงลงพระอภิไธย (ลายเซ็น) และติดไว้บนปกรองหนังสือ แสดงความเป็นเจ้าของหนังสือนั้น หรือเป็นของส่วนพระองค์
อ้างอิง :
กฤตนันท์ วรรณสิญจน์. (กุมภาพันธ์, 2563). ศิลปะตราอักษรย่อ ที่ปรากฏใน Collection ส่วนพระองค์ สมเด็จฯ เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์. ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ 41 : ฉบับที่ 4.
มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์. (ออนไลน์). ประวัติมหาวิทยาลัย. สืบค้นเมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2564, จาก www.vru.ac.th/about-vru/history-vru.html
เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 16 มีนาคม 2564