ผู้เขียน | เอนก นาวิกมูล |
---|---|
เผยแพร่ |
วันหนึ่ง รัชกาลที่ 1 ทรงมีพระราชดำรัสให้ เจ้าพระยาพระคลัง (หน บุญ-หลง) มหากวี และขุนนางใหญ่ร่างสาส์นตราฉบับหนึ่ง
เจ้าพระยาพระคลังรับรับสั่งแล้วก็ไปลืมเสีย
ต่อมาอีกสองสามวัน ร.1 ตรัสเตือนว่าโปรดให้ร่างสาส์นตรา จนป่านนี้ยังไม่แล้วอีกหรือ เจ้าพระยาพระคลัง (หน) ตกใจ ลนลานหยิบสมุดออกมาพลิกอ่านร่างถวาย
ร.1 ตรัสว่าดีแล้ว แต่จะต้องแก้สักแห่งสองแห่ง แล้วทรงยื่นพระหัตถ์ออกไปรับสมุดมาทอดพระเนตร….
ปรากฏว่าเป็นสมุดเปล่าทั้งเล่ม ไม่มีตัวหนังสือเลย !!!
จึงทรงเอาสมุดฟาดหัวเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ตรัสว่าให้ไปเขียนมาใหม่ ให้เหมือนกับที่อ่านปากเปล่าถวาย ถ้าไม่เหมือนจะลงพระราชอาญา (เจ้าพระยาพระคลังมีปฏิภาณ แต่ท่า ร.1 จะทรงมีปฏิภาณกว่า อาจทรงรู้ทัน !! -เอนก)
เจ้าพระยาพระคลัง (หน) กลับไปเขียนร่างสารตราลงในสมุดเล่มเดียวกัน แล้วนำกลับไปอ่านถวาย
ทรงฟังตลอดแล้วตรัสว่าเหมือนกันกับที่อ่านถวายปากเปล่า เป็นอันว่าแก้ตัวพ้นโทษได้
เกร็ดเรื่องนี้อยู่ในหนังสือชื่อ “สามกรุง” พระนิพนธ์ของกรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ เจ้าของนามแฝง น.ม.ส. (น.ม.ส. ย่อมาจากตัวท้ายของพระนามเดิม พระองค์เจ้ารัชนีแจ่มจรัส อดีตรองเสนาบดีกระทรวงพาณิชย์) แต่งเมื่อ พ.ศ. 2487
ให้ดูในช่วงคำอธิบายศัพท์ท้ายเล่มเฉพาะเรื่องนี้ข้อที่ 160 หน้า 384 ของฉบับพิมพ์ พ.ศ. 2495 สำนักพิมพ์ชัยฤทธิ์
เจ้าพระยาพระคลัง (หน) เกิดในสกุล บุญ-หลง ขุนนางเก่า (ขี้เกียจไล่ที่มา – เดี๋ยวจะงง) เป็นบุตรของเจ้าพระยาสุรบดินทร์สุรินทรฦาชัย(บุญมี) กับท่านผู้หญิงเจริญ
เกิดเมื่อใดไม่ทราบ ถึงอสัญกรรมในรัชกาลที่ 1 เมื่อปีฉลู พ.ศ. 2348 หรือเมื่อ 213 ปีมาแล้วนับจาก พ.ศ. 2561
หน้าตาอย่างไรไม่ทราบ เพราะท่านตายก่อนมีการถ่ายรูป ไม่มีใครปั้นรูป หรือวาดรูปท่านไว้เลยแม้จากจินตนาการจนถึงปัจจุบัน
หนังสือชีวประวัติเจ้าพระยา โดย ณัฐวุฒิ สุทธิสงคราม สำนักพิมพ์บันดาลสาส์น พิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2517 หน้า 26 กล่าวว่า นามท่านคือ หน หรือหนทาง ไม่บอกที่มา ไม่รู้ว่ารู้มาจากไหน
ได้เป็นหลวงสรวิชิต ในสมัยพระเจ้าตากสิน
ได้เคยโดยเสด็จ ร.1 ในการสงครามมาแต่ก่อน แสดงว่าใกล้ชิดกับ ร.1 แน่ๆ
โดยทั่วไปเรารู้จักเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ในฐานะผู้อำนวยการแปลเรื่อง สามก๊ก จากจีนเมื่อสมัย ร.1….
สามก๊กของแท้ฉบับแรกเลยนะครับ รีบไปหามาอ่านเสีย ถ้ามากขึ้นอีกนิดก็รู้ว่านอกจากสามก๊ก ท่านยังเป็นกวีคนสำคัญ
ผู้แต่งกากีกลอนสุภาพ ลิลิตเพชรมงกุฎ เพลงยาวเล่นว่าความ กลอนจารึกเรื่องสร้างภูเขาวัดราชคฤห์ ที่ตลาดพลู ธนบุรี
ซึ่งแต่ละเรื่องต้องใช้เวลาอ่าน ต้องอ่านอย่างช้าๆ และต้องเจอศัพท์ยากๆ จงพยายามอ่านเถอะ ส่วนผมอ่านบ้างไม่อ่านบ้าง !
หนังสือเรื่องตั้งเจ้าพระยากรุงรัตนโกสินทร์ พระนิพนธ์กรมพระสมมตอมรพันธุ์ และสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ อ้างหนังสือเรื่อง “ลำดับเสนาบดี” ของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์-ขำบุนนาค (หนังสือชื่อนี้ผมไม่เคยเห็นหน้าตา)
กล่าวว่าเจ้าพระยาพระคลัง (หน) เดิมเป็นหลวงสรวิชิตนายด่านเมืองอุทัยธานี
เข้ามารับราชการอยู่ที่กรุงธนบุรี เป็นคนสวามิภักดิ์ ร.1 ในฐานะข้าหลวงเดิม (แปลว่าคนที่พระเจ้าแผ่นดินเคยใช้สอยมาตั้งแต่ยังไม่ได้เป็นพระเจ้าแผ่นดิน)
ทำราชการกับเจ้าฟ้ากรมหลวงอนุรักษ์เทเวศร์ (พ.ศ. 2289-2349) ลูกคนโตของพี่สาว ร.1
เป็นคนเอากิจราชการสอดหนังสือลับไปถวาย ร.1 (ขณะเป็นเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก ออกไปรบเขมร พ.ศ. 2323-2325 ) ถึงด่านพระจาฤก หรือจารึกซึ่งอยู่ในแถบ จ.สระแก้ว เดี๋ยวนี้
พอเจ้าฟ้ามหากษัตริย์ศึกกลับจากเขมรก็ได้ออกไปรับเสด็จถึงทุ่งแสนแสบ (พ.ศ. 2325)
มีความชอบหลายอย่าง ทั้งมีฝีปากเรียบเรียงหนังสือดี
ต่อมา ร.1 จึงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นพระยาพิพัฒน์โกษา แล้วเลื่อนเป็นเจ้าพระยาโกษาธิบดี หรือเจ้าพระยาพระคลัง ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ใหญ่มาก
เจ้าพระยาพระคลัง แม้จะมีบุตร (ลูกชาย) มาก แต่ก็ไม่ได้ทำราชการ
เท่าที่ทราบชื่อคือนายเกตุ กับนายทัด เป็นจินตกวี (ไม่รู้แต่งอะไรบ้าง)
และเป็นครูพิณพาทย์ ไม่มีรายละเอียดขยายความ
ส่วนบุตรหญิงที่ปรากฏคือเจ้าจอมมารดานิ่มในรัชกาลที่ 2
เจ้าจอมมารดานิ่มนี้เป็นแม่ของ พระองค์เจ้าชายมั่ง หรือสมเด็จฯ กรมพระยาเดชาดิศร (ต้นสกุล เดชาติวงศ์) ที่แต่งหนังสือโคลงโลกนิติ, นิราศเสด็จไปทัพเวียงจันทน์, ฉันท์กล่อมช้าง และอื่นๆ
อ่านเพิ่มเติม :
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 5 กันยายน 2561