พระบรมราโชบายด้านต่างประเทศของรัชกาลที่ 1 ต่อราชสำนักจีน

รัชกาลที่ 1 จักรพรรดิเฉียนหลง ราชวงศ์ชิง
(ซ้าย) ปฐมบรมราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ณ เชิงสะพานพระพุทธยอดฟ้า (ขวา) พระบรมสาทิสลักษณ์สมเด็จพระจักรพรรดิเฉียนหลง (ชิงเกาจงฮ่องเต้) แห่งราชวงศ์ชิง

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 ดำเนินทรงดำเนินพระบรมราโชบายด้านต่างประเทศกับราชสำนักจีนอย่างไรหลังสถาปนาราชวงศ์จักรี

เป็นที่ทราบกันว่า สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเคยทรงส่งคณะราชทูตอัญเชิญพระราชสาส์นและเครื่องราชบรรณาการไปเจริญพระราชไมตรีกับราชสำนักจีน แต่ทรงถูกปฏิเสธจากราชสำนักจีน โดยให้เหตุผลว่าเป็นการขัดกับคุณธรรมตามหลักของขงจื๊อ พระองค์ไม่ควรสถาปนาตัวเองขึ้นเป็นกษัตริย์ แต่ควรตามหาเจ้านายในพระราชวงศ์ที่สูญหาย จนช่วงปลายรัชกาลสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ราชสำนักจีนก็เริ่มมีท่าทียอมรับมากขึ้น แต่ก็มีการเปลี่ยนแผ่นดินเสีย

ราชสำนักจีนในเวลานั้น ก็คงไม่ต่างจากสหรัฐอเมริกา หรืออียูในเวลานี้ ถ้าใช้มาตรการกีดกันทางการค้ากับประเทศใด ประเทศนั้นก็ลำบาก

รัชกาลที่ 1 ย่อมทรงทราบดีเรื่องนี้ เมื่อทรงปราบดาภิเษกและสถาปนาราชวงศ์จักรี จึงทรงดำเนินพระบรมราโชบายด้านต่างประเทศให้ต่อเนื่องไปได้ โดยไม่ต้องนับหนึ่งใหม่

เพราะพระองค์ทรงทราบดีว่า ราชสำนักจีนในเวลานั้น “เยอะ” ขนาดไหน

ด้วยเหตุนี้พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก จึงทรงแจ้งว่าพระองค์เป็น “พระราชโอรส” ของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ที่เสด็จขึ้นครองราชสมบัติโดยการสืบสันตติวงศ์ต่อเนื่องจากพระราชบิดา ดังปรากฏในพระราชสาส์นถึงข้าหลวงมณฑลกวางตุ้ง กว่างซี เมื่อวันซินไฮ่ เดือนห้า ปีที่ 47 แห่งรัชศกเฉียนหลง (วันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2325) ว่า

“เจิ้งหัว [พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก – ผู้เขียน] ประมุขแห่งประเทศเซียนหลัว [กรุงสยาม – ผู้เขียน] ขอถวายบังคมมา ด้วยเหตุที่ได้จัดส่งเรือมารับราชทูต พร้อมกับถวายรายงานเรื่องพระราชบิดาได้ถึงแก่สิ้นพระชนม์แล้ว (ข้าพเจ้า) รำลึกถึงด้วยความเศร้าสลดเสียใจว่า เมื่อปีที่แล้ว เจิ้งเจา [สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี – ผู้เขียน] พระราชบิดา อดีตประมุขของประเทศ ผู้ทรงล่วงลับไปแล้ว ได้ทรงจัดส่งราชทูตเดินทางโดยทางทะเลมาถวายเครื่องราชบรรณาการแด่ราชสำนักแห่งสรวงสวรรค์ ครั้นถึงฤดูใบไม้ผลิของปีนี้ เรือฟู่ก้ง [เรือนอกราชบรรณาการ – ผู้เขียน] ได้เดินทางกลับเซียน โดยมีเจ้าหน้าที่ (คณะ) ราชบรรณาการ อันมี พีเอียหน่าสื่อเพาหัวหลี่ ไหน่ซง และไหน่อวน หม่าเห้อลี่ [มหาดเล็ก – ผู้เขียน] พร้อมบุคคลอื่นเป็นผู้นำกลับ

ด้วยบัญชาของท่าน ทราบว่า เมื่อคณะถวายเครื่องราชบรรณาการได้ (เดินทาง) ถึงกวางตุ้งแล้ว ได้รับความกรุณาจากท่านขุนนางผู้ใหญ่ (ระดับมณฑล) ทั้งหลายนำความขึ้นกราบบังคมทูล (องค์จักรพรรดิ) และจัดการจัดส่ง (คณะ) ทูตราชบรรณาการและสิ่งของพื้นเมืองไปยังนครหลวง อันทำให้ (เราซึ่งเป็น) ประเทศเล็กทางทะเลไกลโพ้น ได้รับพระบรมมหากรุณาธิคุณจากโอรสแห่งสรวงสวรรค์ (องค์จักรพรรดิจีน) ทั้งนี้ก็เนื่องมาแต่ (ความกรุณาของ) ท่านขุนนางผู้ใหญ่ (ระดับมณฑล) ทั้งหลาย ซึ่งเป็นพระคุณอย่างสูง (ข้าพเจ้า) จึง (สำนึกอยู่เสมอว่า) จักต้องปฏิบัติหน้าที่ให้ดีที่สุด และซื่อสัตย์กตัญญู (ต่อราชสำนักจีน) ตลอดไป หากแต่ว่า (เราซึ่งเป็น) ประเทศเล็กบุญน้อยถึงคราวเคราะห์ประสบภัยพิบัติถึงแก่สูญเสียพระราชบิดา เมื่อวันเกิงอิ๋น เดือนยี่ ปีที่ 47 แห่งรัชศกเฉียนหลง [วันที่ 5 เมษายน 2325 – ผู้เขียน]

เจา [สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี – ผู้เขียน] ได้ประชวรสิ้นพระชนม์ (จากโรคภัยไข้เจ็บ) ในวาระที่ใกล้จะสิ้นพระชนม์ ทรงสั่งเสียหัว [พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก – ผู้เขียน] ขอให้มีความสุขุมรอบคอบ อย่าได้แก้ไขเปลี่ยนแปลงโบราณราชประเพณี และให้ยึดถือ (ผลประโยชน์ของบ้านเมือง) เป็นใหญ่ ตลอดทั้งให้เคารพนบนอบและเชื่อฟังราชสำนักแห่งสรวงสวรรค์เป็นสำคัญ

หลังจากที่พระราชบิดาสิ้นพระชนม์แล้ว และหัวได้ทำหน้าที่ปกครองบ้านเมือง เคราะห์ดีที่บุญญานุภาพแห่งสรวงสวรรค์ปกป้องคุ้มครอง ดินแดนภายใต้การปกครองจึงสงบเรียบร้อยอยู่รอดปลอดภัย ครั้นเมื่อคำนึงถึงโบราณราชประเพณีว่า เซียนหลัว เป็นประเทศในอาณัติ จึงสมควรจะได้ถวายรายงาน (ถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้น)

บัดนี้ ได้จัดให้หลั่งเอี่ยไผชวนลัวตี้ [หลวงอภัยชลธี – ผู้เขียน] นำส่งสาสน์ถึงท่าน พร้อมทั้งได้จัดให้นายสมุทรวานิชนำเรือมารับทูตบรรณาการกลับประเทศ ต่อเมื่อถึงกำหนดวาระการถวายเครื่องราชบรรณาการ หัวจักได้จัดเตรียมสิ่งของพื้นเมืองอย่างดีถวายเป็นเครื่องราชบรรณาการตามประเพณีปฏิบัติอย่างแน่นอน ทั้งนี้ เพื่อหวังให้พระราชบิดาผู้ทรงล่วงลับไปแล้วได้รับผลบุญ จากพระมหากรุณาธิคุณหางองค์จักรพรรดิชั่วกัปชั่วกัลป์ อันจะทำให้หัวสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณแห่งองค์จักรพรรดิตลอดไปไม่มีที่สิ้นสุด

จึงกราบเรียนมาเพื่อขอความกรุณาจากท่านฝู่ไถ (จงตก) ท่านจื้อไถ (หมูอี) ทั้งสองท่าน

กราบเรียนมา เมื่อวันซินไฮ่ เดือนห้า ปีที่ 47 แห่งรัชศกเฉียนหลง [วันที่ 25 มิถุนายน 2325 – ผู้เขียน]

ขณะเดียวกันราชสำนักจีนมีพระราชสาส์นแจ้งกลับมาด้วย ทว่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกไม่ได้ทรงตอบกลับไปทันที แต่ทรงทอดเวลาออกไปถึง 2 ปี

เจดีย์บรรจุพระบรมอัฐิสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี กับพระอัครมเหสี อยู่หน้าพระอุโบสถเดิม วัดอินทารามวรวิหาร (วัดบางยี่เรือใต้) กรุงเทพมหานคร

ระหว่างนั้น โปรดเกล้าฯ ให้ขุดเอาพระบรมศพสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีขึ้นมาพระราชทานพระเพลิง ณ พระเมรุวัดบางยี่เรือใต้ ใน พ.ศ. 2327

เหตุใด จึงโปรดเกล้าฯ ให้มีการถวายพระเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี?

เป็นผลมาจากแรงผลักดันทางการเมืองระหว่างสยามกับจีนเป็นสำคัญ พระราชกุศโลบายอันแยบคายของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกและสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท

การขุดเอาพระบรมศพสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีขึ้นมาประกอบพระราชพิธีถวายพระเพลิง แล้วโปรดเกล้าฯ ให้จัดงานมหรสพสมโภชอย่างสมพระเกียรติ รัชกาลที่ 1 และสมเด็จพระอนุชาธิราชเสด็จพระราชดำเนินไปถวายพระเพลิงด้วยพระองค์เอง ฯลฯ

เพื่อให้บรรดาพ่อค้าและจารชนชาวจีนรายงานสิ่งที่พบเห็นในกรุงสยามไปยังราชสำนักจีนว่า พระองค์และสมเด็จพระอนุชาธิราช โปรดเกล้าฯ ให้จัดการพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระราชบิดา เพื่อให้สอดคล้องต้องกันกับพระราชสาส์นที่แจ้งไปยังราชสำนักจีนตามที่กล่าวข้างต้น

พระราชกุศโลบายนี้ สืบเนื่องมาจากความสัมพันธ์ทางพระราชไมตรีและการค้าในระบบรัฐบรรณาการระหว่างกรุงสยามกับราชสำนักจีน เมื่อมีการผลัดเปลี่ยนพระราชวงศ์ใหม่ ก็มักจะเกิดปัญหาตามมา ดังกรณีของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีที่ต้องใช้เวลายาวนานกว่า 14 ปี ราชสำนักจีนจึงยินยอมให้การรับรองพระองค์ในฐานะพระเจ้ากรุงสยามพระองค์ใหม่หลังสิ้นกรุงศรีอยุธยาแล้ว

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 29 กรกฎาคม 2563 ปรับปรุงเนื้อหาครั้งล่าสุดเมื่อ 6 เมษายน 2566