ประเพณีการรัดเท้า : ประเพณีแห่งความเจ็บปวด

ลักษณะเท้าของหญิงจีนที่ถูกรัดให้เล็ก (ภาพโดย Jo Farrell จากเว็บไซต์ https://www.huffingtonpost.com/2014/06/13/photographs-last-chinese-footbinders_n_5489925.html)

ช่วงหนึ่งของประวัติศาสตร์จีน มีประเพณีสำคัญอย่างหนึ่งคือ นิยมให้สตรีรัดเท้าให้เล็กลงบ่งบอกถึงเท้าตระกูลผู้ดี เท้าคนชั้นสูง บ่งบอกถึงฐานะครอบครัว เป็นช่วงหนึ่งของประวัติศาสตร์ที่คนรุ่นใหม่อาจไม่รู้และไม่เห็นคุณค่า ไม่เอาใจใส่ประวัติศาสตร์ และคนที่เรียนรู้ประวัติศาสตร์ก็ถือว่าการรัดเท้าเป็นช่วงหนึ่งของประวัติศาสตร์อันน่าอับอายขายหน้า แต่อย่างน้อยก็มีคนหนึ่งที่ให้ความสนใจศึกษาและเก็บเรื่องราวการรัดเท้าของผู้หญิงจีนโบราณโดยไม่ถือว่าเป็นสิ่งที่ต้องอับอายขายหน้าแต่อย่างใด เขาคือนายโค ฉีเซิน ศัลยแพทย์ชาวจีนไต้หวัน

นายโคได้เก็บหนังสือประวัติศาสตร์ว่าด้วยประเพณีรัดเท้า และสิ่งอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการรัดเท้าไว้จำนวน ๓,๐๐๐ ชิ้น และยังมีรองเท้าโบราณของหญิงรัดเท้าไว้มากกว่า ๑,๐๐๐ คู่ ของมีค่าดังกล่าวเคยจัดแสดงเมื่อหลายปีก่อนที่กรุงไทเป เมืองหลวงไต้หวัน ได้รับความสนใจจากทั้งชาวจีนเองและฝรั่งตะวันตก

ในประวัติศาสตร์จีนระบุไว้ว่า ผู้หญิงคนแรกที่รัดเท้าตนเองคือ ข้าราชบริพารในราชสำนักชื่อ หยาว หนิง ในสมัยปลายราชวงศ์ถัง และขยายไปยังชนชั้นสูง สตรีจีนนิยมรัดเท้ามาตั้งแต่นั้นร่วมนับพันปี เป็นปรากฏการณ์ชิ้นสำคัญในประวัติศาสตร์จีนและโลกก็ว่าได้

หญิงชาวจีนยูนนานใส่รองเท้าถักสีเหลืองขนาดเล็ก (ภาพจากเว็บไซต์ https://edition.cnn.com/2017/05/21/health/china-foot-binding-new-theory/index.html)

นางหลิน เว่ย หง อาจารย์สอนประวัติศาสตร์ในมหาวิทยาลัยแห่งชาติไต้หวัน กล่าวว่า “การรัดเท้าที่หญิงจีนนิยมทำกันปรากฏช่วงปี ค.ศ. ๙๖๐-๑๒๗๙ หรือช่วงราชวงศ์ซ่ง” ขณะเดียวกันนักประวัติศาสตร์บางคนสันนิษฐานว่า ได้รับการนิยมมากที่สุดในทุกชนชั้นวรรณะ แม้กระทั่งหญิงแพศยาในสมัยราชวงศ์หมิง (ค.ศ. ๑๓๖๘-๑๖๔๔) และแพร่หลายทั่วไปในบรรดาหญิงเผ่าฮั่น ในแมนจูภายใต้การปกครองของราชวงศ์ฉิง (ค.ศ. ๑๖๔๔-๑๙๑๑)

การรัดเท้ายิ่งอายุน้อยยิ่งทำง่าย เพราะกระดูกยังอ่อน แต่เด็กที่ถูกรัดเท้าตั้งแต่อายุยังน้อยนั้น เมื่อแก่ลงมักเดินไม่ค่อยได้ เด็กอายุระหว่าง ๔-๘ ขวบเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุดในการเริ่มรัดเท้า เนื่องจากหลังจากอายุ ๑๐ ขวบ เท้าเด็กจะขยายตัวอย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ดี นับตั้งแต่เริ่มรัดเท้าเด็กจะเจ็บปวดเป็นเวลา ๔-๕ ปีกว่าจะเข้าที่เข้าทาง เป็นช่วงชีวิตที่เจ็บปวดมากที่สุดของเด็กหญิงที่ถูกบังคับให้รัดเท้า ไม่เพียงจบลงแค่นี้ เธอเหล่านี้ต้องมัดไว้ตลอดเวลาเพื่อไม่ให้เท้าขยายขึ้นมา ผ้าที่มัดเท้าไว้แก้ได้ก็เมื่อล้างเท้าเท่านั้น ซึ่งในการล้างเท้าแต่ละครั้งต้องใช้เวลาเป็นชั่วโมง

ภาพเอ็กซเรย์เท้าที่ถูกรัดให้เล็กตามประเพณีการรัดเท้าชองจีนสมัยโบราณ (ภาพจากเว็บไซต์ http://www.visiontimes.com/2013/07/26/chinese-foot-binding-in-pictures-some-photos-are-graphic.html)

นางหลินเล่าว่าในช่วงราชวงศ์ฉิง ผู้หญิงเท้าเล็กถือได้ว่าเป็นผู้หญิงที่สวยงาม เป็นผู้หญิงที่ชายจีนปรารถนาที่จะแต่งงาน ทำให้หญิงจำเป็นต้องรัดเท้าเพื่อให้ชายชาตรีมาสู่ขอ ถึงขนาดมีการพูดกันว่า “หญิงควรมีเท้าเบาบางเล็ก แหลม โค้ง หอม นุ่ม และที่สำคัญเท่าทั้ง ๒ ข้างเท่ากัน” 

นายโคอธิบายว่า ประเพณีการรัดเท้ามีบทบาทอย่างมากในสถาปัตยกรรมจีน เช่น ในหลูกังตอนกลางของไต้หวัน มีทางเดินแคบสร้างไว้สำหรับหญิง ไม่เพียงแค่นี้ หญิงเท้าเล็กยังเป็นสัญลักษณ์แห่งความสงบสุขของครอบครัว เข้ากับอุปนิสัยหญิงจีนโบราณที่มักจะชอบอยู่ในบ้าน ทั้งนี้หญิงเท้าเล็กอยู่ในบ้านตลอดเวลา ไม่สามารถไปหาชายคนอื่น เพราะเดินไปข้างนอกไม่เคยได้

การเดินของหญิงเท้าเล็กยังดึงดูดความสนใจของชายได้ เพราะเดินนุ่มนวล ทรงตัว สวยงาม เซ็กซี่ เป็นการเดินที่ปลุกใจอารมณ์กว่าหญิงปกติ ถึงช่วงปี ค.ศ. ๑๙๓๐ หญิงสาวในมณฑลชานซีมีการประกวดเท้าเล็ก โดยหญิงสาวจะนั่งโชว์เท้าบริเวณหน้าบ้าน จะมีกรรมการเดินมาตรวจผ่านบ้าน 


(คัดลอกส่วนหนึ่งจากบทความ “ประเพณีรัดเท้าหญิงในจีน” เขียนโดย ธันวา ทิน ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม กุมภาพันธ์ ๒๕๔๓)


เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์ เมื่อ 2 สิงหาคม พ.ศ.2561