ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม ฉบับกรกฎาคม 2548 |
---|---|
ผู้เขียน | ส.พลายน้อย |
เผยแพร่ |
คำว่า “กระดาษ” และ “สมุด” สองคำนี้เป็นคำเก่าที่มีคนถามอยู่เนือง ๆ แสดงว่าใช้จนลืมนึกถึงที่มาของคำไม่ออก ถ้าเก็บมารวมไว้ด้วยกันก็จะช่วยความจำได้บ้าง
ในตำราเก่าเชื่อกันว่า “กระดาษ” เป็นภาษาโปรตุเกส แต่เมื่อตรวจดูแล้ว โปรตุเกสเรียกกระดาษว่า Papel ครั้งหนึ่งไปเห็นดอกเฟื่องฟ้าที่บาหลี ถามเขาว่าดอกอะไร เขาตอบฟังได้ว่ากระตัส
เปิดพจนานุกรมดูจึงรู้ว่า kertas นอกจากเป็นชื่อดอกไม้ที่มีกลีบบางเหมือนกระดาษแล้ว ยังเป็นชื่อเรียกกระดาษอีกด้วย
จึงเชื่อว่าคำ “กระดาษ” ของเรามาจากคำมลายู เพราะสมัยโบราณเราใช้ล่ามมลายู แต่จะเรียกมาแต่ครั้งใดไม่พบหลักฐาน
ในจดหมายเหตุฝรั่งครั้งรัชกาลที่ 1 มีเรื่องเกี่ยวกับกระดาษอยู่นิดหนึ่ง คือ มองเซนเยอร์คูเดได้เข้าเฝ้ารัชกาลที่ 1 เมื่อ พ.ศ. 2327 และได้ถวาย “กระดาษอย่างดีของยุโรปหลายแผ่น ของเหล่านี้พระเจ้ากรุงสยามโปรดมาก”
กระดาษดังกล่าวเข้าใจว่าจะเป็นกระดาษที่เราเรียกกันว่า “กระดาษฝรั่ง” นั่นเอง คงจะเป็นของแปลกอย่างหนึ่ง ต่างจากกระดาษของไทย
และในเวลาต่อมาปรากฏว่า มองเซนเยอร์กาโนด์ (เข้าใจว่าจะเป็นคนเดียวกับสังฆนายกอาร์โนด์ อังตวลการ์โนลด์ ที่เดินทางมาจากปีนัง เมื่อ พ.ศ. 2337 ได้มาพำนักอยู่ที่โบสถ์ซางตาครูสได้พิมพ์หนังสือ Khamson Christang เมื่อ พ.ศ. 2339) ได้ตั้งโรงพิมพ์ในบางกอก ได้ของให้ทางฝรั่งเศสส่งตัวพิมพ์และหมึกพิมพ์เข้ามา “ด้วยเวลานี้ข้าพเจ้ามีคนเข้ารีดที่อ่านหนังสือฝรั่งได้ถึง 9 คน”
คนเหล่านี้น่าจะเป็นช่างเรียงด้วย ฉะนั้นกระดาษฝรั่งก็น่าจะเริ่มเป็นของนำเข้ามาแต่ครั้งรัชกาลที่ 1 แล้ว ล่ามมลายูก็คงจะเรียกนำขึ้นก่อนว่า “กระตาส” คนไทยก็ขานเรียกรับตามว่า “กระดาษ”
ส่วนคำว่า “สมุด” นั้น พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ (หม่อมเจ้าวรรณไวทยากร) ทรงสันนิษฐานว่ามาจากคำ “สัมปุฏ” ในภาษาสันสกฤต ผ่านทางเขมรที่เรียกว่า “สมบุตร” (ใกล้กับคำทางใต้ที่เรียก “บุด”) และไทยใช้ “สมุด” มีบรรดาศักดิ์ขุนนางเก่า เรียกกันว่า “พระศรีกาฬสมุด” แปลตามตัวก็ว่าสมุดดำ
กล่าวกันว่าขุนนางที่อยู่ใกล้พระเจ้าอยู่หัวจะมี “สมุดถือเฝ้า” เพื่อจดกระแสรับสั่งต่าง ๆ เป็นสมุดดำเขียนด้วยดินสอขาว มีขนาดเล็กกว่าสมุดไทยทั่ว ๆ ไป
มีผู้ตั้งปัญหาว่า ทำไมต้องเรียกสมุดข่อยแบบโบราณว่าสมุดไทย ในเมื่อเป็นสมุดที่ไทยทำ และรู้จักกันดีอยู่แล้วและมาเรียกสมุดไทยแต่เมื่อไร
คำถามนี้ต้องตอบแบบเดาว่า เราเรียกสมุดไทยเมื่อมีสมุดฝรั่งเกิดขึ้นแล้ว เป็นการเรียกเพื่อให้เห็นความแตกต่าง และที่น่าสังเกตก็คือใช้เรียกเฉพาะหนังสือที่พิมพ์เป็นสมุดฝรั่ง ที่ได้ต้นฉบับมาจากสมุดไทย ตามที่พิมพ์บอกไว้ท้ายเล่มว่า “จบเล่ม 13 สมุดไทย” เป็นต้น คือ สมุดไทย 1 เล่ม จะพิมพ์เป็นสมุดฝรั่งได้ 30 หน้า โรงพิมพ์สมัยแรกจะพิมพ์เล่มต่อเล่ม จนกว่าจะหมดเรื่องในสมุดไทย
ท่านที่เคยอ่านหนังสือบทกลอนเล่มละสลึงคงจะสังเกตเห็น ต้นแบบที่เรียกน่าจะเป็นหมอบรัดเลย์ หรือครูสมิธ คนใดคนหนึ่ง
อ่านเพิ่มเติม :
- ไฉนคำว่า “พิพิธภัณฑ์” ในยุคแรก ไม่ได้หมายถึง สถานที่เก็บโบราณวัตถุ?
- คำว่า มรสุม มาจากไหน? เปิดที่มาชื่อลมประจำฤดู 2 ชนิดของไทย
- “เกร็ด” นั้นสำคัญไฉน? ทำไมสถานที่ในจังหวัดนนทบุรีมักมีคำว่า “เกร็ด”
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 24 กรกฎาคม 2561