ไฉนคำว่า “พิพิธภัณฑ์” ในยุคแรก ไม่ได้หมายถึง สถานที่เก็บโบราณวัตถุ?

ซุ้มจัดแสดงของสยาม ในงาน The World's Columbian Exposition 1893 หรือ พ.ศ. 2436

สโมสรศิลปวัฒนธรรมเสวนา “พิพิธภัณฑสถานไทย : สมัยแรกและปัจจุบัน” เมื่อวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2565 วิทยากรโดย คุณนิตยา กนกมงคล ผู้อำนวยการสำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ  และ ผศ. ดร. กัณฐิกา ศรีอุดม มหาวิทยาลัยรังสิต ได้พูดคุยแลกเปลี่ยนความรู้เกี่ยวกับกิจกรรมการพิพิธภัณฑ์ของไทยในยุคแรกเริ่ม ฉายให้เห็นถึงพัฒนาการและการวิวัฒน์ที่มาเป็นพิพิธภัณฑสถานดังที่เห็นกันในปัจจุบัน

งานสโมสรศิลปวัฒนธรรมเสวนา “พิพิธภัณฑสถานไทย : สมัยแรกและปัจจุบัน” เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 24 มีนาคม 2565 ณ ห้องประชุมดำรงราชานุภาพ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

แต่ทราบหรือไม่ว่า “พิพิธภัณฑ์” ในสมัยแรกเริ่มนั้น ไม่ได้มี “Concept” หรือแนวคิดอย่างที่เห็นกันในปัจจุบันว่า เป็นสถานที่ที่รวบรวมโบราณวัตถุมาจัดแสดงเพื่อให้ความรู้ทั้งทางด้านประวัติศาสตร์ สังคม วัฒนธรรม ฯลฯ

คุณนิตยา อธิบายว่า ภัณฑ์ แปลว่า สิ่งของ พิพิธ แปลว่า หลากหลาย รวมความคือ สิ่งของที่มีความหลากหลาย พิพิธภัณฑ์จึงแปลว่า สถานที่หรือห้องที่มีการจัดระเบียบสิ่งของที่มีความหลากหลาย ขณะที่ ผศ. ดร. กัณฐิกา กล่าวเสริมว่า พิพิธภัณฑ์ในปัจจุบันจะสื่อความหมายถึงสถานที่ แต่สำหรับในอดีตนั้นจะหมายรวมถึงสถานที่และการจัดงานการแสดงสินค้าด้วย

ผศ. ดร. กัณฐิกา อธิบายว่า ในสมัยรัชกาลที่ 4 คำว่า พิพิธภัณฑ์ ไม่ใช่คำแปลของคำว่า “Museum” เนื่องจากจะมีการเรียกเป็นคำทับศัพท์โดยตรงว่า “มิวเซียม” คำว่า พิพิธภัณฑ์ ในสมัยนั้นจะเกี่ยวข้องกับงาน International Exhibition งานนิทรรศการหรือการแสดงพิพิธภัณฑ์นานาชาติ หรือรู้จักในชื่อ “Expo” ซึ่งสยามได้ส่งสิ่งของไปจัดแสดงยังงานดังกล่าว หลักฐานลายลักษณ์อักษรในสมัยรัชกาลที่ 4 จะเรียกว่า “การแสดงพิพิธภัณฑ์”

งาน Expo มีขึ้นเพื่อแสดงหรือโอ้อวดความเป็นอารยะของแต่ละชาติผ่านสิ่งของต่าง ๆ บ้างเป็นของเก่าแก่หรือโบราณวัตถุ เพื่อเชื่อมโยงถึงอดีตอันรุ่งเรืองของชาตินั้น ๆ ที่มีประวัติศาสตร์มาอย่างยาวนาน บ้างก็เป็นสินค้าทันสมัย อันเป็นผลจากการปฏิวัติอุตสาหกรรม เพื่อแสดงความมั่งคั่งร่ำรวยของชาตินั้น ๆ 

โดยงาน Expo ที่จัดขึ้นในต่างประเทศนั้น รัชกาลที่ 4 ก็โปรดเกล้าฯ ให้ส่งสิ่งของไปจัดแสดงหลายครั้ง เช่น พ.ศ. 2405 ที่อังกฤษ และ พ.ศ. 2410 ที่ฝรั่งเศส ซึ่งทำให้นามของสยามประเทศเป็นที่รู้จักมากขึ้น นัยยะหนึ่งก็เป็นการแสดงความเป็นอารยะของสยามไปนำสู่สายตาของชาวตะวันตก

อาคารหลักในงานมหกรรมโลก Exposition Universelle ณ กรุงปารีส ฝรั่งเศส ค.ศ. 1867 ภาพจาก wikipedia

สำหรับการจัดแสดงสิ่งของภายในแผ่นดินสยามนั้น สมัยรัชกาลที่ 4 จะเป็นไปในลักษณะของการจัดเก็บสิ่งของส่วนพระองค์ รวมถึงเครื่องบรรณาการจากต่างประเทศ รวบรวมไว้ ณ พระที่นั่งประพาสพิพิธภัณฑ์ ในพระอภิเนาว์นิเวศน์ ภายหลังพื้นที่บริเวณนี้ทรุดโทรม จึงมีการรื้อพระที่นั่งลงหลายหลัง สิ่งของทั้งหลายเหล่านั้นจึงนำมาเก็บรักษายังสถานที่อื่นในพระบรมมหาราชวัง

ต่อมา ถึงสมัยรัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้นำสิ่งของเหล่านั้นมาไว้ที่หอคองคอเดีย หรือศาลาสหทัยสมาคมในปัจจุบัน โดยมีการจัดนิทรรศการชั่วคราวขึ้น เรียกว่า “ตั้งมิวเซียม” เมื่อ พ.ศ. 2517 เนื่องในวาระงานเฉลิมพระชนมพรรษา 20 กันยายน พ.ศ. 2417 นี่จึงนับเป็นครั้งแรกในแผ่นดินสยามที่มีการนำสิ่งของมาจัดแสดงให้มหาชนคนสามัญได้ชมชั่วคราวเป็นครั้งแรก เรียกได้ว่าเป็น “Public Museum” อย่างแท้จริง ดังนั้น จึงได้ยึดเอาวันที่ 19 กันยายน ซึ่งเป็นวันที่เปิดให้เข้าชมงานดังกล่าวเป็นวันแรก ให้เป็น “วันพิพิธภัณฑ์ไทย”

ถึง พ.ศ. 2425 คราวฉลองสมโภชพระนครครบ 100 ปี ก็มีการจัดงาน “นาชาเนล เอกษหิบิเชน” ลักษณะคล้ายคลึงกับงาน Expo ในต่างประเทศ ที่มีการรวบรวมและจัดแสดงสิ่งของนานาชนิด ทั้งที่เป็นสิ่งของเก่าแก่และใหม่ทันสมัย งานนี้ก็จัดขึ้นเพื่อแสดงความศิวิไลซ์ของสยามอีกเช่นเดียวกัน ภายในงานนอกจากมีการแสดงสิ่งของต่าง ๆ แล้ว ยังมีกิจกรรมและการแสดงรื่นเริงอื่น ๆ เพื่อเป็นการดึงดูดมหาชนให้เข้าร่วมงานอีกด้วย

ประรำไม้ ณ ท้องสนามหลวง ในงาน “นาชาเนล เอกษหิบิเชน” พ.ศ. 2425 คราวฉลองสมโภชพระนคร 100 ปี

แต่หลังการเสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ 1 รัชกาลที่ 5 ทอดพระเนตรการพิพิธภัณฑ์ในยุโรปหลายประเทศ จึงทรงเข้าพระทัยแนวคิด ความหมาย และความสำคัญของกิจกรรมจึงส่งสิ่งของไปจัดแสดงในต่างประเทศให้น้อยลง แต่ภายในพระราชอาณาจักรนั้นได้จัดงานในลักษณะนี้ขึ้นเป็นประจำทุกปี นั่นคือ งานวัดเบญจมบพิตร ที่มีการแสดงสิ่งของ ประกวดสิ่งของ และออกร้านขายสินค้า ครั้นหลังจากเสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ 2 แล้ว พระองค์ก็ทรงนำสิ่งของที่ได้จากยุโรปมาจัดแสดงในงาดวัดเบญจมบพิตรอีกด้วย

พิพิธภัณฑ์ในยุคแรกเริ่มจึงหมายถึงการจัดแสดงสินค้าเป็นสำคัญ กว่าที่ “การจัดแสดง” และ “การอนุรักษ์” จะหลอมรวมความหมายของคำว่า พิพิธภัณฑ์ในยุคหลังนั้นก็ล่วงเข้าสู่สมัยรัชกาลที่ 6-7 แล้วกิจการพิพิธภัณฑ์ กิจการพิพิธภัณฑสถาน ที่อนุรักษ์และจัดแสดงโบราณวัตถุ ตรวจรักษาของโบราณในพระราชอาณาเขต ดังที่เข้าใจกันในปัจจุบันนี้ มีพัฒนาการความเป็นมาอย่างไร ติดตามรับชมต่อได้ในสโมสรศิลปวัฒนธรรมเสวนา : “พิพิธภัณฑสถานไทย : สมัยแรกและปัจจุบัน” (คลิก)

การจัดแสดงสินค้าจากสยาม ในงาน The Centennial International Exposition 1876 ตรงกับ พ.ศ. 2419

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 25 มีนาคม 2565