ผู้เขียน | สุทธาสินี จิตรกรรมไทย เจียจันทร์พงษ์ |
---|---|
เผยแพร่ |
เราอาจคิดว่า พิพิธภัณฑ์แห่งแรกของไทย คือ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ซึ่งเปิดอย่างเป็นทางการใน พ.ศ. 2477 แต่ที่จริงแล้วไม่ใช่ แล้วเป็นที่ไหนกัน?
ก่อนอื่นเริ่มจากความหมายของคำว่า “พิพิธภัณฑ์” กันก่อน
ใน สโมสรศิลปวัฒนธรรมเสวนา “พิพิธภัณฑสถานไทย : สมัยแรกและปัจจุบัน” ที่ศิลปวัฒนธรรมจัดขึ้นในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2565 นิตยา กนกมงคล ซึ่งขณะนั้นเป็นผู้อำนวยการสำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อธิบายความหมายคำนี้ไว้ว่า
“ภัณฑ์” แปลว่า สิ่งของ “พิพิธ” แปลว่า หลากหลาย รวมความคือ สิ่งของที่มีความหลากหลาย พิพิธภัณฑ์จึงแปลว่า สถานที่หรือห้องที่มีการจัดระเบียบสิ่งของที่มีความหลากหลาย
ด้าน ผศ. ดร. กัณฐิกา ศรีอุดม อาจารย์วิทยาลัยศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต เสริมว่า พิพิธภัณฑ์ในปัจจุบันจะสื่อความหมายถึงสถานที่ แต่ในอดีตจะหมายรวมถึงสถานที่ และการจัดงานการแสดงสินค้าด้วย
แล้วบอกอีกว่า ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คำว่าพิพิธภัณฑ์ ไม่ใช่คำแปลของคำว่า “Museum” เนื่องจากจะมีการเรียกเป็นคำทับศัพท์โดยตรงว่า “มิวเซียม”
คำว่าพิพิธภัณฑ์ในสมัยนั้น จะเกี่ยวข้องกับงาน International Exhibition งานนิทรรศการหรือการแสดงพิพิธภัณฑ์นานาชาติ ที่รู้จักในชื่อ “Expo” ซึ่งสยามได้ส่งสิ่งของไปจัดแสดง หลักฐานลายลักษณ์อักษรในสมัยรัชกาลที่ 4 จะเรียกว่า “การแสดงพิพิธภัณฑ์”
งาน Expo มีขึ้นเพื่อแสดงหรือโอ้อวดความเป็นอารยะของแต่ละชาติผ่านสิ่งของต่างๆ บ้างเป็นของเก่าแก่หรือโบราณวัตถุ เพื่อเชื่อมโยงถึงอดีตอันรุ่งเรืองของชาตินั้นๆ ที่มีประวัติศาสตร์มาอย่างยาวนาน บ้างก็เป็นสินค้าทันสมัย อันเป็นผลจากการปฏิวัติอุตสาหกรรม เพื่อแสดงความมั่งคั่งร่ำรวยของชาตินั้น
แล้ว “พิพิธภัณฑ์แห่งแรกของไทย” คือที่ไหน ตั้งขึ้นเมื่อไหร่
หอสมุดแห่งชาติรัชมังคลาภิเษก จันทบุรี ระบุว่า พิพิธภัณฑ์แห่งแรกของไทย เกิดขึ้นครั้งแรกสมัยรัชกาลที่ 4 ที่ทรงริเริ่มดำเนินการรวบรวมวัตถุที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรม โปรดให้จัดพิพิธภัณฑสถานส่วนพระองค์ขึ้นที่ “พระที่นั่งราชฤดี” ต่อมาทรงโปรดให้ย้ายสิ่งของจัดแสดงไปไว้ยัง “พระที่นั่งประพาสพิพิธภัณฑ์” ในหมู่พระอภิเนาว์นิเวศน์
เมื่อถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้ย้ายโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และสิ่งของต่างๆ จากพระที่นั่งประพาสพิพิธภัณฑ์ ไปจัดแสดงในหอมิวเซียม ที่ “หอคองคอเดีย” ซึ่งเป็นอาคารหลังใหม่ในพระบรมมหาราชวัง มีพิธีเปิดหอมิวเซียม หรือพิพิธภัณฑสถานหอคองคอเดีย วันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2417
พิพิธภัณฑสถานหอคองคอเดีย เป็นพิพิธภัณฑ์ทั่วไป มี พระยาภาสกรวงษ์ (พร บุนนาค) นายทหารในกรมทหารมหาดเล็ก เป็นหัวหน้าฝ่ายไทย และมี นายเฮนรี อาลาบาสเตอร์ (ต้นตระกูล เศวตศิลา) เป็นผู้อำนวยการจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ให้เป็นแบบสากล
การจัดแสดงที่นี่ แบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ ศิลปะโบราณวัตถุของไทย ศิลปะโบราณวัตถุส่วนพระมหากษัตริย์ และศิลปะโบราณวัตถุจากต่างประเทศ ซึ่งนายเฮนรียังเป็นผู้ริเริ่มจัดทำแค็ตตาล็อกบัญชีภาษาอังกฤษ และภาษาไทยด้วย
หลังจากจัดแสดงสิ่งของต่างๆ ที่หอคองคอเดียได้ราว 13 ปี ใน พ.ศ. 2430 รัชกาลที่ 5 ก็โปรดให้ย้ายมิวเซียมไปจัดตั้งที่ “พระราชวังบวรสถานมงคล” ที่ประทับของกรมพระราชวังบวรสถานมงคล หรือ “วังหน้า” กรุงรัตนโกสินทร์ (หลังจากสมเด็จกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าในรัชกาลที่ 5 ทิวงคตเมื่อ พ.ศ. 2428 รัชกาลที่ 5 ก็ทรงยกเลิกตำแหน่งวังหน้า และทรงสถาปนาตำแหน่งมกุฎราชกุมารขึ้น เพื่อความชัดเจนในการเป็นรัชทายาท)
การจัดแสดงที่พระราชวังบวรสถานมงคล ใช้พระที่นั่งส่วนหน้า 3 องค์ เป็นที่จัดแสดง คือ พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ และพระที่นั่งอิศราวินิจฉัย
จวบจนรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ได้พระราชทานอาคารหมู่วิมานทั้งหมดในวังหน้าให้เป็นพิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนคร และมีการประกาศตั้งเป็น พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เมื่อ พ.ศ. 2477
พิพิธภัณฑ์แห่งแรกของไทย จึงเกิดขึ้นสมัยรัชกาลที่ 4 และมีพัฒนาการมาเรื่อยๆ จนเป็นพิพิธภัณฑ์ที่จัดแสดงสิ่งของทรงคุณค่า บอกเล่าประวัติศาสตร์แต่ละยุคสมัยและสะท้อนแนวคิดการจัดวางอย่างที่เห็นในปัจจุบัน
อ่านเพิ่มเติม :
- รู้จักพระอิสริยยศ กรมพระราชวังบวรสถานมงคล “วังหน้า” ว่าที่กษัตริย์องค์ต่อไป
- ไฉนคำว่า “พิพิธภัณฑ์” ในยุคแรก ไม่ได้หมายถึง สถานที่เก็บโบราณวัตถุ?
- สยามรัฐพิพิธภัณฑ์ งานเอ็กซ์โประดับชาติ ที่เกิดจาก “ความตั้งใจ” ของรัชกาลที่ 6 จัดแสดงอะไรบ้าง
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
หอสมุดแห่งชาติรัชมังคลาภิเษก จันทบุรี. “วันพิพิธภัณฑ์ไทย”.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 10 มิถุนายน 2567