ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม ฉบับกรกฎาคม 2561 |
---|---|
ผู้เขียน | อรวินท์ ลิขิตวิเศษกุล |
เผยแพร่ |
“ศิลปกรรมอยุธยา” ตามเมืองต่างๆ ในความทรงจำของช่างเชื้อสาย “โยเดีย” ปรากฏที่ไหน เป็นอย่างไรบ้าง
การหลอมรวมและแลกเปลี่ยนกันทางวัฒนธรรม เป็นปฏิสัมพันธ์ซึ่งเกิดขึ้นเสมอในสังคมมนุษย์ ไม่ว่าจะด้วยเงื่อนไขใด เมื่อมีการอพยพหรือโยกย้ายถิ่นฐาน สภาพแวดล้อมและวิถีความเป็นอยู่ภายในชุมชนย่อมเป็นแรงผลักดันพฤติกรรมของบุคคล เมื่อเกิดความคุ้นชิน จึงเริ่มยอมรับปรับเปลี่ยน และผสมผสานจนกระทั่งเชื่อมโยงกันได้ในที่สุด
เฉกเช่นผู้คนจากกรุงศรีอยุธยา ซึ่งเคยอาศัยอยู่ร่วมกันกับผู้คนจากหลากหลายเชื้อชาติ อาทิ ชาวฉาน ลีนซีน (ล้านช้าง) ตะโย๊ะ (จีน) กะหยิ่น (กะเหรี่ยง) เต้ากะแต ยูน (เชียงใหม่) และชาวพม่า เมื่อราวต้นพุทธศตวรรษที่ 23 ณ บริเวณเมืองสะกาย เมืองอังวะ อีกทั้งยังกระจัดกระจายออกไปตามภูมิภาคอื่นๆ
จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ของพม่าในสมัยยองยาน (กฎอเม่งดอ) ได้ระบุถึงการแบ่งกลุ่มประชากร โดยจัดสรรให้ชาว “โยดยา” อยู่ในกลุ่มที่ทางการพม่าเรียกว่า “ชาน” หรือ “ฉาน” (Shan) ถือเป็นผู้คนอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งรวมอยู่ในเมืองพม่า ณ ขณะนั้น
เมืองที่มีการค้นพบหลักฐานศิลปกรรมอยุธยา
จากการเก็บข้อมูลเท่าที่ได้จากการสำรวจพบว่า หลักฐาน “ศิลปกรรมอยุธยา” ที่คาดว่ามีอิทธิพลของงานช่างจากกรุงศรีอยุธยา ปรากฏกระจัดกระจายอยู่ตามเมืองต่าง ๆ เช่น เมืองพะโค สะกาย อังวะ มินบู อมรปุระ เซกู มนโยว เมืองมัณฑะเลย์ ทั้งที่เคยเป็นเมืองหลวงเก่าของพม่า และพื้นที่รกร้างในเมืองห่างไกล
มีการค้นพบข้อมูลทั้งในรูปแบบของคำบอกเล่า เอกสารโบราณ เช่นสมุดดำ และงานศิลปกรรมซึ่งมีหลายประเภทดังนี้ อาทิ งานจิตรกรรมฝาผนังที่เมืองสะกาย เมืองมินบู รวมถึงเมืองอมรปุระ ประเภทงานปูนปั้นประดับผนัง งานแกะสลักเครื่องไม้ในวังหงสาวดีเ มืองพะโค และวัดร้างในเมืองอังวะ งานจำหลักหินทรายเรื่องรามเกียรติ์ในเมืองมนโยว ตัวอักษรไทยพบในงานจิตรกรรมฝาผนัง และในงานพระพุทธรูปองค์เล็กในเมืองอมรปุระ เป็นต้น
อิทธิพลของศิลปะแบบอยุธยาตอนปลาย ในศิลปกรรมเมืองพม่า
งานประเภทงานจิตรกรรมฝาผนัง ปัจจุบันค้นพบหลักฐานที่เป็นประเภทงานจิตรกรรมฝาผนัง ทั้งในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 24 และพุทธศตวรรษที่ 25 แสดงรูปแบบของอิทธิพลอยุธยาอย่างชัดเจนในเมืองสะกายและเมืองมินบู ยกตัวอย่างงานจิตรกรรมฝาผนังภายในวัดมหาเตงดอจี เมืองสะกาย และกู่วุดจีกูพญา เมืองมินบู
อีกทั้งประเภทที่พบว่า ปรากฏอิทธิพลที่มีการผสมผสานระหว่างงานช่างแบบพม่าปะปนร่วมกับศิลปะแบบอยุธยา เช่น ในวัดพญาตงซู และเจติยวิหารจอกตอจี เมืองอมรปุระ ซึ่งจะพยายามสรุปแนวคิดให้เห็นได้อย่างพอสังเขป ดังจะยกตัวอย่างต่อไปนี้คือ แนวคิดเรื่องอิทธิพลไทยในงานจิตรกรรมฝาผนังในเมืองสะกาย เมืองมินบู และเมืองอมรปุระ
หลักฐานงานจิตรกรรมฝาผนังที่ค้นพบ ได้แก่ อุโบสถวัดมหาเตงดอจี เมืองสะกาย กู่วุดจีกูพญา เมืองมินบู ภายในวัดพญาตงซู เมืองอมรปุระ และภายในเจติยวิหารจอกตอจี เมืองอมรปุระ โดยสามารถสังเกตได้จากรูปแบบ ซึ่งสรุปได้ดังนี้คือ
- การใช้ลักษณะของสีแดงชาด ในงานจิตรกรรมฝาผนัง
- การใช้เส้นสินเทา หรือแถบหยักฟันปลา คั่นแบ่งภาพในงานจิตรกรรม
- ลวดลายพันธุ์พฤกษา หรือลายกระหนกแบบอยุธยาตอนปลาย
- ลักษณะการวาดเทพนม และเครื่องทรงของบุคคลชั้นสูง
- ลักษณะการวาดภาพปราสาท (เรือนยอด) แบบปลายอยุธยาในงานจิตรกรรม
- ภาพของพระอดีตพุทธ พระพักตร์แบบปลายอยุธยา
- ลักษณะการวาดนักสิทธ์ วิทยาธร เหาะเหินเดินอากาศอยู่บนท้องฟ้า (ก้อนเมฆ)
- การวาดจำลองภาพของเจดีย์ทรงเครื่อง แบบอยุธยาตอนปลาย
แนวคิดเรื่องอิทธิพล ศิลปกรรมอยุธยา ในงานปูนปั้น งานแกะสลักไม้และงานศิลาจำหลักหินทรายเรื่องรามเกียรติ์ ในพะโค เมืองอังวะ และเมืองมนโยว
อิทธิพลแบบปลายอยุธยาปรากฏการผสมผสานกับรูปแบบงานช่างของพม่า นอกจากจะสืบค้นได้จากการงานจิตรกรรมฝาผนังแล้ว ยังพบได้อีกในหลักฐานงานปูนปั้น ภาพสมุดข่อย (พุทธศตวรรษที่ 24 – 25) ภาพศิลาจำหลักเรื่องรามเกียรติ์ งานแกะสลักไม้ ลวดลายคล้ายกระจังที่ประดับบุษบก ธรรมาสน์ในประเทศไทย หลักฐานดังยกตัวอย่างมานี้ สามารถเปรียบเทียบได้กับ ศิลปกรรมอยุธยา ในประเทศไทย ซึ่งกำหนดอายุได้ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 22-23 หรือจนกระทั่งงานในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 24 ยกตัวอย่าง ดังนี้ ลักษณะของลายกระจังแบบอยุธยาตอนปลาย พบในศิลปกรรมเมืองพม่า อาทิ
แผ่นแกะสลักงานเครื่องไม้ ภายในวังหงสาวดี เมืองพะโค ลักษณะรูปแบบของลายกระจังใกล้เคียงกับลายกระจังบุษบก ในงานจิตรกรรมฝาผนังภายในวัดมหาเตงดอจี เมืองสะกาย ซึ่งสอดคล้องและอาจเปรียบเทียบได้กับงานเครื่องไม้ “กระจังปฏิญาณ” ประดับบุษบก หรือธรรมาสน์ ศิลปะแบบปลายอยุธยา–ต้นรัตนโกสินทร์เป็นต้น
เจดีย์จุฬามณี งานปูนปั้นประดับผนังวัดร้าง ในเมืองอังวะ
จากการเก็บข้อมูลสำรวจซึ่งนำโดยสมาคมสถาปนิกสยามและนักวิชาการชาวพม่า ได้มีการค้นพบหลักฐานใหม่ คือ งานปูนปั้น ภาพของเจดีย์ทรงสี่เหลี่ยมเพิ่มมุมบนฐานสิงห์ (เจดีย์แบบย่อมุม) และภาพจำลองเขาสัตบริภัณฑ์ อัตลักษณ์สำคัญที่สอดคล้องกับงานสถาปัตยกรรมแบบอยุธยา ราวปลายพุทธศตวรรษที่ 23 พบได้ในประเทศไทย เช่น เจดีย์รายวัดภูเขาทอง เจดีย์รายวัดโพธิ์ประทับช้าง จังหวัดพิจิตร ฯลฯ อิทธิพลดังกล่าวพบในงานปูนปั้นจำลองภาพของเจดีย์จุฬามณี บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ภายในวัดร้างเมืองอังวะ เป็นตัวอย่างงานปูนปั้นที่สำคัญ และมีการค้นพบเพียงแห่งเดียวในพม่าในปัจจุบัน
อ่านเพิ่มเติม :
- ตามรอย “สมเด็จพระเจ้าอุทุมพร” จากกรุงศรีอยุธยา ถึงกรุงอังวะ
- สถูปเจ้าฟ้าอุทุมพร และลูกหลานชาวโยดะยาในพม่า “คุณหมอทิน มอง จี”
- รูปหล่อสัมฤทธิ์เจ้านายสตรีสมัยอยุธยา ฤาเป็นพระราชนัดดาในพระเจ้าแผ่นดิน?
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
หมายเหตุ : เนื้อหานี้คัดลอกส่วนหนึ่งจากบทความ “อิทธิพลของศิลปะแบบอยุธยาตอนปลายในศิลปกรรมเมืองพม่า” เขียนโดย อรวินท์ ลิขิตวิเศษกุล ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม กรกฎาคม 2561
* อ่านเพิ่มเติมได้จากหนังสือ “รอยศิลป์ อยุธยาในพม่า” อรวินท์ ลิขิตวิเศษกุล, สมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ : บริษัท ศิริวัฒนาอินเตอร์พริ้น จำกัด (มหาชน)
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 7 กรกฎาคม 2563