
ผู้เขียน | รศ. ดร. ปรีดี พิศภูมิวิถี |
---|---|
เผยแพร่ |
ในบรรดาหลักฐานที่เป็นศิลปวัตถุสมัยอยุธยา เกือบทั้งหมดเป็นรูปเคารพ เช่น พระพุทธรูป เทวรูปในศาสนาต่างๆ จึงเป็นเหตุให้ใช้ศิลปวัตถุเหล่านี้ในการกำหนดอายุ หรือสร้างแนวทางในการกำหนดอายุว่าตลอดระยะเวลากว่า 400 ปีนั้น สามารถแบ่งยุคศิลปะอยุธยาได้อย่างไร อย่างไรก็ดีศิลปวัตถุอื่นนั้น พบจำนวนน้อยมาก สูญหาย ถูกทำลาย หรือถูกลักขโมยไปก็มี การพบศิลปวัตถุอื่นนอกจากพระพุทธรูปจึงเป็นเรื่องอันดีที่จะช่วยให้เห็นภาพของศิลปกรรมอยุธยาได้ชัดเจนขึ้น
เมื่อปี พ.ศ. 2465 ศาสตราจารย์ยอร์จ เซเดส์ ภัณฑารักษ์หอพระสมุดวชิรญาณ ได้เสนอบทความภาษาฝรั่งเศสเรื่องรูปเคารพของเจ้านายสตรีสมัยอยุธยา ในวารสารสยามสมาคม ปีที่ 16 เล่ม 1 ไว้อย่างน่าสนใจ เพราะได้ใช้ข้อมูลทางกฎหมายตราสามดวงมาอธิบายลักษณะรูปทรง บทความนี้ยังไม่ได้แปลเป็นภาษาไทยจนปัจจุบัน ผู้เขียนบทความจึงได้ศึกษา แปล และค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อนำไปสู่ข้อสังเกตที่ว่าปัจจุบันรูปหล่อนี้ยังอยู่ในประเทศไทยหรือไม่ (ในส่วนข้อสังเกตนั้น สามารถหาอ่านเพิ่มเติมได้ใน ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 36 ฉบับที่ 7 พฤษภาคม 2558)

บทแปล ข้อสังเกตว่าด้วยรูปหล่อเจ้านายฝ่ายในสมัยอยุธยา
โดย ศาสตราจารย์ยอร์จ เซเดส์
ภัณฑารักษ์หอพระสมุดวชิรญาณ
กฎมณเฑียรบาลหรือกฎหมายสำหรับการรักษาความปลอดภัยในเขตพระราชวังหลวง ซึ่งตราขึ้นเมื่อ ค.ศ. 1458 ในรัชกาลสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถนั้น มีเนื้อความอย่างรวบรัดที่กล่าวถึงราชประเพณีและเครื่องประดับพระองค์ ซึ่งเป็นกฎเกณฑ์ในยุคดังกล่าวสำหรับเจ้านายฝ่ายหน้าและเจ้านายฝ่ายในในราชสำนัก รวมทั้งยังมีความบางตอนระบุถึงฉลองพระองค์ในพระราชพิธีด้วย
ในกฎหมายมาตราดังกล่าวนี้ ดังที่ นายแพทย์แดนบีช บรัดเลย์ ได้นำมาพิมพ์ไว้ในกฎหมาย 2 เล่ม (เล่ม 2 น. 126-127) ก็ยังมีความยากลำบากในการตีความอยู่ แม้จะเป็นชาวสยามที่รู้หนังสือมากแล้วก็ตาม ความลำบากนี้เกิดจากคำศัพท์ที่เกี่ยวข้องกับเครื่องทรงและเครื่องประดับที่ส่วนใหญ่เป็นภาษาเขมรและเกิดจากปัญหาที่รูปแบบเจ้านายฝ่ายหน้าฝ่ายในสมัยอยุธยาเป็นสิ่งที่หาดูได้ยากยิ่ง
ด้วยเหตุดังนั้น รูปบุคคลที่เราได้ศึกษาในครั้งนี้จึงมีความสำคัญ ทั้งในคุณค่าด้านความงามทางศิลปะและเสน่ห์ที่งดงามของวงหน้าและทรวดทรงที่หล่อขึ้นอย่างประณีตอ่อนช้อย รูปหล่อนี้จึงควรได้รับความสนใจเป็นพิเศษ และเมื่อใช้ข้อมูลจากกฎมณเฑียรบาลในการช่วยตรวจสอบแล้ว ก็จะพบว่าเราสามารถพิจารณากำหนดรูปแบบของรูปหล่อนี้ได้ พร้อมกันนั้น ข้อมูลบางประการที่ยังคลุมเครือก็จะกระจ่างชัดเจนมากขึ้น
รูปหล่อชั้นนี้หล่อจากสัมฤทธิ์สีดำ สูง 42 เซนติเมตร ฐานมีขนาด 27 x 22 เซนติเมตร เป็นสมบัติเดิมของพระยาสุนทรพิมล (เผล่ วสุวัต) ผู้ช่วยอธิบดีกรมฝิ่น หลังจากที่พระยาสุนทรพิมลถึงแก่กรรมแล้ว ได้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของ นาย C. Niel ที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน
ลักษณะทางกายภาพของรูปสัมฤทธิ์นี้ หากพิจารณาแต่แรกจะพบว่าต่างไปจากรูปเทวสตรีอย่างเด่นชัด กล่าวคือ รูปหล่อนี้สวมเสื้อปิดที่บริเวณด้านหน้าอก และบริเวณพระเศียรมีมงกุฎและมวยผม 2 มวย ปรากฏให้เห็น มวยหนึ่งอยู่กลางพระเศียรด้านบน อีกมวยหนึ่งอยู่ที่ท้ายทอยด้านหลัง
หากพิจารณาข้อความในกฎมณเฑียรบาล ซึ่งพรรณนาเครื่องแต่งกายเต็มยศของพระมเหสี และเจ้านายฝ่ายใน ก็จะพบความดังนี้
“พระอรรคมเหสี พระราชเทวี ทรงราโชประโภค มีมกุฎ เกือกทอง อภิรุมสามชั้น พระราชยานมีจำลอง พระราชเทวี พระอรรคชายา ทรงราโชปโภค ลดมงกุฎ ทรงพระมาลามวยหางหงส์ เกือกกำมะหยี่ สักหลาด มีอภิรุมสองชั้น เทวีราชยานมีมกรชู ลูกเธอ เอกโท ทรงพระมาลามวยกลม เสื้อโภค ลายทอง หลานเธอ เอกโท ใส่เศียรเพศ มวยกลม เสื้อโภคแพรดารากรเลว”
รูปสัมฤทธิ์ในที่นี้จึงมิใช่ทั้งพระอรรคมเหสีหรือพระอรรคราชเทวี เพราะว่าไม่ได้ใส่ทั้งมงกุฎยอดแหลม หรือทรงฉลองพระบาท แต่สวมเสื้อ และด้วยเหตุผลเดียวกันนี้ ก็มิใช่รูปของพระราชเทวีหรือพระอรรคชายาด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่พระเศียรมิได้ทรงพระมาลามวยหางหงส์
ในที่นี้ก็คงเหลือเฉพาะเจ้านายสตรีฝ่ายในชั้นพระราชธิดา และพระราชนัดดา ซึ่งทั้งสองชิ้นนี้ ทรงฉลองพระองค์เช่นเดียวกัน และสีมวยผมทรงกลม อย่างไรก็ดี เป็นเรื่องที่ยากลำบากในการที่จะพิจารณาให้ลึกลงไปในรายละเอียดของฉลองพระองค์ว่าเป็นลายทองหรือลายดาวดารากร ซึ่งจะเป็นตัวกำหนดความแตกต่างอย่างชัดเจนของรูปหล่อเจ้านายฝ่ายในนี้ แต่หากพิจารณาตามเนื้อความในมาตราที่ยกมา จะพบว่ามีเครื่องประดับพระเศียรที่มีลักษณะเฉพาะชั้นพระเจ้าหลานเธอเท่านั้นคือ ศิโรเพท (สันสกฤตว่าศิโรเวศ ซึ่งหมายถึงที่คาดศีรษะยอดแหลม) เครื่องศิราภรณ์ชิ้นนี้ก็คงเป็นชิ้นที่ประดับอยู่ที่พระเศียรของรูปสัมฤทธิ์นี้
ด้วยการจำแนกความต่างออกไป ทำให้เราสามารถบรรลุถึงการพิจารณากำหนดลักษณะของรูปสัมฤทธิ์ได้ว่าเป็นรูปสัมฤทธิ์ของเจ้านายชั้นพระเจ้าหลานเธอ พระราชนัดดาในพระเจ้าแผ่นดิน และดังที่ข้าพเจ้าได้กล่าวมาแล้วว่าตัวบทกฎหมายในกฎมณเฑียรบาลได้ให้ข้อมูลอันน่าสนใจในระดับหนึ่งแล้ว เรายังได้ความกระจ่างเพิ่มขึ้นจากรูปสัมฤทธิ์ว่าศัพท์บางคำคือเศียรเพท มวลกลม เสื้อโกด นั้นมีลักษณะเช่นใด
ทั้งหมดนี้คือเหตุผลที่ทำให้ข้าพเจ้าได้พิมพ์เผยแพร่รูปหล่อสัมฤทธิ์ชิ้นนี้ ซึ่งมีเอกลักษณ์เป็นของตนเอง ข้าพเจ้าขอขอบพระทัยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพที่ทรงพระเมตตาชี้แจงให้ข้าพเจ้าทราบข้อความกฎหมายในกฎมณเฑียรบาล และขอขอบคุณนาย C. Niel ที่อนุญาตให้ถ่ายภาพรูปสัมฤทธิ์ชิ้นนี้จากบรรดาสิ่งของสะสมส่วนตัว
(คัดมาบางตอน จาก บทความเรื่อง ตามหารูปหล่อสัมฤทธิ์เจ้านายสตรีสมัยอยุธยาที่หายไป ใน ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 36 ฉบับที่ 7 พฤษภาคม 2558)
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก เมื่อ กันยายน พ.ศ. 2559