ชม “10 ซุ้มประตูชัย” สลักคาถาสุดขลัง ครั้งต้อนรับ ร.7 เสด็จฯ เลียบมณฑลฝ่ายเหนือ

เจ้าแก้วนวรัฐ ขี่ช้างนำเสด็จรัชกาลที่ 7 เข้าสู่เมืองเชียงใหม่ พ.ศ. 2469 ประกอบเรื่อง 10 ซุ้มประตูชัย
เจ้าแก้วนวรัฐ (เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์สุดท้าย) ขี่ช้างนำเสด็จรัชกาลที่ 7 เข้าสู่เมืองเชียงใหม่ พ.ศ. 2469

รัชกาลที่ 7 พระเจ้าแผ่นดินในราชจักรีวงศ์พระองค์แรก ที่เสด็จฯ เลียบมณฑลฝ่ายเหนือ ครั้งนั้นนครเชียงใหม่สร้าง “10 ซุ้มประตูชัย” พร้อมผูก 10 คาถาถวายพระพรเพื่อรับเสด็จ !

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) สยามได้รวมประเทศราชทางตอนบน หรือที่เรารู้จักกันในนาม “อาณาจักรล้านนา” มาอยู่ในระบบการปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาลชื่อว่า “มณฑลลาวเฉียง” และต่อมาเปลี่ยนเป็น “มณฑลพายัพ”

มณฑลพายัพมีอาณาเขตครอบคลุมอดีตดินแดนล้านนา อันประกอบไปด้วย 6 หัวเมืองหลัก คือ เชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน น่าน แพร่ และ เถิน 

ต่อมาในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) มีการจัดตั้งเทศาภิบาลขึ้นใหม่ แยกออกจากมณฑลพายัพเมื่อ พ.ศ. 2458 เพื่อความสะดวกและทั่วถึงในการปกครอง มีเมืองลำปาง แพร่ และน่าน ให้เรียกว่า “มณฑลมหาราษฎร์”

ทว่าตลอดระยะเวลาการปกครองที่ล้านนาหลอมรวมเป็นส่วนหนึ่งของสยาม ยังไม่เคยมีพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใดเสด็จพระราชดำเนินไปยังมณฑลฝ่ายเหนือเลย 

กระทั่งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7) ที่ทรงเป็นพระมหากษัตริย์สยามพระองค์แรก ที่เสด็จฯ เลียบมณฑลฝ่ายเหนือ พร้อมกับสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี

ดังที่ปรากฏใน “จดหมายเหตุเสด็จพระราชดำเนิรเลียบมณฑลฝ่ายเหนือ พระพุทธศักราช ๒๔๖๙” ความว่า 

“…นับว่ายังไม่มีสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินในกรุงรัตนโกสินทร์พระองค์ใดได้เสด็จพระราชดำเนิรไปเลย จริงอยู่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก (บางทีพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยด้วย) และพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จไปแล้วแต่เสด็จไปเมื่อยังมิได้ราชาภิเษกเป็นพระมหากษัตราธิราช เพราะฉะนั้นหากครั้งนี้ได้เสด็จพระราชดำเนิรขึ้นไปยังมณฑลพายัพ ก็ต้องนับว่าพระองค์เป็นสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินในกรุงรัตนโกสินทร์พระองค์แรกที่ได้เสด็จพระราชดำเนิรขึ้นไปยังมณฑลนั้น…”

รัชกาลที่ 7 เสด็จฯ เลียบมณฑลฝ่ายเหนือ
รัชกาลที่ 7 เสด็จฯ เลียบมณฑลฝ่ายเหนือ (ภาพจาก สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

เนื่องด้วยเป็นการเสด็จพระราชดำเนินครั้งแรก ทำให้เหล่าเจ้านายและข้าราชการในทุกหัวเมืองฝ่ายเหนือตระเตรียมการกันอย่างหนักในการรับเสด็จครั้งนี้ เพื่อให้ออกมาสมพระเกียรติมากที่สุด 

ผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการให้คำแนะนำและเตรียมการรับเสด็จ คือ เจ้าดารารัศมี พระราชชายา พระภรรยาเจ้าในรัชกาลที่ 5 ด้วยทรงเป็นพระธิดาในพระเจ้าอินทวิชยานนท์ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ องค์ที่ 7 ทำให้ความแม่นยำและวิจิตรในจารีตบ้านเมืองแบบล้านนามีอยู่ให้เห็นทุกส่วนของการรับเสด็จฯ ครั้งนี้

เจ้าดารารัศมี พระราชชายา พระภรรยาเจ้า พระองค์เจ้าวิมลนาคนพีสีสิ้นพระชนม์
เจ้าดารารัศมี พระราชชายา พระภรรยาเจ้าในรัชกาลที่ 5 (ภาพจากสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

ส่วนเจ้านายจากกรุงเทพฯ ที่ขึ้นมาตระเตรียมการรับเสด็จฯ ร่วมกับเจ้าดารารัศมีคือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ซึ่งเสด็จฯ ยังเมืองเชียงใหม่ก่อนเจ้านายคนอื่นๆ นานนับสัปดาห์

หนึ่งในการต้อนรับอย่างสมพระเกียรติคือการที่ “นครเชียงใหม่” มีการจัดตกแต่งปรับปรุงภูมิทัศน์ให้สวยงามเจริญหูเจริญตาทั่วเมือง โดยความรับผิดชอบของกองสุขาภิบาลอำนวยการ พร้อมทั้งความช่วยเหลือจากพ่อค้านายห้างต่างๆ ที่เข้ามาค้าขายในเมืองเชียงใหม่

 “10 ซุ้มประตูชัย” เป็นส่วนหนึ่งในองค์ประกอบที่เชียงใหม่สร้างขึ้นอย่างวิจิตร เพื่อใช้รับเสด็จในหลวงรัชกาลที่ 7 ซึ่งมีเรียงรายตั้งเด่นเป็นสง่าอยู่จุดต่างๆ ในเมือง บริเวณที่เสด็จพระราชดำเนินผ่าน

ตั้งแต่ซุ้มประตูชัยที่ 1 ไปจนถึงซุ้มที่ 10พระมหาเมฆ เปรียญเอก 9 ประโยค วัดกันมาตุยาราม” ได้ผูกคาถาขึ้นมาใหม่รวมกับคาถาดั้งเดิมที่มีอยู่แล้วเป็นภาษาบาลี 

จุดประสงค์หลักคือเพื่อใช้ถวายพระพรให้เกิดความเป็นสิริมงคล และแสดงถึงการยอมรับพระราชอำนาจของผู้เป็นใหญ่ที่สุดในแผ่นดิน หรือรัชกาลที่ 7 ที่เสด็จพระราชดำเนินมาในฐานะ “พระมหากษัตริย์” แห่งสยาม

แต่ละซุ้มจะมีความหมายและหน่วยงานหรือบริษัทต่างๆ เป็นผู้สมทบทุนร่วมสร้างขึ้น มีรูปแบบและการใช้ศิลปะในการสร้างสรรค์แตกต่างกันไปแต่ละซุ้มประตูชัย ดังนี้

ซุ้มประตูชัยที่ 1
ซุ้มประตูชัยที่ 1

ซุ้มประตูชัยแรก สร้างขึ้นโดยกองสุขาภิบาลอำนวยการเมืองเชียงใหม่ ตั้งอยู่บริเวณทางแยกริมที่พักกรมรถไฟ ทำเป็นรูปโขลนทวาร หุ้มด้วยผ้าแดงประกอบลายทองเป็นดาวกระจาย มีกรวยเชิงข้างบนและข้างล่างมีคาถาจารึกไว้ว่า สฺวาคตนฺเต มหาราช แปลว่า พระองค์เสด็จมาดีแล้ว

ซุ้มประตูชัยที่ 2
ซุ้มประตูชัยที่ 2

ซุ้มประตูชัยที่ 2 สร้างขึ้นโดยบริษัทบอมเบเบอร์ม่า บริษัทสัญชาติอังกฤษ ตั้งอยู่ระหว่างสะพานนวรัฐกับซุ้มแรก ความพิเศษของซุ้มนี้ได้มีการหยิบยกศิลปะแบบพม่ามาใช้เป็นหลัก มีคาถาจารึกไว้ว่า อโถ เต อทุราคตํ แปลว่า มิได้เสด็จมาร้ายเลย

ซุ้มประตูชัยที่ 3
ซุ้มประตูชัยที่ 3

ซุ้มประตูชัยที่ 3 สร้างขึ้นโดยบริษัทบอร์เนียว ตั้งอยู่บริเวณฝั่งตะวันออกของเชิงสะพานนวรัฐ ซุ้มนี้มีโครงสร้างหลักเป็นคอนกรีต ทำให้ดูมั่นคงและแข็งแรง มีคาถาจารึกไว้ว่า นวปุรํ ปโชเตสิ แปลว่า ทรงยังเมืองเชียงใหม่ให้เจริญรุ่งเรือง

ซุ้มประตูชัยที่ 4
ซุ้มประตูชัยที่ 4

ซุ้มประตูชัยที่ 4 อยู่ในการดูแลของบริษัทพัฒนากร ธุรกิจสื่อบันเทิงและภาพยนตร์รายใหญ่ในเชียงใหม่ ณ เวลานั้น ตั้งอยู่เยื้องกับสี่แยกวัดอุปคุต เป็นซุ้มที่ใช้ไฟฟ้าเพิ่มความตระการตาในเวลากลางคืน มีคาถาจารึกไว้ว่า ชเนสิ ปีติปามุทํ แปลว่า ทรงยังความปลาบปลื้มบันเทิงใจให้เกิดแก่ชาวเชียงใหม่

ซุ้มประตูชัยที่ 5
ซุ้มประตูชัยที่ 5

ซุ้มประตูชัยที่ 5 สร้างขึ้นภายใต้การควบคุมของบริษัทอิชเอเชียติ๊กฝรั่งเศส ตั้งอยู่บนย่านเศรษฐกิจสำคัญของเชียงใหม่อย่างถนนท่าแพ ลักษณะของซุ้มเป็นทรงโค้งกลม มีคาถาจารึกไว้ว่า สุคโต โหหิ สพฺพตฺถ แปลว่า ขอพระองค์จงเสด็จไปด้วยดีในสถานที่ทั้งปวง

ซุ้มประตูชัยที่ 6
ซุ้มประตูชัยที่ 6

ซุ้มประตูชัยที่ 6 สร้างขึ้นจากกลุ่มคนในอาณัติของอังกฤษทุกเชื้อชาติ ที่พำนักอยู่ในเมืองเชียงใหม่ ตั้งอยู่ที่ประตูท่าแพแบบพอดิบพอดี มีการนำสถาปัตยกรรมประตูเมืองแบบขอมโบราณมาใช้ ทำให้มีลักษณะแตกต่างจากซุ้มอื่นอย่างชัดเจน มีคาถาจารึกไว้ว่า สุขี ภว สราชินี แปลว่า ขอจงทรงพระสำราญพร้อมด้วยสมเด็จพระบรมราชินี

ซุ้มประตูชัยที่ 7
ซุ้มประตูชัยที่ 7

ซุ้มประตูชัยที่ 7 คณะพ่อค้าชาวจีนที่เข้ามาค้าขายในเชียงใหม่เป็นเจ้าของ เห็นได้จากการสลักตัวอักษรจีนไว้บนซุ้มเพื่อแสดงถึงอัตลักษณ์ชาวจีน ตั้งอยู่บริเวณสี่แยกถนนราชภาคิไนย เส้นที่เชื่อมต่อกับถนนท่าแพ มีรูปทรงจั่วแบบปราสาท มีคาถาจารึกไว้ว่า จีรญฺชีว มหาราช แปลว่า ข้าแต่พระมหาราชเจ้า ขอพระองค์จงทรงพระชนมายุยืนนาน

ซุ้มประตูชัยที่ 8
ซุ้มประตูชัยที่ 8

ซุ้มประตูชัยที่ 8 บริษัทอิชเอเชียติ๊กเดนมาร์กเป็นผู้สร้างขึ้น ณ สี่แยกกลางเวียง มีรูปแบบเป็นประตูยอดประกอบป้อม มีคาถาจารึกไว้ว่า รชฺเช ติฏฺฐาหิ โสตฺถินา แปลว่า ขอจงทรงประดิษฐานในราชัยโดยสวัสดิ์

ซุ้มประตูชัยที่ 9
ซุ้มประตูชัยที่ 9

ซุ้มประตูชัยที่ 9 บริษัท ดีลิโนเวนซ์ ลำปางเป็นเจ้าของ ตั้งอยู่ ณ แนวกำแพงหน้าศาลารัฐบาล ประดับประดาไปด้วยไฟฟ้า และใช้การสร้างแบบซุ้มประตูของทางตะวันตก มีคาถาจารึกไว้ว่า สพฺพ เวรี วินสฺสนฺตุ แปลว่า ขอสรรพไพรีจงพินาศ

ซุ้มประตูชัยที่ 10
ซุ้มประตูชัยที่ 10

ซุ้มประตูชัยลำดับสุดท้าย (ซุ้มที่ 10) สร้างขึ้นโดยบริษัทแองโกลสยาม ลำปาง ตั้งอยู่บริเวณแนวกำแพงหน้าศาลารัฐบาล ใกล้เคียงกับซุ้มที่ 9 และทั้งสองซุ้มนี้ก็มีลักษณะที่เหมือนกันเกือบทุกประการ มีคาถาจารึกส่งท้ายไว้อย่างทรงพลังว่า สทา อตฺถุ ชโย ชโย แปลว่า ขอชัยชำนะจงมีทุกเมื่อเทอญฯ

แม้ปัจจุบันจะไม่หลงเหลือร่องรอยสถาปัตยกรรมเหล่านี้ในเมืองเชียงใหม่แล้ว แต่ยังคงเหลือเป็นหลักฐานภาพถ่าย “10 ซุ้มประตูชัย” สุดอลังการ ที่สร้างขึ้นเพื่อถวายพระพรและรับเสด็จพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระบรมราชินีอย่างสมพระเกียรติ เป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นว่า ล้านนาเป็นส่วนหนึ่งของสยามโดยสมบูรณ์

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

หอสมุดแห่งชาติรัชมังคลาภิเษก เชียงใหม่ (กรมศิลปากร).จดหมายเหตุ เสด็จพระราชดำเนิรเลียบมณฑลฝ่ายเหนือ พระพุทธศักราช ๒๔๙๖. เข้าถึงเมื่อ  19 พฤษภาคม 2568. https://www.finearts.go.th/storage/contents/file/zHI8MwDWqoUOpLSU18BZms5Z8mmVIfU55IHt5TJv.pdf

ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันประปกเกล้า. การเสด็จเลียบมณฑลฝ่ายเหนือและมณฑลพายัพในสมัยรัชกาลที่ 7 พ.ศ. 2469.” เข้าถึงเมื่อ 19 พฤษภาคม 2568. https://wiki.kpi.ac.th/index.php?title=การเสด็จเลียบมณฑลฝ่ายเหนือและมณฑลพายัพในสมัยรัชกาลที่_7_พ.ศ._2469


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 23 พฤษภาคม 2568