“เจ้าไชยสงคราม” ตาทวด “ทักษิณ ชินวัตร” กับภารกิจควาญช้างพระที่นั่ง

เจ้าไชยสงคราม ตาทวด ทักษิณ ชินวัตร
เจ้าไชยสงคราม ตาทวด ทักษิณ ชินวัตร ควาญช้าพระที่นั่ง รัชกาลที่ 7 เสด็จประพาส เชียงใหม่

“เจ้าไชยสงคราม” ตาทวด “ทักษิณ ชินวัตร” กับภารกิจควาญช้างพระที่นั่ง

นายพันตำรวจเอก เจ้าไชยสงคราม หรือนามเดิม เจ้าสมพมิตร ณ เชียงใหม่ ท่านตาทวดของ “ทักษิณ ชินวัตร” เชื้อสายเจ้านายฝ่ายเมืองเหนือ ตำรวจใหญ่ผู้มีฉายา “มือปราบแห่งเวียงพิงค์”

เจ้าสมพมิตร ณ เชียงใหม่ เกิดเมื่อ พ.ศ. 2408 เป็นโอรสใน เจ้าน้อยรถ ณ เชียงใหม่ ซึ่งเป็นเชื้อสายของ พระยาธรรมลังกา เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ (องค์ที่ 2)

Advertisement

หลังจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงปฏิรูปประเทศ เกิดการรวมอำนาจสู่ศูนย์กลาง เกิดระบบราชการตามหัวเมือง เจ้าสมพมิตรเป็นเจ้านายฝ่ายเหนือรุ่นแรก ๆ ที่รับราชการ โดยเป็นผู้กำกับการตำรวจจังหวัดเชียงราย จังหวัดเชียงใหม่ รวมถึงผู้กำกับการตำรวจมณฑลพายัพ ในยศพันตำรวจเอก

เจ้าสมพมิตรมีบทบาทสำคัญในการจัดการกำราบโจรผู้ร้ายในมณฑลฝ่ายเหนือ ท่านยังได้ชื่อว่าเป็นนายตำรวจมือปราบที่เหี้ยมหาญ มีวิชาคาถาอาคม และมีโอกาสได้รับใช้ใกล้ชิดถวายความปลอดภัย เจ้าอินทรวโรรสสุริยวงษ์ และ เจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ องค์ที่ 8 และองค์ที่ 9 ตามลำดับ

เมื่อครั้ง พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินประพาสหัวเมืองฝ่ายเหนือ ใน พ.ศ. 2469 เจ้าสมพมิตรได้รับมอบหมายจากเจ้าแก้วนวรัฐและเจ้านายฝ่ายเหนือทั้งปวง ให้ปฏิบัติหน้าที่เป็น “ควาญช้างพระที่นั่ง” ถวายความปลอดภัยแด่ทั้งสองพระองค์ แม้เวลานั้นจะเกษียณอายุราชการไปแล้วก็ตาม ถือเป็นภารกิจครั้งใหญ่อันสำคัญยิ่งในชีวิตของท่าน

เจ้าไชยสงคราม ตาทวด ทักษิณ ชินวัตร ควาญช้าพระที่นั่ง รัชกาลที่ 7 เสด็จประพาส เชียงใหม่
เจ้าไชยสงคราม (สมพมิตร ณ เชียงใหม่) ปฏิบัติหน้าที่ควาญช้างพระที่นั่ง ด้านหลังคือ รัชกาลที่ 7 (ภาพจาก Digital Libraries – Gallica / Bibliothèque nationale de France)

เจ้าไชยสงคราม หรือ เจ้าสมพมิตร ณ เชียงใหม่ ถึงแก่กรรมเมื่อปี 2473 ท่านมีภรรยา 3 ท่านด้วยกัน ได้แก่ เจ้าศรีนวล เจ้าคำใส และเจ้าอุษา มีทายาทรวมทั้งสิ้น 11 คน หนึ่งในนั้นคือ เจ้าจันทร์ทิพย์ ระมิงค์วงศ์ (เกิดแต่เจ้าอุษา) ท่านนี้คือเจ้ายายของ ทักษิณ ชินวัตร และ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีของไทย

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินประพาสมณฑลพายัพ ขบวนรถไฟพระที่นั่งถึงยังสถานีเชียงใหม่

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

sarakadee.com. เจ้าไชยสุริวงศ์ในสายตระกูลเจ้าเจ็ดตน. สืบค้นเมื่อ 21 สิงหาคม 2566. จาก https://www.sarakadee.com/feature/2004/10/popup/surivong.htm

ประชาไท. ชินวัตร – ณ เชียงใหม่ เลือดจางเมื่อการเมืองเข้ม. สืบค้นเมื่อ 21 สิงหาคม 2566. จาก https://prachatai.com/journal/2005/03/3358


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 18 สิงหาคม 2566