ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม ฉบับกุมภาพันธ์ 2555 |
---|---|
ผู้เขียน | ผศ.ดร. เนื้ออ่อน ขรัวทองเขียว คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต |
เผยแพร่ |
บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อชี้ให้เห็นถึงความสำเร็จในการสอนหนังสือไทยในมณฑลพายัพ ผ่าน “ข่าวเสด็จ” และ “ศรีเชียงใหม่” ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ภาษาไทยฉบับแรกที่ได้รับการผลิตโดยคนล้านนา สะท้อนให้เห็นถึงความแพร่หลายของการใช้ภาษาไทยในการสื่อสาร รวมทั้งความสัมพันธ์ทางด้านเศรษฐกิจและวัฒนธรรมระหว่างล้านนาและกรุงเทพฯ
ในอดีตล้านนามีระบบการศึกษาและภาษาเป็นของตนเอง แต่จากการที่สยามต้องแข่งขันกับอังกฤษเพื่อผนวกล้านนาเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของรัฐ ทำให้สยามใช้วิธีการต่างๆ เพื่อดึงอำนาจการปกครองมาไว้ที่สยาม เช่น การส่งข้าหลวงปกครองโดยตรง ควบคุมการจัดเก็บภาษี พัฒนาช่องทางการสื่อสารและการคมนาคม ฯลฯ แต่การกระทำของสยามได้สร้างความไม่พอใจให้กับบรรดาเจ้านายและคนพื้นเมืองจนเกิดความรู้สึกแบ่งแยกว่าเป็นไทยและลาว ประกอบกับการที่ล้านนามีกลุ่มคนหลากหลายชาติพันธุ์อาศัยอยู่ และคนเหล่านั้นขาดความจงรักภักดีต่อกษัตริย์สยามและชาติไทยซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการสร้างเอกภาพภายในชาติ
วิธีการหนึ่งที่สยามใช้เปลี่ยนแปลงความรู้สึกแบ่งแยกดังกล่าวคือการจัดตั้งโรงเรียนสอนหนังสือไทยซึ่งเริ่มตั้งแต่ต้นทศวรรษ 2450 แต่จำนวนเด็กที่เข้ารับการศึกษาในระยะแรกมีไม่มากนัก จนกระทั่ง พ.ศ. 2464 มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติประถมศึกษาเพื่อบังคับให้เด็กอายุ 7-14 ปี ทั้งชายและหญิงได้เข้าเรียน เด็กส่วนใหญ่จึงได้รับการปลูกฝังแนวคิดตามที่รัฐต้องการผ่านหลักสูตรและเนื้อหาในแบบเรียน [1] โดยเฉพาะหนังสือพงศาวดารสยามและภูมิศาสตร์สยามอธิบายว่าคนล้านนาไม่ใช่ลาว แต่เป็นไทยเช่นเดียวกับคนสยาม
เบเนดิกต์ แอนเดอร์สัน (Benedict Anderson) ชี้ให้เห็นถึงประโยชน์ของสิ่งพิมพ์และหนังสือพิมพ์ว่าเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้คนจินตนาการถึงความเป็นชาติร่วมกันโดยสามารถรับรู้ถึงการมีอยู่ของผู้คนในที่อื่นๆ ได้โดยไม่จำเป็นต้องรู้จักกัน ภาษาที่เป็นมาตรฐานแบบเดียวกันที่ปรากฏในสิ่งพิมพ์ได้วางรากฐานในการสร้างจิตสำนึกของชาติ โดยเป็นพื้นที่สื่อสารและแลกเปลี่ยนความคิดกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ [2]
นับตั้งแต่ทศวรรษ 2460 สิ่งพิมพ์ที่ได้รับความนิยมอย่างมากในสยามคือหนังสือพิมพ์ เนื่องจากหนังสือพิมพ์มีลักษณะเฉพาะตัวคือสามารถสื่อสารได้ 2 ทาง เปิดโอกาสให้ทั้งผู้เขียนและผู้อ่านมีพื้นที่ในการแสดงความคิดเห็นออกสู่สาธารณะ ดังนั้นหนังสือพิมพ์จึงมีประโยชน์ในการเชื่อมความเข้าใจซึ่งกันและกัน และเป็นเครื่องมือโน้มน้าวจิตใจและความคิดของคนเข้าสู่แนวทางเดียวกัน
ในมณฑลพายัพมีการผลิตสิ่งพิมพ์ด้วยเทคโนโลยีแบบตะวันตกตั้งแต่ เดเนียล แมคกิลวารี (Daniel McGilvary) ตั้งคริสตจักรที่เมืองเชียงใหม่ โรงพิมพ์มิชชันนารีเริ่มผลิตงานพิมพ์ตั้งแต่ พ.ศ. 2414 แต่ไม่มีคนดูแลจึงพักไประยะหนึ่ง พ.ศ. 2429 มิสเตอร์คอลลินส์ได้เข้ามาร่วมงานและฝึกคนพื้นเมืองให้สามารถทำงานพิมพ์ได้ ส่วนใหญ่เป็นการพิมพ์หนังสือสอนศาสนาและเป็นโรงพิมพ์เพียงแห่งเดียวในมณฑลพายัพ [3] ตัวอักษรที่ใช้ในการพิมพ์ในระยะแรกเป็นตัวอักษรพื้นเมืองที่ถูกประดิษฐ์ขึ้นมาในราวทศวรรษ 2420 ต่อมาจึงมีการใช้ตัวอักษรไทยเพื่อรับจ้างพิมพ์งานต่างๆ ให้กับราชการ
จนกระทั่ง พ.ศ. 2464 หนังสือพิมพ์ที่ใช้ภาษาพื้นเมืองฉบับแรกถูกผลิตขึ้นในมณฑลพายัพ ชื่อ “ศิริ
กิติศัพท์” หรือ “Laos Christian News” เนื้อหาส่วนใหญ่เป็นเรื่องเกี่ยวกับคริสต์ศาสนาและข่าวต่างประเทศ [4] ในแวดวงของมิชชันนารีเองได้มีการผลิตวารสาร “The Laos News” ขึ้นใน พ.ศ. 2447 โดยใช้ตัวอักษรภาษาอังกฤษเพื่อใช้เป็นพื้นที่สื่อสารความคิดเห็นในการเผยแพร่งานของตนตามพื้นที่ต่างๆ [5] แต่เนื่องจากข้อจำกัดทางด้านภาษา จำนวนของผู้ที่เข้ารีต และผู้ที่ได้รับการศึกษา สิ่งพิมพ์ดังกล่าวจึงอยู่ในวงจำกัด
เชื่อว่าวัฒนธรรมการอ่านสิ่งพิมพ์ภาษาไทยเผยแพร่จากกรุงเทพฯ ไปยังมณฑลพายัพพร้อมๆ กับการขยายเส้นทางรถไฟสายเหนือและความนิยมในการเข้าเรียนหนังสือไทย โดยกรุงเทพฯ มีนโยบายจัดส่งหนังสือพิมพ์มาประจำไว้ในห้องอ่านหนังสือสาธารณะที่เมืองเชียงใหม่ [6] ประกอบกับความสัมพันธ์ระหว่างกรุงเทพฯ และมณฑลพายัพมีเพิ่มขึ้นตามลำดับ ทำให้ข่าวคราวความเป็นไปในมณฑลพายัพได้รับความสนใจจากกรุงเทพฯ โดยปรากฏในหน้าหนังสือพิมพ์อย่างต่อเนื่อง
เช่น หนังสือพิมพ์เดลิเมล์ ฉบับวันที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2454 ลงข่าวราษฎรมณฑลพายัพพากันอพยพไปอยู่ในเขตอังกฤษ [7] หนังสือพิมพ์บางกอกไทม์ลงข่าวครูบาศรีวิชัยต้องอธิกรณ์ [8] หนังสือพิมพ์เดลิเมล์ วันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2464 ลงข่าวเจ้าหลวงเมืองเชียงใหม่ให้ควาญช้างของตนปล่อยช้างออกหากินข้าวในไร่ของราษฎรเพื่อยึดที่นา [9] หนังสือพิมพ์บางกอกการเมือง วันที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2469 ซึ่งวิจารณ์การทำงานของพระยาเพ็ชรพิไสยศรีสวัสดิ์ ปลัดมณฑลจังหวัดเชียงใหม่ เรื่องการอ้างว่าได้รับคำสั่งจากพระยาราชนกุล สมุหเทศาภิบาลมณฑลพายัพให้เรี่ยไรเงินข้าราชการเพื่อรับเสด็จพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว [10] นอกจากนี้ยังมีหนังสือพิมพ์อื่นๆ อีกหลายฉบับที่ลงข่าวซึ่งเป็นประโยชน์ต่อราษฎรในมณฑลพายัพ จากตัวอย่างดังกล่าวเห็นได้ว่าข่าวที่ได้รับการตีพิมพ์เหล่านี้เป็นเครื่องมือสื่อสารให้คนต่างพื้นที่ได้มีโอกาสรับรู้สิ่งที่เกิดขึ้นร่วมกัน ในขณะที่เครื่องมือสื่อสารอื่นๆ เช่น วิทยุ ยังไม่ปรากฏในช่วงเวลานี้
เมื่อหนังสือพิมพ์ “ข่าวเสด็จ” ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ภาษาไทยฉบับแรกถูกผลิตขึ้นโดยถือเอาเหตุการณ์ครั้งสำคัญคือการเสด็จประพาสมณฑลพายัพครั้งแรกของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวในการเปิดตัว ซึ่งกองบรรณาธิการน่าจะเล็งเห็นแล้วว่าเหตุการณ์ครั้งนี้คงมีผู้ติดตามจำนวนมาก และคงประมาณจำนวนผู้ที่อ่านภาษาไทยได้ว่ามีมากพอสมควร รวมทั้งประเมินรายได้จากค่าโฆษณาจากการเติบโตทางธุรกิจของห้างร้านต่างๆ ในเมืองเชียงใหม่ไว้แล้วจึงคิดออกหนังสือพิมพ์ดังกล่าว
เจ้าของหนังสือพิมพ์ข่าวเสด็จ คือ นายอินทร สิงหเนตร์ [11] ซึ่งเป็นคริสเตียนพื้นเมือง ผู้จัดการคือ
นายดวงชื่น สิงหเนตร์ และบรรณาธิการคือ นายถาวร ชัย กองบรรณาธิการได้ชี้แจงถึงวัตถุประสงค์ในการออกหนังสือพิมพ์ข่าวเสด็จไว้ว่า เพื่อ “…กระทำความครึกครื้นแก่จังหวัดเชียงใหม่ ตลอดเวลาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จประทับอยู่…”
ข่าวเสด็จ เป็นหนังสือพิมพ์รายวันเฉพาะกิจ ราคาขายปลีกฉบับละ 10 สตางค์ หรือคิดค่าบำรุง 1 บาท ออกจำหน่ายวันแรกวันที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2469 วันสุดท้ายคือ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2469 หน้าปกของหนังสือพิมพ์ทุกฉบับเป็นพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระบรมราชินี บางฉบับมีการแต่งกาพย์ฉบัง 16 หรือวสันตดิลกฉันท์เพื่อสรรเสริญพระเกียรติคุณ โดยเนื้อหาระบุชัดถึงความร่มเย็นของราษฎรชาวเชียงใหม่ภายใต้พระบารมีของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งวิธีการประพันธ์ดังกล่าวเป็นแบบแผนของกรุงเทพฯ ซึ่งผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในภาษาไทยเท่านั้นจึงสามารถประพันธ์ได้อย่างไพเราะ (ภาพที่ 1)
หนังสือพิมพ์ข่าวเสด็จ ตีพิมพ์รวม 14 วัน มีการวางรูปแบบและเนื้อหาคล้ายกันคือ เน้นการรายงานข่าวพระราชกรณียกิจแต่ละวันของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว กำหนดการและพิธีการรับเสด็จในที่ต่างๆ และข่าวเบ็ดเตล็ดที่เกี่ยวกับการรับเสด็จ เช่น ชาวคริสต์ในจังหวัดเชียงใหม่นำโดย นายศรีโหม้ วิชัย [12] พากันไปสวดอวยพรที่โบสถ์ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
นอกจากนี้ยังมีหน้าโฆษณา เช่น ร้านขายข้าวสาร ต.เซ็งเต๋อ ใกล้โบสถ์มิชชันนารี ที่มีการแจ้งให้ลูกค้าทราบถึงวันหยุดทำการในวันที่ 3-5 กุมภาพันธ์ เนื่องจากตรงกับประเพณีวันตรุษจีนและต้องการหยุดทำการเพื่อให้ลูกจ้างไปร่วมงานรับเสด็จครั้งนี้ และกล่าวถึงพระมหากรุณาธิคุณในการเสด็จพระราชดำเนินมณฑลพายัพของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ความว่า
“…เราท่านทั้งหลายทุกคน ร่วมชาติและพึ่งพระบรมโพธิสมภารพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระราชินีในรัชกาลปัตยุบันนี้ ก็เมื่อก่อนๆ เราเคยได้ยินแต่หูและเห็นแต่รูปเท่านั้น มาบัดนี้สิ เปนโอกาสอันเหมาะและเปนโชคดีของชาวเราโดยแท้ที่เราจะได้เห็น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมกับพระราชินีแห่งกรุงสยามอันเปนถิ่นสถานอันน่ารักของชาวเราทั้งหลาย ฉนั้นในงานเสด็จเลียบมณฑลพายัพ เราทั้งหลายรู้สึกยินดี ข้าพเจ้าจึงจำเปนเปิดโอกาสให้พวกกรรมกรส่งข้าวของข้าพเจ้า ฟรี! ฟรี! ที่จะได้เที่ยวดูงานรับเสด็จคราวใหญ่ครั้งนี้…”
นอกจากนี้ยังมีโฆษณาของห้างร้านอื่นๆ อีก เช่น ร้านขายยาเจ้าหมอ ของ หม่อมราชวงศ์เล็ก สุริยกุล ณ อยุธยา ซึ่งแจ้งให้ลูกค้าทราบว่าได้ย้ายจากสี่แยกท่าแพไปยังสันป่าข่อยบริเวณประตูแดง ตรงข้ามโรงทหาร รวมทั้งส่งเสริมการขายด้วยการแจกพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวให้นำไปบูชาที่บ้านเพื่อความเป็นสิริมงคล ห้างตัดเสื้อแซนซอง ถนนแม่ออน ย่านสันป่าข่อย ซึ่งจำหน่ายชุดลูกเสือและรับตัดเสื้อตามแบบสมัยนิยมกรุงเทพฯ ห้างทานาคา ข้างโบสถ์มิชชันนารี และร้านยากียี่ปุ่น ตรงข้ามวัดอุปคุต ซึ่งรับถ่ายภาพ ล้างฟิล์ม ขายโปสการ์ดและภาพทิวทัศน์ ห้างพานิชภัณฑ์ ห้างชัวเฮงหลี (ภาพที่ 2) และร้านง่วนชุน ที่ขายสินค้าสมัยใหม่ เช่น เสื้อยืด น้ำหอม จักรเย็บผ้า นาฬิกาข้อมือ ตะเกียงลานจากเยอรมนี ฯลฯ ห้างย่งฮงหล้งจั่นซึ่งเป็นเอเย่นต์นมข้นตราแหม่มทูนหัวจากประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ร้านแต่บ่วนหลีซึ่งเป็นเอเย่นต์จำหน่ายแบบเรียนของกระทรวงธรรมการ เครื่องสูบน้ำ Ruston ของนายเต๊กหยู (ภาพที่ 3) โฆษณาละครร้องคณะราตรีพัฒนาของบริษัทสยามภาพยนตร์จากกรุงเทพฯ ที่ขึ้นมาเปิดการแสดงเพื่อการนี้โดยเฉพาะ [13] ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีนิยายสำหรับอ่านเพื่อความบันเทิงใจที่ลงเป็นตอนๆ [14]
กิจกรรมที่ปรากฏในหนังสือพิมพ์ไม่ว่าจะเป็นการแต่งคำฉันท์ การโฆษณาขายสินค้า วรรณกรรมเพื่อความบันเทิงใจ และการชมภาพยนตร์ ฯลฯ แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลวัฒนธรรมจากกรุงเทพฯ อย่างมาก โดยหนังสือพิมพ์ข่าวเสด็จแต่ละฉบับได้ประชาสัมพันธ์ถึงหนังสือพิมพ์ที่จะออกในลำดับต่อมาคือหนังสือ
พิมพ์ “ศรีเชียงใหม่”
หนังสือพิมพ์ศรีเชียงใหม่ได้รับการตีพิมพ์ขึ้นที่โรงพิมพ์อุปโยคิน ภายหลังจึงย้ายมาที่โรงพิมพ์อเมริกัน [15] เจ้าของเป็นทีมเดียวกันกับที่ผลิตหนังสือพิมพ์ข่าวเสด็จ แต่รูปแบบและเนื้อหามีความหลากหลายกว่า และสะท้อนให้เห็นถึงอิทธิพลหนังสือพิมพ์กรุงเทพฯ ในด้านสื่อสารมวลชนและวรรณกรรมสมัยใหม่ หนึ่งในนักเขียนเป็นครูที่สอนประจำอยู่ในโรงเรียนปรินส์รอยแยลส์คอลเลจ [16]
หนังสือพิมพ์ศรีเชียงใหม่ เป็นหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์มียอดการพิมพ์ฉบับที่ 4 ระบุว่าตีพิมพ์ 1,500 ฉบับ ขายปลีกฉบับละ 15 สตางค์ และส่งมาจำหน่ายที่กรุงเทพฯ ด้วย แต่หนังสือพิมพ์ศรีเชียงใหม่ออกได้เพียง 2 เดือนก็ต้องปิดตัวลงเนื่องจากโรงพิมพ์อเมริกันมีจุดประสงค์หลักในการพิมพ์หนังสือสอนศาสนา แต่เนื่องจากหนังสือพิมพ์ศรีเชียงใหม่ นำเสนอข่าวการเมืองมากเกรงว่าจะนำความเสียหายไปสู่เจ้าของโรงพิมพ์จึงประกาศยุติการพิมพ์ [17]
ในหนังสือพิมพ์ศรีเชียงใหม่ฉบับแรก (ภาพที่ 4) ได้กล่าวถึงจุดประสงค์ของการออกหนังสือพิมพ์ไว้ว่า
“…ศรีเชียงใหม่ นี้มีเข็มมุ่งไปในทางทำนุบำรุงความรู้ทุกอย่าง และเปนหนังสือพิมพ์ที่ชนทุกๆ ชั้น ทุกๆ หมู่ หยิบอ่านได้ มีเรื่อง 1 ข่าวสารการเปนไปของจังหวัดเชียงใหม่และหัวเมืองต่างๆ ในมณฑลพายัพตลอดจนการเปนไปในพระราชอาณาจักรและนอกประเทศ 2 กิจการบ้านเมืองและความเห็นของบุคคลในเรื่องต่างๆ ที่จะเปนประโยชน์ได้จริง และเปนปากเสียงหรือช่วยส่งเสริมประโยชน์ของรัฐบาลและประชาชนโดยสุภาพเรียบร้อย 3 สารวิทยาและบรรเทิงคดีอันจะนำความสำราญมาสู่ท่านในยามว่าง...” [18]
หนังสือพิมพ์ศรีเชียงใหม่ ยังคงสืบทอดความจงรักภักดีที่มีต่อราชวงศ์จักรีอย่างมากด้วยการแต่งคำกลอนสดุดีพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และแสดงความยินดีที่จังหวัดเชียงใหม่ได้เข้าเป็นส่วนหนึ่งของสยาม ตัวอย่างเช่น
“เชียงใหม่ได้พึ่งพระบา-
รมี มหาราชะในวงศ์จักรี
จักรินปิ่นหล่าปราณี
โปรดนักศักดิ์ศรี, เสริมสงคงทุกวันมา...”
เนื้อหาโดยรวมเป็นการรายงานข่าวทั่วไป การนำเสนอข่าวสารและความรู้จากต่างประเทศ ประวัติศาสตร์นครเชียงใหม่ซึ่งตีพิมพ์เป็นตอนๆ การวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของข้าราชการ การโฆษณาสินค้า นิยายและการทบทวนข่าวสำคัญที่ลงหนังสือพิมพ์ในกรุงเทพฯ
การรายงานข่าวทั่วไปเป็นข่าวที่เกิดขึ้นในเมืองเชียงใหม่ เช่น การจัดแสดงละครร้องของชาวจีนไหหลำ การขุดเหมืองแม่แฝก ปัญหาการแลกสตางค์จากบาทเป็นรูปี กิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ของลูกเสือ การแข่งฟุตบอลระหว่างสโมสรกองเดินรถกรมรถไฟหลวง พระนครและคณะฟุตบอลจังหวัดเชียงใหม่ ฯลฯ ความรู้ทั่วไป เช่น ประวัติศาสตร์นครเชียงใหม่ กฎหมายลักษณะอาญา พิกัดอัตราภาษีขาเข้า ฯลฯ และนำเสนอความรู้จากต่างประเทศ เช่น ประเทศจีนศึกกลางเมือง (การรบที่จูมาเตียน) แผ่นดินไหวในญี่ปุ่น ทะเลสาบในประเทศเทาอะบิส หอดูดาวที่ยอดเขาเมท์วิลสัน ฯลฯ รวมทั้งทำหน้าที่เป็นปากเสียงของประชาชนและแสดงความเห็นต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม เช่น การเตือนหญิงสาวให้ระวังต่อการถูกล่อลวง การตำหนิการทำงานของไปรษณีย์ที่ล่าช้า การรักษาผู้ป่วยที่ไม่ทั่วถึงของกองสุขาภิบาล การเปิดธนาคารสยามกัมมาจล การพนันที่มีมากเกินไปในเมืองเชียงใหม่ ฯลฯ
การรายงานข่าวทั่วไปมักย้ำให้เห็นถึงความเจริญอันเกิดจากการปกครองของสยาม ตัวอย่างเช่น ปีที่ 1 ฉบับที่ 2 กล่าวถึงการเปิดเดินรถไฟจนถึงเมืองเชียงใหม่ใน พ.ศ. 2464 โดยผู้เขียนเห็นว่า “…นับเปนความเจริญครั้งแรกของนคร…” และ
“…วันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2466 เรือบินของกองทัพมาถึงอีก ทำให้เห็นความเจริญของบ้านเมืองครั้งที่ 2 ครั้นวันที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2469 พระมหากระษัตย์เจ้ากรุงสยามพร้อมด้วยพระบรมราชินี ได้เสด็จพระราชดำเนินมานครเชียงใหม่ เปนความเจริญชั้นสูง ชาวเชียงใหม่ปลื้มปิติที่ได้เฝ้าถวายบังคมชมพระบารมี เพราะตั้งแต่เชียงใหม่เปนนครใหญ่ของกรุงสยามมาได้ 130 ปีเศษ ยังไม่มีพระมหากษัตราธิราชเจ้า เสด็จพระราชดำเนินมาโปรดเกล้าฯ ชาวเชียงใหม่ อันเปนข้าแผ่นดิน ผู้ซื่อสัตย์สุจริตมิได้คิดขบถต่อเจ้านายของตนเลย…” [19]
รวมทั้งกระตุ้นให้ผู้อ่านช่วยกันทำนุบำรุงการศึกษาเพื่อให้จังหวัดเชียงใหม่และประเทศไทยเจริญยิ่งขึ้น ความว่า “…อย่าลืมว่าวันหนึ่งจังหวัดเชียงใหม่อาจจะมีชื่อเสียงเปนอนุสาวรีย์ติดอยู่กับโลกชั่วกาลนานว่า จังหวัดเชียงใหม่เปนจังหวัดที่ทำให้ประเทศสยามถึงซึ่งความเจริญ ดุจนิวยอร์กซึ่งทำให้ประเทศสหปาลีรัฐอเมริกาเจริญขึ้นฉะนั้น…” ในฉบับเดียวกันนี้ได้กล่าวถึงการที่ชาวต่างประเทศที่เดินทางมาสยามและมักชื่นชมว่าจังหวัดเชียงใหม่แม้ว่าจะอยู่ห่างจากกรุงเทพฯ ถึง 741 กิโลเมตร แต่มีความเจริญมากกว่าเมืองที่อยู่ใกล้กรุงเทพฯ บางเมือง “…จนกระทั่งมีชาวต่างประเทศเปนอันมากขนานนามจังหวัดเชียงใหม่ว่า ศรีของประเทศ (Diamond of Siam)” [20]
เมื่อกระแสการต่อต้านชาวจีนในประเทศสยามเพิ่มมากขึ้น แนวคิดดังกล่าวได้แพร่หลายมาที่จังหวัดเชียงใหม่เช่นกัน โดยมีการนำข่าวในหนังสือพิมพ์พิมพ์ไทย ฉบับวันที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2470 เรื่อง “บอลเชวิคเมืองไทย” มาเขียนวิจารณ์ว่าคนจีนในกรุงเทพฯ ถูกกีดกันไม่ให้เรียนรู้ลัทธิบอลเชวิคที่พวกจีนด้วยกันเองนำมาเผยแพร่ และชมเชยเจ้าหน้าที่รัฐบาลที่คอยป้องกันอยู่เสมอ มิเช่นนั้นคนจีนในกรุงเทพฯ หรือคนจีนทั่วเมืองไทยคงแตกเป็นหลายก๊ก โดยจังหวัดเชียงใหม่มีคนจีนอาศัยจำนวนมากเช่นกัน ความว่า
“…ฉะเพาะในจังหวัดเชียงใหม่นี้ ก็มีคนจีนอยู่มากมาย ชักเปนรองกรุงเทพฯ ก็ว่าได้ ส่วนอั้งยี่เล่าก็ปรากฏว่ามีอยู่เสมอๆ ไม่เห็นตำรวจเชียงใหม่จัดการปราบปรามให้เปนล่ำเปนสันอย่างไร หรือจะเปนด้วยตำรวจเชียงใหม่เปนใบ้ภาษีจีนกันทั้งหมดกระมัง? ถ้าแหละพวกเผยแผ่ลัทธิบอลเชวิค หลุดเข้ามาในจังหวัดนี้สักคน ใครจะทราบได้ว่า ผลจะเปนอย่างไร? น่ากลัวจะเผยแผ่พืชน์ออกรวดเร็วกว่าในพระนคร…” [21]
ที่น่าสนใจคือการเปิดโอกาสให้ผู้อ่านได้มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น เช่น บทความของผู้ที่ใช้นามปากกาว่า “ศรีคารม” โดย นางสาววิลัยพรรณ์เขียนมายังกองบรรณาธิการเพื่อเล่าเรื่องเพื่อนหญิงของเธอที่มารดายกให้แต่งงานกับคุณพระเพราะเห็นแก่เงินเล็กน้อย แต่อยู่ได้ไม่นานกลับโดนทอดทิ้ง และสรุปว่ามีสาวเชียงใหม่จำนวนมากถูกหลอกจากพวกข้าราชการ ที่น่าสนใจคือแสดงทัศนะความเป็นท้องถิ่นนิยม ความว่า
“…เราสตรีในอำเภอเมือง ใครได้เปนคุณนายกันกี่คน ดิฉันเห็นเปนทาสะภริยาเสียและจำนวนมาก…คิดดูซิคะคนหญิงงามๆ หรูๆ เลอฉลาดออกแยะเยอะเขายังไม่ต้องการ มิอะไรเขาจะใจดีกับคนชั้นเรา นอกจากเขาจะหลอกเอาไปต้มให้สุกเท่านั้น…เขาฉลาดเราบ้านนอกคอกนาจะอยู่ด้วยกันได้ดังฤา ถ้าเธอจำเปนต้องแต่งงาน คนพื้นบ้านในเมืองเรา ที่มีถานะเท่าเทียมกันมีออกถมเถ ทำไมจะเลือกสักคนไม่ได้หรือ หาเช้ากินค่ำแต่ใจเปนสุข ก็ยังดีกว่าได้ขี่รถยนต์ รถม้าเพียง 2-3 เดือน แล้วมานั่งกอดเข่าเช็ดน้ำตา เพราะถูกคุณพระคุณหลวง สามีของเธอเนรเทศไปอยู่บ้านเดิม...” [22]
หรือในคอลัมน์ “สตรีเชียงใหม่” มีสตรีผู้หนึ่งเขียนมาต่อว่า “ตุ๊กตายอดรัก” นักเขียนหนึ่งท่านในหนังสือชุด ต.เง็กชวน ซึ่งตีพิมพ์ในกรุงเทพฯ โดยหนังสือดังกล่าวตำหนิสาวเชียงใหม่ว่ามีสามีแล้วยังปล่อยตัวชู้สาว [23] ทำให้สตรีคนดังกล่าวไม่พอใจและพยายามหาหนังสือชุดนี้มาอ่านซึ่งหาได้ยากในเมืองเชียงใหม่ และเขียนมายังกองบรรณาธิการตำหนิตุ๊กตายอดรักและเขียนว่าสตรีกรุงเทพฯ เป็นการแก้แค้นโดยหวังให้บรรณาธิการตีพิมพ์ให้ แต่บรรณาธิการไม่เห็นด้วยที่จะตีพิมพ์จดหมายดังกล่าวเนื่องจากเห็นว่าสตรีกรุงเทพฯ เป็นคนไทยชาติเดียวกับสตรีผู้นั้น ความว่า “…หนังสือพิมพ์นี้อยู่เชียงใหม่ ซึ่งเปนฝ่ายเหนือก็จริง แต่เราถือว่าพลเมืองทั้งประเทศเปนคนไทยทั้งนั้น จดหมายของเธอ ก็เท่ากับเอาอย่างตุ๊กตายอดรัก…ซึ่งติเตียนคนไทยด้วยกัน…” [24]
ตัวอย่างที่ยกมานี้แสดงให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงการรับรู้จากที่เคยแบ่งแยกว่าเป็นไทย (สยาม) และลาว (ล้านนา) มาเป็นความรู้สึกร่วมชาติเดียวกัน และมีความภาคภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความเจริญให้กับประเทศ แนวคิดในทำนองนี้เมื่อได้รับการตอกย้ำบ่อยครั้งในหน้าหนังสือพิมพ์จึงมีผลต่อการรับรู้ของผู้คน ทำให้จินตนาการถึงความเป็นส่วนหนึ่งของชาติปรากฏชัดขึ้น ทั้งนี้เราต้องไม่ลืมว่าหนังสือพิมพ์ศรีเชียงใหม่เป็นผลผลิตของคนล้านนา ไม่ใช่หนังสือพิมพ์ที่ได้รับการสนับสนุน
งบประมาณจากรัฐบาลสยาม
นอกจากนี้ ในหน้าโฆษณาของหนังสือพิมพ์ศรีเชียงใหม่แสดงให้เห็นถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจ บทบาทของพ่อค้าชาวจีน และความสัมพันธ์ทางด้านธุรกิจระหว่างจังหวัดเชียงใหม่และกรุงเทพฯ ที่เพิ่มมากขึ้น โดยพบว่ามีโฆษณาจากร้านค้าในกรุงเทพฯ คือร้านเซ่งหงวน ถนนพาหุรัด พระนคร (ภาพที่ 5) ลงโฆษณาขายสินค้าด้วย
นอกจากนั้นเป็นการโฆษณาสินค้าและบริการต่างๆ จากร้านค้าในเมืองเชียงใหม่ เช่น เตียงเหล็ก ตู้เซฟ นาฬิกา กระเป๋าเดินทาง จักร หมวกขนสัตว์ น้ำหอม อุปกรณ์ออกกำลังกาย อะไหล่เครื่องยนต์ ยาสูบอังกฤษและอเมริกัน จักรเย็บผ้า ตะเกียง ผ้าไหมสันกำแพง ยาควินิน จักรยาน โรงข้าวสาร โรงน้ำแข็งน้ำหวาน เลมอนเน็ต ฯลฯ สินค้าเหล่านี้ส่วนหนึ่งเป็นสินค้าฟุ่มเฟือยและสินค้าอุปโภคที่ไม่สามารถผลิตได้เองในจังหวัดเชียงใหม่ซึ่งต้องนำเข้าจากกรุงเทพฯ โดยกองบรรณาธิการศรีเชียงใหม่เปิดบริการรับทำป้ายหน้าร้าน วาดภาพ และสกรีน โดยผู้ที่จบการศึกษาจากโรงเรียนเพาะช่างเป็นผู้ให้บริการอีกด้วย สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นความเจริญเติบโตทางธุรกิจที่สัมพันธ์กับกรุงเทพฯ ได้เป็นอย่างดี
แม้ว่าสิ่งพิมพ์ที่ผลิตขึ้นทั้งจากส่วนกลางและคนพื้นเมืองได้สร้างความเปลี่ยนแปลงในการรับรู้ถึงความเป็นไทยร่วมกัน แต่จนถึงทศวรรษ 2480 ยังมีคนล้านนาอ่านหนังสือไทยออกเพียง 10% เท่านั้น [25] เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 คณะราษฎรได้ส่งพระยาสุริยานุวัตรขึ้นมาชี้แจงวัตถุประสงค์ของคณะราษฎรและประกาศธรรมนูญการปกครองใหม่ ในจังหวัดเชียงใหม่มีการเรียกประชุมที่โรงละครของเจ้าแก้วนวรัฐ และเสนอให้พิมพ์ธรรมนูญการปกครองใหม่เป็นภาษาพื้นเมืองเนื่องจากคนส่วนใหญ่ยังอ่านหนังสือไทยไม่ออก การพิมพ์ครั้งนี้ใช้โรงพิมพ์ของมิชชันนารีซึ่งมีตัวพิมพ์ภาษาลาวอยู่แล้ว [26] เป็นครั้งแรกที่สยามอนุญาตให้มีการใช้ภาษาพื้นเมืองในเอกสารทางราชการเพื่อส่งผ่านแนวคิดในการปกครองใหม่และแจกจ่ายให้กับราษฎรทั่วมณฑลพายัพ
“ข่าวเสด็จ” และ “ศรีเชียงใหม่” จึงเป็นหลักฐานสำคัญที่ชี้ให้เห็นถึงความสำเร็จของกรุงเทพฯ ในการส่งเสริมการสอนหนังสือไทยเพื่อเปลี่ยนสำนึกของคนล้านนาให้เป็นคนไทยร่วมกันกับสยาม
เชิงอรรถ :
[1] ดูเพิ่มเติม, สุมินทร์ จุฑางกูร. “การกล่อมเกลาทางการเมืองโดยใช้แบบเรียนหลวงเป็นสื่อในสมัยรัชกาลที่ 5”. วิทยานิพนธ์รัฐศาสตรมหาบัณฑิต ภาควิชาการปกครอง บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2529.
[2] เบน แอนเดอร์สัน. ชุมชนจินตกรรม บทสะท้อนว่าด้วยกำเนิดและการแพร่ขยายของชาตินิยม. (กรุงเทพฯ : มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2552), น. 42-45, 78.
[3] ลิลเลียน จอห์นสัน เคอร์ติส. ชาวลาวทางตอนเหนือของประเทศสยาม ตอนที่ 2. (กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2546), น. 138.
[4] Vachara Sindhuprama. “Modern Education and Socio-Cultural Change in Northern Thailand”. Ph.D. thesis, University of Hawaii, 1988, p. 230.
[5] พ.ศ. 2465 วารสาร The Laos News ได้เปลี่ยนชื่อเป็น The Siam Outlook เดิมทีมิชชันนารีขึ้นไปเผยแผ่ศาสนาที่เมืองเชียงใหม่ภายใต้การดำเนินงานที่เรียกว่า Laos Mission ในระยะแรกมีการติดต่อโดยตรงระหว่างอเมริกาและล้านนาโดยสื่อสารผ่านท่าเรือที่เมืองมะละแหม่งและมีการปฏิบัติงานแยกเป็นเอกเทศจาก Siam Mission แต่เมื่อช่องทางด้านการสื่อสารและการคมนาคมระหว่างล้านนาและกรุงเทพฯ สะดวกมากขึ้น จึงไม่จำเป็นต้องติดต่อผ่านเมืองมะละแหม่ง โดยเฉพาะเมื่อเส้นทางรถไฟระหว่างกรุงเทพฯ-เชียงใหม่เปิดบริการ พ.ศ. 2464 จึงมีการรวม Laos Mission และ Siam Mission วารสารดังกล่าวจึงเปลี่ยนชื่อเป็น The Siam Outlook, ดูเพิ่มเติมจาก วัชระ สินธุประมา. “คริสต์ศาสนาโปรเตสแตนต์กับการศึกษาและวัฒนธรรมล้านนา,” ใน แมคกิลวารีปริทัศน์. 1 (กรกฎาคม 2539), น. 49.
[6] หจช. ศ.42/10 การประชุมอุปราชและสมุหเทศาภิบาล 2459 (30 มิถุนายน พ.ศ. 2459-21 กันยายน พ.ศ. 2460)
[7] หจช. ร.6 ม.27/4 ราษฎรในมณฑลพายัพอพยพไปอยู่ในเขตอังกฤษ (27 พฤษภาคม พ.ศ. 2455)
[8] พระอานนท์ พุทธธัมโม. ประวัติครูบาศรีวิชัย สิริวิชโย. (เอกสารอัดสำเนา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2546), น. 79.
[9] หจช. ร.6 ม.27/11 ข่าวหนังสือพิมพ์ทางมณฑลพายัพ (25 มกราคม พ.ศ. 2464)
[10] หจช. ร.7 ม.26.2/6 สอบสวนข่าวมณฑลอื่นคือชั้นนอก (4 ธันวาคม-22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2469)
[11] นายอินทร สิงหเนตร์ เกิดใน พ.ศ. 2447 ย่านสันป่าข่อย จบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 จากโรงเรียนยุพราชวิทยาลัย จากนั้นเข้าเรียนต่อที่โรงเรียนทหารบก กรุงเทพฯ เมื่อจบการศึกษาได้เข้ารับราชการทหารระยะหนึ่ง ภายหลังลาออกมาทำธุรกิจรถโดยสารที่เรียกว่ารถคอกหมู เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองใน พ.ศ. 2475 นายอินทร สิงหเนตร์ ได้ส่งจดหมายถึงคณะราษฎรหลายครั้งเพื่อแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการปกครอง ภายหลังได้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงใหม่ใน พ.ศ. 2500, อนุ เนินหาด. สังคมเมืองเชียงใหม่ เล่ม 11. (เชียงใหม่ : นพบุรีการพิมพ์, 2548), น. 6. และ หจช. สร.0201.25/446 และ สร.0201.25/528.
[12] ศรีโหม้ วิชัย เป็นชาวคริสเตียนและเป็นราษฎรมณฑลพายัพคนแรกที่เดินทางไปสหรัฐอเมริกา, ดูเพิ่มเติมจาก ศรีโหม้ คนเชียงใหม่คนแรกที่ไปอเมริกา, (เชียงใหม่ : ปอง, 2523).
[13] ละครร้องคณะราตรีพัฒนาของบริษัทสยามภาพยนตร์ มี นายศิลป์ สีบุนเรือง เป็นผู้อำนวยการ เดิมคณะนี้อยู่ในอุปถัมภ์ของ พระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนครราชสีมา ต่อมาได้ไปประกวดที่ประเทศอเมริกา พ.ศ. 2467 และได้รางวัลในงานประกวดมหรสพต่างชาติในเมืองคลีฟแลนด์ เป็นคณะละครที่มีชื่อเสียงจนได้แสดงต่อหน้าพระที่นั่งและแสดงต้อนรับชาวต่างประเทศเสมอ
[14] หจช. ร.7 บ.1.4/18 หนังสือพิมพ์ข่าวประพาสมณฑลพายัพ (22 มกราคม-4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2469)
[15] ศรีเชียงใหม่, 1, 1 (เมษายน 2470), น. 44.
[16] Vachara Sindhuprama. “Modern Education and Socio-Cultural Change in Northern Thailand”. p. 230.
[17] ศรีเชียงใหม่, 1, 6 (มิถุนายน 2470), น. 229.
[18] ศรีเชียงใหม่, 1-6 (ฉบับเบิกโรง 2470), น. 5.
[19] ศรีเชียงใหม่, 1, 2 (เมษายน 2470), น. 60.
[20] ศรีเชียงใหม่, 1, 4 (พฤษภาคม ๒๔๗๐), น. 143-144.
[21] ศรีเชียงใหม่, 1, 5 (พฤษภาคม 2470), น. 189-190.
[22] ศรีเชียงใหม่, 1, 6 (มิถุนายน 2470), น. 217.
[23] ศรีเชียงใหม่, 1, 4 (พฤษภาคม 2470), น. 161.
[24] ศรีเชียงใหม่, 1, 6 (มิถุนายน 2470), น. 225.
[25] หจช. สร.0201.10/61 พระศรีวิไชยไม่ปรองดองกับคณะสงฆ์ (พ.ศ. 2478-2479)
[26] หจช. สร.0201.32/3 พระยาสุริยานุวัตรไปชี้แจงเหตุเปลี่ยนแปลงการปกครองแก่เจ้านายในมณฑลพายัพ (พ.ศ. 2475)
เอกสารอ้างอิง :
เบน แอนเดอร์สัน. ชุมชนจินตกรรม บทสะท้อนว่าด้วยกำเนิดและการแพร่ขยายของชาตินิยม. กรุงเทพฯ : มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2552.
พระอานนท์ พุทธธัมโม. ประวัติครูบาศรีวิชัย สิริวิชโย. เอกสารอัดสำเนา, 2546.
ลิลเลียน จอห์นสัน เคอร์ติส. ชาวลาวทางตอนเหนือของประเทศสยาม ตอนที่ 2. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2546.
วัชระ สินธุประมา. “คริสต์ศาสนาโปรเตสแตนต์กับการศึกษาและวัฒนธรรมล้านนา,” ใน แมคกิลวารีปริทัศน์. 1 (กรกฎาคม 2539), น. 40-49.
ศรีเชียงใหม่, 1, 1 (เมษายน 2470).
ศรีเชียงใหม่, 1, 2 (เมษายน 2470).
ศรีเชียงใหม่, 1, 4 (พฤษภาคม 2470).
ศรีเชียงใหม่, 1, 5 (พฤษภาคม 2470).
ศรีเชียงใหม่, 1, 6 (มิถุนายน 2470).
ศรีเชียงใหม่, 1-6 (ฉบับเบิกโรง 2470).
ศรีโหม้ คนเชียงใหม่คนแรกที่ไปอเมริกา, เชียงใหม่ : ปอง, 2523.
สุมินทร์ จุฑางกูร. “การกล่อมเกลาทางการเมืองโดยใช้แบบเรียนหลวงเป็นสื่อในสมัยรัชกาลที่ 5”. วิทยานิพนธ์รัฐศาสตรมหาบัณฑิต ภาควิชาการปกครอง บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2529.
หจช. ร.6 ม.27/4 ราษฎรในมณฑลพายัพอพยพไปอยู่ในเขตอังกฤษ (27 พฤษภาคม พ.ศ. 2455)
หจช. ร.6 ม.27/11 ข่าวหนังสือพิมพ์ทางมณฑลพายัพ (25 มกราคม พ.ศ. 2465)
หจช. ร.7 บ.1.4/18 หนังสือพิมพ์ข่าวประพาสมณฑลพายัพ (22 มกราคม-4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2469)
หจช. ร.7 ม.26.2/6 สอบสวนข่าวมณฑลอื่นคือชั้นนอก (4 ธันวาคม-22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2469)
หจช. ศ.42/10 การประชุมอุปราชและสมุหเทศาภิบาล 2459 (30 มิถุนายน พ.ศ. 2459-21 กันยายน พ.ศ. 2460)
หจช. สร.0201.10/61 พระศรีวิไชยไม่ปรองดองกับคณะสงฆ์ (พ.ศ. 2478-2479)
หจช. สร.0201.25/446 ความเห็นนายอินทร สิงหเนตร์ ขอให้เลิกเงินรัชชูปการ เปลี่ยนแปลงค่าธรรมเนียมศาล และค่านัดเดินหมาย (พ.ศ. 2475)
หจช. สร.0201.25/528 นายอินทร สิงหเนตร์ เสนอความเห็นเรื่องทางแก้เศรษฐกิจ (พ.ศ. 2475)
หจช. สร.0201.32/3 พระยาสุริยานุวัตรไปชี้แจงเหตุเปลี่ยนแปลงการปกครองแก่เจ้านายในมณฑลพายัพ (พ.ศ. 2475)
อนุ เนินหาด. สังคมเมืองเชียงใหม่ เล่ม 11. เชียงใหม่ : นพบุรีการพิมพ์, 2548.
The Laos News, 3, 4 (October 1906).
Vachara Sindhuprama. “Modern Education and Socio-Cultural Change in Northern Thailand”. Ph.D. thesis, University of Hawaii, 1988.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 2 มกราคม 2560