ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
ชีวิตสุดพลิกผันของพระเทพย์โมฬี (ผึ้ง) เป็นพระราชาคณะวัดราชบูรณะ อีกหนึ่งพระเถระผู้ปราดเปรื่องทางอักษรศาสตร์และภาษาศาสตร์ในยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ แต่กลับมีบั้นปลายชีวิตอันน่าอเนจอนาถ
พระเทพย์โมฬี มีนามเดิมว่า ผึ้ง เป็นบุตรของพระมหาวิชาธรรม จางวางราชบัณฑิต กับนางผ่อง ธิดาหลวงธรรมรักษา (บุญเกิด) เกิดในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ 2)
เนื่องจากบิดาเป็นอธิบดีแม่กองสอบไล่หนังสือขอมพระปริยัติธรรมพระคัมภีร์พระไตรปิฎก แผนกสอบไล่ฝ่ายในพระราชวังบวรฯ (วังหน้า) นายผึ้งจึงมีโอกาสเรียนหนังสือไทยและขอมกับพระญาณสมโภช วัดมหาธาตุ และเรียนคัมภีร์พระไตรปิฎกในที่ประชุมพระเถรานุเถระ ที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท จนสอบได้ 5 ประโยค และได้ตาลปัตรมหาตั้งแต่เป็นสามเณร
สามเณรผึ้งมีอายุได้ 21 ปี จึงบวชเป็นพระภิกษุ ในพรรษาต้นก็เข้าสอบไล่ได้อีก 3 ประโยค รวมเป็นเปรียญ 8 ประโยค จึงรับพระราชทานนิตยภัตและตาลปัตรเลื่อนตำแหน่งเป็นยศเปรียญเอก
เมื่อถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) พระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้ง “พระมหาผึ้ง” เป็นพระเทพย์โมฬี พระราชาคณะสามัญวัดราชบูรณะ
พระเทพโมฬี (ผึ้ง) เป็นนักปราชญ์ผู้ชาญฉลาดด้านหนังสือขอมและไทย เป็นผู้แต่งตำราเรียน ปฐมมาลา หนังสือสอนการใช้ภาษา ใช้พยัญชนะและสระอย่างถูกต้อง ทำนองเดียวกับหนังสือ จินดามณี ท่านเป็นพระเถระผู้มีพรสวรรค์ด้านการเทศนา ถูกยกย่องว่ามีฝีปากเทศน์ถูกพระราชหฤทัยในรัชกาลที่ 3 ยิ่ง ทั้งเป็นที่ติดอกถูกใจของเจ้าขุนมูลนายรวมถึงราษฎรทั่วไป
เมื่อจะมีพิธีฉลองวัดพระเชตุพนฯ งานมหกรรมสมโภชพระอารามหลวง รัชกาลที่ 3 พระเจ้าแผ่นดินผู้ทรงอุทิศทุ่มเทเพื่อพระพุทธศาสนา จึงทรงจัดสรรเครื่องไทยทานมูลค่าไม่ต่ำกว่า 10 ชั่ง และสิ่งของมีค่าอีกจำนวนหนึ่ง สำหรับพระราชทานแก่พระราชาคณะแต่ละรูป ซึ่งถือเป็นทรัพย์จำนวนไม่น้อยเลย และในการณ์นั้นพระเทพย์โมฬีก็เป็นหนึ่งในพระราชาคณะที่จะได้รับพระราชทานด้วย
สิ่งนี้ไม่น่าเป็นปัญหาอะไร ถ้าพระเทพย์โมฬีไม่ได้มีความตั้งใจจะลาสึกจากสมณเพศ…
สำหรับเหตุจูงใจการลาสิกขาบทของพระเทพย์โมฬีนั้นต้องขอละไว้ ที่แน่ ๆ คือท่านตัดสินใจก่อนทราบพระราชประสงค์ดังกล่าว เมื่อรู้เรื่องจึงตรึกตรองว่า หากยังเป็นพระราชาคณะไปจนถึงงานสมโภชและได้รับพระราชทานของหลวงราคาสิบชั่ง ถ้าถวายพระพรลาสิกขาหลังจากนั้นคงเป็นที่น่ารังเกียจ เพราะเหมือนท่านรอรับไทยทานเพื่อเอามาทำทุนในเพศฆราวาส จึงตัดสินใจว่าจะไม่อยู่รอถึงวันนั้น

พอคิดแล้วพระเทพย์โมฬีจึงเตรียมจะเข้าไปถวายพระพรลาสึกต่อรัชกาลที่ 3 แต่ไม่ทันจะเข้าเฝ้าก็มีฎีกากรมสังฆการี (กรมการศาสนา) มาแจ้งความว่า “ขออาราธนาเจ้าคุณเทพย์โมฬี เข้าไปถวายพระธรรมเทศนากัณฑ์พิเศษ ในพระที่นั่งอัมรินทรวินิจฉัย มไหยสุริยพิมาน (ท้องพระโรง) ในพระราชวังหลวงเมื่อเวลายามหนึ่ง”
พระเทพย์โมฬีตกใจมาก จึงรีบเข้าเฝ้าก่อนเวลาถวายเทศน์กัณฑ์พิเศษ รัชกาลที่ 3 ทอดพระเนตรเห็นความลุกลี้ลุกลนของพระเทพย์โมฬี จึงทรงถามว่า “ชีต้นผึ้งเข้ามาหาโยมทำไม มีธุระร้อนอะไรหรือ หรือหลงวันเข้ามาจะเทศน์ วันนี้ยังไม่ทันถึงวันกำหนดนัดที่จะมีเทศน์”
พระเทพย์โมฬีจึงถวายพระพรว่า “ขอถวายพระพรเจริญแด่มหาบพิตรพระราชสมภารเจ้า อาตมาภาพขอถวายพระพรลาสึก ควรมิควรแล้วแต่จะทรงพระกรุณาโปรด ขอถวายพระพร”
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทราบก็ไม่ได้ยินดีกับการตัดสินใจนั้น ทรงพิโรธแล้วมีพระบรมราชดำรัสว่า “โยมชอบใจฟังชีต้นผึ้งเทศน์ เมื่อชีต้นจะสึกไม่เทศน์ให้โยมฟังก็ตามแต่ใจเถิด” แล้วจึงมีพระบรมราชโองการว่า “เฮ้ย อ้ายสังฆการีที่มึงไปวางฎีกานิมนต์ชีต้นผึ้งเทศน์นี้ ให้ถอนฎีกาเอามานิมนต์ชีต้นสาวัดบนเทศน์เถิด”
(ชีต้นสา คือ พระอมรโมฬี (สา) พระราชาคณะสามัญ วัดบวรนิเวศฯ ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นผู้เฉลียวฉลาดและเป็นนักปราชญ์อีกรูปหนึ่ง รัชกาลที่ 3 โปรดปรานมากพอ ๆ กับพระเทพย์โมฬี)
สังฆการีรับพระบรมราชโองการไปแจ้งพระอมรโมฬีตามที่รับสั่ง กลายเป็นว่าเรื่องกลับตาลปัตรยุ่งเหยิงไปอีก เมื่อพระอมรโมฬีรีบมาเข้าเฝ้าแล้วถวายพระพรว่า “อาตมาภาพขอถวายพรลาสึก” กราบทูลห้วน ๆ แล้วรีบกลับวัดไปเลย
รัชกาลที่ 3 จึงทรงทวีความพิโรธเป็นสองเท่า มีพระบรมราชโองการดำรัสว่า “ข้าชอบฟังเทศน์ท่านเจ้าผึ้ง ท่านเจ้าผึ้งก็ลาสึก ครั้นย้ายมานิมนต์ท่านเจ้าสาก็สึกเสียอีก ที่นี้ข้าจะไปฟังเทศน์ใครหนอ แต่เออว่าข้าไม่ของ้อท่านทั้งสอง ทีนี้ละเฮ้ย อ้ายสังฆการี มึงไปนิมนต์เหมาท่านเจ้าถึกวัดโพธิ์ทีเดียวเถอะหว่า” (ท่านเจ้าถึกคือ พระธรรมวโรดม เปรียญเอก 9 ประโยค วัดพระเชตุพนฯ)
ท้ายที่สุดเจ้าคุณผู้ร้อนผ้าเหลืองทั้งสองก็ได้รับอนุญาตให้สึก โดยนายผึ้งเข้าไปถวายตัวเป็นข้าในกรมพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นอมเรนทรบดินทร์ ส่วนนายสาเข้ามาถวายตัวเป็นข้าในพระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าอรรณพ
ไม่นานหลังจากนั้น มีโจทย์มาฟ้องนายผึ้งว่าเป็นปาราชิก ลักลอบคบชู้กับกับ เจ้าจอมมารดาม่วงแจ้ พระสนมเอกในสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ กรมพระราชวังบวรฯ หรือเจ้าวังหน้าในรัชกาลที่ 3 จึงโปรดเกล้าฯ ให้พระพิเรนทรเทพ (กระต่าย) เป็นตุลาการพิจารณาชำระความ
ปรากฏว่านายผึ้งให้การสารภาพรับเป็นสัตย์ตามคำกล่าวหาของโจทย์ทุกกระทงความ จึงโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพนักงานนำตัวไปสักหน้าผากเป็นตะพุ่นหญ้าช้างตามโทษานุโทษ
วิบากกรรมของนายผึ้งไม่จบเพียงเท่านั้น เพราะเมื่อถึงวันฉลองวัดพระเชตุพนฯ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้ช่างวาดเขียนฝีมือดีวาดรูปนายผึ้งขนาดเท่าคนจริงลงแผ่นกระดาษใหญ่ เป็นรูปนายตะพุ่นหญ้าช้างนุ่งผ้าเขียว ยืนหาบหญ้า มือถือเคียว มีฉลากปิดอักษรไทยเขียนว่า “นายผึ้ง เทพย์โมฬีหาบหญ้า”
เรียกว่าทรงขัดเคืองพระราชหฤทัย ถึงขึ้น “ประจาน” กันกลางเมืองเลยทีเดียว
เป็นอันว่าพระเทพย์โมฬี (ผึ้ง) ก็ชดใช้กรรมตามที่ตนก่อ อย่างไรก็ตาม ผลงานตำราเรียนสำหรับสอนกุลบุตรกุลธิดาอย่าง ปฐมมาลา ที่ท่านฝากไว้ถือเป็นกุศลใหญ่เช่นกัน เพราะทานใดจะยิ่งใหญ่ไปกว่า “วิทยาทาน” นั้นหาได้ยากยิ่ง…

อ่านเพิ่มเติม :
- อาบัติ “ปาราชิก” ย้อนดูเหตุการณ์ปาราชิกสมัยรัชกาลที่ 4
- ที่มา นิตยภัต-เงินถวายพระสงฆ์สามเณรที่เปลี่ยนไปตามยุคสมัย
- สาวสมัยพุทธกาลเข้าใจผิด คิดว่าช่วยคลายกำหนัดให้พระแล้วจะได้บุญ
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
ประยุทธ สิทธิพันธ์. (2506). ศาลไทยในอดีต. กรุงเทพฯ : สาส์นสวรรค์.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 20 พฤษภาคม 2568