อินทผลัม ผลไม้แขก รีวิวโดยเจ้านายสมัยรัชกาลที่ 5

เก็บ อินทผลัม ผลไม้แขก
ภาพการเก็บอินทผลัมในตริโปลี ลิเบีย เมื่อ ค.ศ. 1911

อินทผลัม ผลไม้แขกขึ้นชื่อในภูมิภาคตะวันออกกลาง ที่ครั้งหนึ่งสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงลิ้มลอง แต่อุทานไม่อร่อย

เมื่อ พ.ศ. 2434 สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสด็จประพาสจักรวรรดิออตโตมันเพื่อสร้างสัมพันธ์ทางการทูต นับเป็นการเยือนจักรวรรดิอิสลามในยุโรปครั้งแรกของเจ้านายสยาม 

การเสด็จครั้งนี้ทรงมีโอกาสได้เที่ยวเมืองอิสตันบูล และศึกษาวัฒนธรรมของตุรกีที่หลากหลาย พร้อมกันนั้นได้ทรงลองชิมและลองใช้ของแปลกถิ่นมากมาย ไม่ว่าจะเป็นกาแฟตุรกี มอระกู่ตุรกี และผลไม้แขก

แน่นอนผลไม้ขึ้นชื่อของแขกที่พระองค์ทรงลอง คงเป็นสิ่งใดไปไม่ได้ นอกจาก “อิทผลัม” แสนหวานอร่อย

ภาพอินทผลัมแห้ง (ภาพจาก Pixabay)

อินทผลัมนับเป็นผลไม้ขึ้นชื่อในภูมิภาคตะวันออกกลาง มีรสชาติหวานชุ่มฉ่ำ บางสายพันธ์ุแทบละลายในปาก นิยมบริโภคในหมู่ชาวมุสลิมช่วงเดือนรอมฎอน ซึ่งเป็นเดือนที่มุสลิมทุกคนต้องถือศีลอด คือการอดอาหารตั้งแต่พระอาทิตย์ขึ้น จนถึงพระอาทิตย์ตกดิน 

อินทผลัมดีอย่างไร

เมื่อถึงเวลารับประทานอาหารในช่วงรอมฎอน อินทผลัมจะเป็นสิ่งแรกที่ชาวมุสลิมนำเข้าปาก ตามคำแนะนำของศาสดามูฮัมหมัด เนื่องจากเป็นผลไม้ที่ให้พลังงานได้เป็นอย่างดี ทดแทนสารอาหารที่ขาดไปตลอดทั้งวัน และมีรสชาติหวานจากน้ำตาลธรรมชาติ ทำให้ตื่นตัว

แม้อินทผลัมจะมีรสชาติหวานมาก แต่กลับเป็นผลไม้ที่ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดได้เป็นอย่างดี เพราะมีเส้นใยละลายน้ำได้ (Soluble Fiber) ช่วยชะลอการดูดซึมน้ำตาลเข้าสู่กระแสเลือด เมื่อรับประทานอินทผลัม ร่างกายจะได้รับน้ำตาลอย่างค่อยเป็นค่อยไป ไม่ทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดพุ่งสูง

สรรพคุณของอินทผลัมยังมีอีกมาก อย่างการให้พลังงานในทันที สนับสนุนการย่อยอาหาร บำรุงหัวใจ หลอดเลือด และสมอง รวมถึงเหมาะสำหรับผู้ต้องการควบคุมน้ำตาลในเลือด หรืออยากบริโภคของหวานแบบรักษาสุขภาพอีกด้วย

จากประโยชน์นานาประการข้างต้น ทำให้ชาวมุสลิมเลือกที่จะรับประทานอินทผลัมเป็นลำดับแรกเมื่อถึงเวลาละศีลอด โดยอินทผลัมจะมีอยู่ 2 ลักษณะด้วยกัน คือแบบสดและแห้ง ทั้งสองมีรสชาติคล้ายกัน เพียงแต่เนื้อสัมผัสของแบบสดจะฝาดกว่ามาก 

ภาพอินทผลัม ผลสดบนต้น (ภาพจาก Pixabay)

เมื่อเจ้านายยุค ร.5 ทรงชิมอินทผลัมสด

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสด็จเยือนออตโตมัน ทรงมีโอกาสได้ลิ้มลองอินทผลัมสด และทรงบันทึกไว้ในเรื่อง “ไปเมืองเตอร์กี” เรื่องราวเริ่มต้นที่ความอยากรู้อยากเห็นของพระองค์และคณะ เมื่อวันหนึ่งทรงมีโอกาสเสด็จไปตลาด 

ระหว่างที่ทรงเดินอยู่นั้น พระยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์ ขุนนางในคณะ บังเอิญเห็นลูกอินทผลัมสดเข้า จึงกลับมาทูลสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ว่ามาเมืองแขกทั้งที หากไม่ได้ชิมอินทผลัมสดก็ดูจะน่าเสียดายใช่น้อย 

พระองค์จึงทรงบอกให้เจ้าพนักงานที่คอยดูแลคณะทูตช่วยหาอินทผลัมสดมาให้ ดังในเนื้อความว่า

“แต่ของแขกที่เราคบคิด​กันลองเอาเองก็มี คือเมื่อวันไปตลาด พระยาเทเวศร์ตาไว ไปเห็นลูกอินทผาลำสดที่เขาขาย กลับมาปรารภว่า มาถึงเมืองแขกไม่ได้กินลูกอินทผาลำสดจะเสียไป ลงเนื้อเห็นชอบพร้อมกัน จึงแต่งทูตไปกระซิบสั่งท่านเจ้าพนักงาน ให้หาอินทผาลำสดมาได้ในเวลาวันหนึ่ง”

เจ้าพนักงานจัดหามาให้ตามรับสั่ง ซึ่งระหว่างที่เสวยพระกระยาหารอยู่นั้น ก็ทรงบรรยายถึงลักษณะของอินทผลัมสดว่าคล้ายกับลูกหมาก แต่มีสีเหลืองเหมือนเปลือกตะโก หลังจากพิจารณาลักษณะภายนอกเพื่อคลายความสงสัยแล้ว พระองค์ก็ทรงลิ้มรสเนื้อในว่าจะอร่อยเพียงใด 

แต่เมื่อพระองค์เสวยอินทผลัมไปได้ครึ่งซีก ก็ถึงกับทรงอุทานเสียใจกับรสชาติที่คาดหวัง เพราะมีรสคล้ายกับละมุดของไทย แต่หยาบและหวานกว่า ถ้านำไปเทียบกันก็ไม่มีทางสู้ละมุดได้

“เมื่อนั่งกินของคาวพิจารณาดูรูปร่างอินทผาลำสดคล้ายกับลูกหมากเหลาหลก แต่เปลือกสีเหลืองแลบางอย่างทำนองเปลือกตะโก ถึงของหวานปลิดมากินลองดูกึ่งลูก พอรู้รศก็ออกเสียใจ รศชาติเหมือนกับลมุดไทยเรานี้เอง แต่จะหยาบกว่าแลหวานกว่า ถ้าจะเทียบกับลมุดก็สู้ลมุดไม่ได้”

ภาพละมุด (ภาพจาก Pixabay)

พระองค์ทรงบันทึกทิ้งท้ายไว้อีกว่า ห้ามเชื่อหากใครมากล่าวว่าอินทผลัมสดอร่อย เพราะลองแล้วไม่ใช่ความจริงเลยแม้แต่น้อย 

“ได้รู้เห็นทดลองมาดังนี้ จึงขอแนะนำไว้แก่ท่านทั้งหลายเผื่อแขกฤๅใครจะมาอวดว่า อินทผาลำสดอร่อยแล้ว อย่าได้เชื่อเลยเปนอันขาด อินทผาลำนี้เหมือนเครื่องลายคราม ต้องแห้งสนิทหมดเขม่าไฟแล้วจึงจะเปนของดี ๚”

จากความข้างต้นสังเกตได้ว่า พระองค์อาจชอบเสวยอินทผลัมแห้งมากกว่าอย่างเห็นได้ชัด

แน่นอนว่าเรื่องของรสชาติขึ้นอยู่กับความพอใจของแต่ละบุคคล ซึ่งทั้งหมดเป็นความเห็นส่วนพระองค์ของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทั้งนี้การบรรยายก็ทำให้เห็นถึงผลไม้ที่แปลกใหม่ในเวลานั้นของเจ้านายสยาม และความสนุกเพลิดเพลินกับการท่องเที่ยวและศึกษาวัฒนธรรมของเจ้านายสมัย ร.5 ในจักรวรรดิอิสลามในยุโรป

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยา, 2405-2486, นริศรานุวัดติวงศ์, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้า กรมพระยา, 2406-2490 และ นครสวรรค์วรพินิต, จอมพลเรือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้า กรมพระ, 2424-2487 (2504). โดยสารเรือเมล์ไปยุโรป เที่ยวเมืองพม่า, พระเขี้ยวแก้ว ไปเมืองเตอรกี เที่ยวอินเดีย. องค์การค้าของคุรุสภา.

ประโยชน์ของอินทผาลัม ผลไม้รสหวานที่ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด. (n.d.). Retrieved from Rattinan Clinic: https://www.rattinan.com/date-palm/


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 15 พฤษภาคม 2568