
ผู้เขียน | ธนกฤต ก้องเวหา |
---|---|
เผยแพร่ |
เหตุลอบปลงพระชนม์กรมพระราชวังบวรฯ เรื่องใหญ่สมัยต้นกรุงเทพฯ เมื่อ 2 กบฏลักลอบเข้าวังหน้าเพื่อประทุษร้ายสมเด็จพระอนุชาธิราชในรัชกาลที่ 1 ระหว่างเสด็จไปทรงบาตรยามเช้า
เรื่องราวนี้ปรากฏในพงศาวดาร โดยระบุว่าเกิดขึ้นในปีเถาะ เบญจศก จุกศักราช 1145 ตรงกับ พ.ศ. 2326 ซึ่งเป็นปีที่ 2 ของแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่ 1)
ตามธรรมดาหากพระสงฆ์รับบิณฑบาตตามบ้านของราษฎร จะไม่คอยท่าเหมือนรับตามวังเจ้าและบ้านผู้มีบรรดาศักดิ์ใหญ่ ๆ ซึ่งบางครั้งต้องรอนานมาก กว่าจะได้รับก็สาย กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท หรือ “วังหน้าพระยาเสือ” สมเด็จพระอนุชาธิราชในรัชกาลที่ 1 จึงโปรดให้ตั้งพระราชกำหนดขึ้นใหม่ในวังหน้า ให้เจ้าพนักงานเตรียมข้าวทรงบาตรมาตั้งไว้ก่อนนิมนต์พระสงฆ์มารับ โดยพระองค์จะเสด็จมาทรงบาตรเวลา 7 โมงเช้าเป็นประจำ
ด้วยเหตุนี้ ประตูดินวังหน้า หรือพระราชวังบวรสถานมงคล จึงต้องเปิดตั้งแต่ก่อนเวลาย่ำรุ่ง เพื่อให้เจ้าพนักงาน หรือพวกวิเสทปากบาตรขนข้าวทรงบาตรเข้าไปเตรียมไว้

พอมีพระราชกำหนดดังกล่าวไม่นาน ได้มีอ้ายบัณฑิต หรือทิด (ผู้บวชเรียนแล้วสึกออกมา) 2 คน พเนจรมาจากเมืองนครนายก โอ้อวดว่าตนมีวิชาความรู้ สามารถล่องหนหายตัวได้ มาอาศัยอยู่กับ “นายวิเสทปากบาตร” อยู่หลายวัน ก่อนจะคิดกำเริบใช้ช่องโหว่ด้านความปลอดภัยในพระราชกิจรายวันดังกล่าว เพื่อประทุษร้ายกรมพระราชวังบวรฯ
นายวิเสทปากบาตรนี้มีชื่อจริงว่า นางเอี้ยง นอกจากมีหน้าที่ดูแลข้าวทรงบาตรของกรมพระราชวังบวรฯ แล้ว ยังเป็นมารดาของ “เจ้าจอมภู่” เจ้าจอมของวังหน้าด้วย
ในการก่อการครั้งนั้น 2 ทิดได้คบคิดกันกับขุนนางหลายคน เช่น พระยาอภัยรณฤทธิ์ และนางเอี้ยงนายวิเสทปากบาตร เพื่อวางแผนลอบ “ปลงพระชนม์” กรมพระราชวังบวรฯ
วันศุกร์ เดือน 5 แรม 5 ค่ำ เวลาเช้าตรู่ พวกผู้หญิงวิเสทวังหน้าพากันขนกระบุงข้าวทรงบาตรเข้าไปทางประตูดิน นางเอี้ยงเป็นต้นคิดแต่งตัวให้ 2 ทิด นุ่งห่มผ้าอย่างผู้หญิง ถือดาบซ่อนไว้ในผ้าห่ม แล้วลอบเข้าไปในวังหน้า โดยขึ้นไปแอบอยู่ 2 ข้างพระทวารพระราชมณเทียร คอยดักทำร้ายกรมพระราชวังบวรฯ
พงศาวดารเล่าว่า “ด้วยเดชะพระบารมีบุญญาภินิหาร เวลาวันนั้นหาเสด็จลงทรงบาตรทางพระทวารมุขนั้นไม่ เทพยดาดลพระทัยให้ทรงพระราชดำริจะลงมาเฝ้าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ณ พระราชวังหลวง ก็เสด็จทางพระทวารข้างหน้า แล้วเสด็จมายังพระราชวังหลวงแต่เวลาเช้าก่อนทรงบาตร”
2 ทิดจึงพลาดโอกาสไปอย่างหวุดหวิด แต่ขณะกำลังหลบข้างประตูอย่างกระหายเลือดนั้น ปรากฏว่านางพนักงานวังหน้าพบเข้าก็ตกใจร้องวิ่งอื้ออึงว่า มีผู้ชาย 2 คนถือดาบขึ้นมาอยู่ที่พระทวาร ทำให้แผนของอ้ายบัณฑิตแตกไม่เป็นท่า ตกกระไดพลอยโจนต้องวิ่งไล่จับนางพนักงาน พอดีกับมีขุนหมื่นกรมวังคนหนึ่งคุมไพร่เข้าไปก่อถนนอยู่ในพระราชวัง 2 ทิดจึงเอาดาบฟันขุนหมื่นผู้นั้นศีรษะขาด ล้มลงตายอยู่ตรงนั้น
เกิดความโกลาหลใหญ่โตขึ้นไปอีก พวกเจ้าจอมข้างในและจ่าโขลนพากันตกใจ ร้องอื้ออึงบอกมายังข้าราชการข้างหน้า พวกข้าราชการจึงพากันกรูเข้าไปในวังหน้า ไล่ล้อมจับฆาตกรโหดทั้งสอง เอาไม้เอาอิฐทุบตีขว้างปาเป็นอลหม่าน บางคนวิ่งมายังพระบรมมหาราชวัง กราบทูลเหตุให้ทรงทราบ
ขณะนั้นรัชกาลที่ 1 และสมเด็จพระอนุชาธิราชประทับอยู่ในท้องพระโรง ได้ทรงทราบจึงทรงมีพระราชดำรัสให้ข้าราชการและตำรวจทั้งวังหลวงและวังหน้าไปช่วยกันจับกบฏ
“ช่วยกันทุบตีล้มลงจับได้มัดไว้ให้ชำระถาม อ้ายกบฏให้การซัดพวกเพื่อนที่ร่วมคิดกบฏด้วยกันเป็นอันมาก ถูกข้าราชการทั้งวังหลวงและวังหน้าเป็นหลายนาย พระยาอภัยรณฤทธิ์ เป็นต้น กับทั้งพวกผู้หญิงวิเสทปากบาตรวังหน้า ยังนอกนั้นทั้งนายไพร่อีกหลายคนมีพระราชบัณฑูรให้เฆี่ยนสอบกับอ้ายบัณฑิตรับเป็นสัตย์…”
นางเอี้ยงให้การว่า ตนหลงเชื่อฟังอ้ายบัณฑิตเพราะอ้างเรื่องวิชาอาคมต่าง ๆ จนหลวมตัวสาบานตนว่าจะขอพึ่งบุญของมัน เมื่อก่อการสำเร็จ จะยอมยกบุตรหญิงคือเจ้าจอมภู่ให้เป็นภรรยา เพื่อจะได้เป็นมเหสีต่อไป
กรมพระราชวังบวรฯ จึงให้ลงพระราชอาญาตามโทษทัณฑ์ ประหารชีวิตกบฏทั้งหมด
เหตุร้ายแรงดังกล่าวเกิดขึ้นบริเวณที่จะสร้างปราสาท ซึ่งวังหน้าพระยาเสือโปรดให้สร้างเหมือนอย่างพระที่นั่งบรรยงค์รัตนาสน์ที่กรุงศรีอยุธยา จึงเป็นมูลเหตุจูงพระทัยให้ล้มเลิกพระราชดำริดังกล่าว เพราะทรงเห็นว่าวังหน้าอยุธยาไม่มีปราสาท หากทรงสร้างขึ้นเองจะเกินวาสนา แล้วโปรดให้เอาไม้ที่เตรียมไว้ไปสร้างพระมณฑปที่วัดมหาธาตุ
ส่วนบริเวณซึ่งจะสร้างปราสาทก็โปรดให้สร้างพระวิมานถวายเป็นพุทธบูชา ขนานนามว่า “พระพิมานดุสิต” สำหรับประดิษฐานพระพุทธรูปแทน
นับเป็นเหตุรุนแรงในต้นรัชกาลที่ 1 ซึ่งค่อนข้างใหญ่โตและสะเทือนขวัญ เพราะมีผู้เสียชีวิตและถูกลงโทษประหารชีวิตจำนวนมาก

อ่านเพิ่มเติม :
- กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ทรงเสี่ยงทายอธิษฐาน? ก่อนสวรรคต
- รัชกาลที่ 1-3 ทรงคัดเลือก “ขุนนางวังหน้า” อย่างไร ไม่ให้ตีกับขุนนางวังหลวง?
- วีรกรรมของเจ้าพระยาสุรสีห์ ทหารที่พระเจ้าตากสินมหาราชทรงรักจน “ฆ่าไม่ลง”
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
ประยุทธ สิทธิพันธ์. (2506). ศาลไทยในอดีต. กรุงเทพฯ : สาส์นสวรรค์.
ทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค), เจ้าพระยา เรียบเรียง; สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงตรวจชำระและทรงพระนิพนธ์อธิบาย. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๑. พิมพ์ครั้งที่ 6. กรุงเทพฯ : กองวรรณคดีและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 15 พฤษภาคม 2568