
ผู้เขียน | ธนกฤต ก้องเวหา |
---|---|
เผยแพร่ |
33 ประตูรอบกำแพงเมืองกรุงศรีอยุธยา
“อยุธยา” ศูนย์กลางอำนาจของคนไทยลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ราชธานีของอาณาจักรสยามที่ยืนยงอยู่กว่า 417 ปี รากฐานสำคัญคือการมีป้อมค่ายและกำแพงเมืองแน่นหนารอบพระนครสำหรับต้านทานศัตรู ซึ่งตลอดแนวก็จะมีประตูรอบกำแพงเมืองกรุงศรีอยุธยาสำหรับเข้า-ออก และเป็นทางน้ำของลำคลองที่ไหลเวียนในเมือง

ใน คำให้การชาวกรุงเก่า เผยว่า ตัวพระนครของกรุงศรีอยุธยามีกำแพงสูง 3 วา หนา 6 ศอก นอกจากตัวกำแพงจะมีพื้นที่สำหรับให้ทหารยืนประจำหน้าที่กว้าง 3 ศอกแล้ว ยังมีป้อม 16 ป้อม กับประตูทางน้ำและประตูทางบกรวมอีกจำนวนมากในชื่อแตกต่างกัน ดังนี้
ด้านตะวันออกเฉียงเหนือ
1. ประตูโอฬารริกฉัตร
2. ประตูศรีไชยจักร (ประตูศรีไชยศักดิ์ ประตูพระราชวังชั้นนอก)
3. ประตูปราบไภยจักรรัตน (ประตูจักรมหิมา)
4. ประตูไชยานุภาพ (พ้องกับชื่อพระยาช้างต้น ชื่อจริงอาจขึ้นคำอื่น แต่ลงท้าย “นุภาพ” นึกชื่อประตูไม่ได้ คล่องปากกับชื่อช้าง จึงเรียกเป็นชื่อประตูไป)
ด้านตะวันออกและด้านใต้
5. ประตูช้างรวางใน
6. ประตูท่ากลาโหม
7. ประตูเข้าเปลือก (ประตูน้ำ)
8. ประตูท่าช้าง (ประตูท่าช้างวังหน้า)
9. ประตูฉนวนวังน่า
10. ประตูหอรัตนไชย (ประตูน้ำ)
11. ประตูเจ้าจัน
12. ประตูน้ำ
13. ประตูพระบือ (ประตูกระบือ)
14. ประตูสามม้า (ประตูน้ำคลองในไก่)
15. ประตูจีน (ประตูน้ำ)
16. ประตูเทพหมี (ประตูน้ำ)
17. ประตูไชย
18. ประตูฉะไกรน้อย (ประตูน้ำ)
19. ประตูฉะไกรใหญ่ (ประตูน้ำ)
20. ประตูน่าปราบ (เห็นจะเปนน่าวัดเจ้าปราบ)
21. ประตูท่าราษฎร์ (เห็นจะเปนประตูตลาดยอด)
ด้านตะวันตก
22. ประตูวังไชย
23. ประตูวังหลัง
24. ประตูท่าพระ
25. ประตูช้าง
ด้านตะวันตกเฉียงเหนือ
26. ประตูสวน (ประตูสวนหลวง)
27. ประตูช่องกุฏิ
28. ประตูหมูทลวง (ประตูน้ำ)
29. ประตูเสวย (บางแห่งเรียกประตูเสวยน้ำ)
ด้านเหนือ
30. ประตูมหาไพชยนต์
31. ประตูทวารอุทก
32. ประตูเสาธงไชย
33. ประตูช้างเผือก
รวมทั้งสิ้นเป็น 33 ประตูรอบกำแพงพระนคร สะท้อนความยิ่งใหญ่ของกรุงศรีอยุธยาในอดีต เมื่อเสียกรุงครั้งที่ 2 ใน พ.ศ. 2310 ประตูเหล่านี้ รวมถึงกำแพงเมืองก็ชำรุดทรุดโทรมจนเลือนหายไปตามกาลเวลาและกระแสประวัติศาสตร์

อ่านเพิ่มเติม :
- ไขปริศนาภาพ “ยูเดีย” ภาพกรุงศรีอยุธยาที่เก่าแก่และงดงามสุด
- กำแพงเมืองอยุธยาทิศตะวันออก สร้างใหม่หลังเสียกรุงครั้งที่ 1
- ตามรอย “สะพานช้าง-คลองประตูข้าวเปลือก” ฉากหลังครั้งสงครามกลางเมืองอยุธยา
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
พระยาเจริญราชธน (มิ้น เลาหเสรษฐี). (2557). คำให้การชาวกรุงเก่า (คำให้การขุนหลวงหาวัด). กรุงเทพฯ : ณสพานยศเส.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 14 พฤษภาคม 2568