กำแพงเมืองอยุธยาทิศตะวันออก สร้างใหม่หลังเสียกรุงครั้งที่ 1

กำแพงเมืองอยุธยาทิศตะวันออก

สมเด็จพระมหาธรรมราชา สร้างกำแพงเมืองอยุธยาทิศตะวันออกขึ้นใหม่ หลังการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 1

กรุงศรีอยุธยาที่เราเห็นปัจจุบันมีสภาพเป็นเกาะ โดยมีแม่น้ำลพบุรีหรือคลองเมืองทางด้านทิศเหนือ แม่น้ำเจ้าพระยาทางด้านทิศตะวันออกและทิศใต้ และแม่น้ำป่าสักทางด้านทิศตะวันออก และก็มีกำแพงเมืองล้อมรอบตามแนวแม่น้ำ 

แต่ก่อนหน้าสมัยของสมเด็จพระมหาธรรมราชา กำแพงเมืองอยุธยาทิศตะวันออกไม่ได้ชิดแม่น้ำป่าสัก

เรื่องนี้ต้องอธิบายก่อนว่า แต่เดิมแนวแม่น้ำป่าสักไม่ได้ไหลอย่างเช่นปัจจุบัน แนวลำน้ำเดิมนั้นเป็นเพียง “คูขื่อหน้า” แนวลำน้ำแต่เดิมสันนิษฐานว่าคือคลองหันตรา

จากการสำรวจของพระยาโบราณราชธานินทร์ (พร เดชะคุปต์) สมุหเทศาภิบาลมณฑลอยุธยาในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้ตรวจสอบทางภูมิศาสตร์แล้วพบว่า ที่ตั้งของกรุงศรีอยุธยาแต่เดิมไม่ได้เป็นเกาะ แต่มีลักษณะคล้ายแหลมที่ยื่นจากทุ่งหันตราทางด้านทิศตะวันออกไปสู่ด้านทิศตะวันตก จนถึงแนวแม่น้ำเจ้าพระยาที่ไหลลงมาจากด้านทิศเหนือ แล้วแม่น้ำเจ้าพระยาก็ไหลวกลงเป็นแนวด้านทิศใต้ที่หน้าวัดพนัญเชิง ทำให้แผ่นดินที่คล้ายแหลมนี้มีแม่น้ำล้อมรอบสามด้าน โดยมีลำรางสายเล็ก ๆ เรียกว่า คูขื่อหน้าอยู่ด้านทิศตะวันออกของเมือง

และแนวกำแพงเมืองด้านทิศตะวันออกก็ไม่ได้อยู่ประชิดคูขื่อหน้า แต่ขยับร่นเข้ามาด้านทิศตะวันตก จนทำให้มีพื้นที่ระหว่างกำแพงเมืองกับคูขื่อหน้า

แผนที่กรุงศรีอยุธยาในจดหมายเหตุ ลาลูแบร์ ฉบับ ภาษาฝรั่งเศส พิมพ์ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ในปี พ.ศ. 2236 ตรงกับต้นรัชสมัยสมเด็จพระเพทราชา เป็นแผนที่กรุงศรีอยุธยาฉบับเดอ ลา ลูแบร์ แผ่นแรกสุด (ภาพและคำอธิบายจากหนังสือกรุงศรีอยุธยาในแผนที่ฝรั่งเศส ของธวัชชัย ตั้งศิริวาณิช สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2549 หน้า 84)

พื้นที่ดังกล่าวนี้เองที่เป็นจุดอ่อนด้านยุทธศาสตร์ของกรุงศรีอยุธยา โดยเมื่อครั้งที่พม่ายกกองทัพมาประชิดเมืองในช่วง พ.ศ. 2112 (การเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 1) กองทัพพม่าได้ยกทัพข้ามคูขื่อหน้ามาตั้งอยู่ในบริเวณพื้นที่นี้นั่นเอง

เป็นเหตุให้สมเด็จพระมหาธรรมราชา โปรดให้ขุดขยายคูขื่อหน้าให้กว้างขึ้น พร้อมกับสร้างกำแพงเมืองด้านทิศตะวันออกใหม่ โดยให้ขยับมาประชิดคูขื่อหน้า ทั้งยังสร้างวังจันทรเกษมไว้ภายในกำแพงเมืองด้านทิศตะวันออกนี้ด้วย

นั่นจึงทำให้แนวกำแพงเมืองประชิดกับแนวแม่น้ำทุกด้านนั่นเอง

ผลจากการขุดขยายคูขื่อหน้าก็ทำให้แม่น้ำป่าสักไหลเชี่ยวกัดเซาะตลิ่ง คูขื่อหน้าจึงกลายสภาพเป็นเส้นทางหลักของแนวแม่น้ำป่าสักไปอย่างที่เห็นในปัจจุบัน

ludea ยูเดีย

พระราชพงศาวดาร ฉบับหลวงประเสริฐ ระบุว่า “ศักราช 942 มะโรงศก (พ.ศ. 2123) รื้อกำแพงกรุงพระนครออกไป ตั้งถึงริมแม่น้ำ”

ขณะที่พระราชพงศาวดาร ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ระบุว่า “ลุศักราช 932 ปีมะเมียโทศก (พ.ศ. 2113) สมเด็จบรมบพิตรพระพุทธเจ้าหลวง ตรัสให้เหลือกกำแพงรอบพระนครลงไปตั้งเถิงริมแม่น้ำ แล้วให้ตบแต่งป้อมหัวรบชายเขื่อนรอบพระนครแล้ว ให้ขุดคูในด้านขื่อพระนคร เบื้องบุรพทิศนั้นให้กว้างกว่าคูเก่า แล้วให้ตบแต่งการที่จะป้องกันราชศัตรูนั้นเป็นมั่นคง”

ศักราชในพระราชพงศาวดารแตกต่างกันถึง 10 ปี แต่พระราชพงศาวดาร ฉบับหลวงประเสริฐ ได้รับการยกย่องว่ามีความแม่นยำเรื่องศักราชมาก ดังนั้นจึงเชื่อว่า การขุดขยายคูขื่อหน้าให้กว้างขึ้น พร้อมกับสร้างกำแพงเมืองด้านทิศตะวันออกใหม่ น่าจะกระทำขึ้นใน พ.ศ. 2123

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง : 

พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) และพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับหลวงประเสริฐ, คำให้การชาวกรุงเก่า, คำให้การขุนหลวงหาวัด. (2553). นนทบุรี : ศรีปัญญา.

สุจิตต์ วงษ์เทศ. (2544). อยุธยายศยิ่งฟ้า. กรุงเทพฯ : มติชน.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 26 กันยายน 2567