เจาะตำนาน วัดพนัญเชิง-ตำบลสำเภาล่ม จุดบรรจบเจ้าพระยา-ป่าสัก น้ำเชี่ยวทำเรือล่ม

ภาพวาด กรุงศรีอยุธยา
ภาพวาดกรุงศรีอยุธยา วาดโดย Struys Jan Janszoon ค.ศ. 1681

ตำนาน “พระเจ้าสายน้ำผึ้ง” กับ “พระนางสร้อยดอกหมาก” เป็นมุขปาฐะที่เล่าเรื่องราวของกรุงศรีอยุธยาช่วงก่อนการก่อตั้งเมืองในสมัยพระเจ้าอู่ทอง เป็นเรื่องเล่านิทานพื้นบ้านที่มีความเชื่อมโยงกับ “วัดพนัญเชิง” รวมถึงพื้นที่นอกเมืองทางทิศใต้ของกรุงศรีอยุธยา

ตำนานเรื่องนี้ปรากฏอยู่ในเอกสารประวัติศาสตร์ 2 แหล่ง คือ พงษาวดารเหนือ และคำให้การชาวกรุงเก่า

Advertisement

ในพงษาวดารเหนือกล่าวถึงตำนานเรื่องนี้ กล่าวโดยสรุปคือ พระเจ้าสายน้ำผึ้งทรงรับพระนางสร้อยดอกหมาก พระราชธิดาพระเจ้ากรุงจีนมาเป็นพระอัครมเหสี ถึงที่เมืองจีนด้วยพระองค์เอง เมื่อพิสูจน์บุญญาบารมีให้เป็นที่ประจักษ์แก่พระเจ้ากรุงจีนแล้ว จึงเดินทางกลับมายังกรุงศรีอยุธยาพร้อมด้วยพระนางสร้อยดอกหมาก และสำเภา 4 ลำ

พระเจ้าสายน้ำผึ้งและพระนางสร้อยดอกหมากเดินทาง 15 วันจากเมืองจีนสู่กรุงศรีอยุธยา พระเจ้าสายน้ำผึ้งเสด็จลงจากสำเภาตรงปากน้ำแม่เบี้ยมุ่งสู่พระราชวัง ทรงสั่งให้จัดตำหนักซ้าย-ขวา แต่ทรงไม่สะดวกมารับพระนางสร้อยดอกหมากด้วยพระองค์เอง โปรดให้เถ้าแก่ขึ้นเรือพระที่นั่งมารับพระนางเข้าพระราชวัง

เรือนแพเรียงรายอยู่แน่นขนัดสองฝั่งคลองเมืองที่อยุธยา ภาพถ่ายสมัยรัชกาลที่ 6

ทว่า พระนางสร้อยดอกหมากทรงมีพระประสงค์ให้พระเจ้าสายน้ำผึ้งเสด็จมารับพระนางด้วยพระองค์เอง เถ้าแก่กลับไปกราบทูลพระเจ้าสายน้ำผึ้งว่าพระนางสร้อยดอกหมากทรงไม่ยอมเสด็จมาหากพระองค์ไม่เสด็จไปรับ พระองค์จึงตรัสหยอกเล่นว่า “มาถึงที่นี่แล้ว จะอยู่ที่นั่นก็ตามเถิด” พระนางทรงทราบดังนั้นทรงเศร้าพระทัยมาก เมื่อพระเจ้าสายน้ำผึ้งเสด็จมารับ พระนางทรงตัดพ้อไม่ยอมเสด็จ พระเจ้าสายน้ำผึ้งจึงตรัสว่า “ไม่มาก็อยู่นี่” พอตรัสเสร็จพระนางทรงกลั้นพระทัยจนสิ้นพระชนม์

และเมื่อชาวจีนทราบว่าพระนางสร้อยดอกหมากสิ้นพระชนม์ พากันโศกเศร้าร่ำไห้ แล้วเชิญพระศพของพระนางมาถวายพระเพลิงที่แหลมบางกระจะ แล้วสร้างเป็นวัดขึ้นมีชื่อว่า “วัดพระเจ้าพระนางเชิง” [ต่อมาจึงเพี้ยนมาเป็น “วัดพนัญเชิง” – ผู้เขียน]

ขณะที่คำให้การชาวกรุงเก่ากล่าวถึงตำนานเรื่องนี้ต่างออกไป กล่าวโดยสรุปคือ พระนางสร้อยดอกหมากอภิเษกสมรสกับพระเจ้าประทุมสุริยวงศ์แห่งกรุงอินทรปัตถ์ (กัมพูชา) และพระนางสร้อยดอกหมากในพงษาวดารเหนือมีพระชนม์ชีพสั้น ส่วนพระนางสร้อยดอกหมากในคำให้การชาวกรุงเก่ากลับมีพระชนม์ชีพสืบมาจนกระทั่งมีพระราชโอรสและพระราชธิดาถวายพระเจ้าประทุมสุริยวงศ์ 

แต่เรื่องเล่าในเอกสารทั้งสองนี้มีที่ตรงกันคือ พระนางสร้อยดอกหมากกำเนิดจากจั่นหมาก

ตำนานพระนางสร้อยดอกหมากในพงษาวดารเหนือถูกนำมาผูกโยงกับการเกิดขึ้นของวัดพนัญเชิง เป็นตำนานอธิบายเหตุหรือที่มาของสถานที่แห่งนี้ ขณะเดียวกัน ในพื้นที่นอกเมืองทางทิศใต้ของกรุงศรีอยุธยาฝั่งตรงข้ามวัดพนัญเชิงนั้น มีบริเวณที่เรียกว่า “ตำบลสำเภาล่ม” เล่ากันว่า หลังจากพระนางสร้อยดอกหมากทรงกลั้นพระทัยจนสิ้นพระชนม์ แล้วนำพระศพของพระนางมาประกอบพิธียังบางกระจะแล้ว ชาวจีนที่ติดตามพระนางมาจากเมืองจีนพร้อมใจกันเจาะสำเภาเพื่อตายตามพระนาง แต่ด้วยกระแสน้ำไหลเชี่ยวจึงพัดสำเภามาล่มอีกฝั่งแม่น้ำ เรียกบริเวณนั้นว่า “สำเภาล่ม”

หากพิจารณาภูมิศาสตร์ของกรุงศรีอยุธยา จากคำบอกเล่าของพระยาโบราณราชธานินทร์ สมุหเทศาภิบาลในสมัยรัชกาลที่ 5 อธิบายว่า แผ่นดินตรงที่ตั้งกรุงศรีอยุธยาแต่เดิมไม่ได้เป็นเกาะ แต่มีลักษณะคล้ายแหลมที่ยื่นจากทุ่งหันตราทางทิศตะวันออกไปทางทิศตะวันตก จนถึงแนวแม่น้ำเจ้าพระยาที่ไหลลงมาจากทิศเหนือแล้วไหลวกลงเป็นแนวทางทิศใต้ที่หน้าวัดพนัญเชิง ทำให้แผ่นดินที่คล้ายแหลมนี้มีแม่น้ำล้อมรอบสามด้าน

แต่ทิศตะวันออกนั้นมีลำรางสายเล็กเรียกคูขื่อหน้า ไหลจากหัวรอไปบรรจบแม่น้ำเจ้าพระยาที่หน้าวัดพนัญเชิง ครั้นในสมัยสมเด็จพระมหาธรรมราชาโปรดให้ขุดขยายคูขื่อหน้าให้กว้างกว่าเดิม เมื่อนานเข้าก็ทำให้สายน้ำเดินทางคูขื่อหน้าไหลเชี่ยวแรงจัดขึ้น กัดเซาะตลิ่งพังกว้างออกไปจนกลายเป็นแม่น้ำป่าสักอย่างที่เรียกทุกวันนี้

บริเวณแม่น้ำป่าสักด้านทิศตะวันออกของกรุงศรีอยุธยาที่ไหลเป็นทางตรง กระแสน้ำจึงไหลเชี่ยวกว่าแม่น้ำเจ้าพระยาที่ไหลอย่างคดเคี้ยว จากทิศเหนือแล้วไหลวกลงเป็นแนวทางทิศใต้ กระแสน้ำด้านนี้จึงถูกชะลอไม่ไหลเชี่ยวมากเท่ากับแม่น้ำป่าสัก ดังนั้น จุดที่แม่น้ำทั้งสองสายมาบรรจบกันบริเวณวัดพนัญเชิง จึงเป็นจุดที่กระแสน้ำไหลเชี่ยวและมีปริมาณน้ำมาก หากไม่มีความรู้เชี่ยวชาญเดินเรือมากพอ ก็อาจทำให้เรือล่ม บริเวณนี้จึงอาจเป็นจุดที่มีสำเภาล่มมาก

ภาพประกอบเนื้อหา – ภาพวาดทิวทัศน์บริเวณ วัดพนัญเชิง อยุธยา จากรูปถ่าย วาดโดย M.Therond

นอกจากจุดที่แม่น้ำมาบรรจบดังกล่าวข้างต้นแล้ว บริเวณแม่น้ำเจ้าพระยาหน้าวัดไก่เตี้ยพฤฒาราม ตรงข้ามกับตำบลเกาะเรียน ซึ่งอยู่ห่างจากวัดพนัญเชิงและตำบลสำเภาล่มลงมาทางใต้ (คนละฟากแม่น้ำ) ราว 5 กิโลเมตร สันนิษฐานว่าอาจใช้เป็นจุดจอดสำเภาอีกจุดหนึ่ง (จุดจอดเรือสำคัญอยู่บริเวณท้ายคู) ซึ่งพบโบราณวัตถุจากเรือที่จมอยู่ใต้แม่น้ำ อาจมีเรือสำเภาขนาดใหญ่บางลำมาล่มในบริเวณนี้ จนทำให้ได้รับการขนานนามว่าตำบลสำเภาล่ม

ดังนั้น จึงมีความเป็นไปได้ว่า ในสมัยหลังได้มีการผูกเรื่องชาวจีนเจาะสำเภาเพื่อตายตามพระนางสร้อยดอกหมากขึ้นมาเพื่ออธิบายที่มาของสถานที่บริเวณนี้ เป็นเรื่องเล่าที่ขยายต่อจากตำนานพระนางสร้อยดอกหมาก

ตำนานพระนางสร้อยดอกหมากรวมทั้งเรื่องสําเภาล่มเป็นเรื่องเล่าเกี่ยวกับบุคคลหรือเหตุการณ์ที่เชื่อว่าเป็นเรื่องจริง แต่อาจเป็นการผูกตำนานขึ้นภายหลัง เพื่อให้มีความเชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์ของสถานที่แห่งนั้น

 


อ้างอิง :

ปริวัฒน์ จันทร. (2546). เจิ้งเหอ แม่ทัพขันที “ซำปอกง”. กรุงเทพฯ : มติชน.

สุจิตต์ วงษ์เทศ. (2544). อยุธยายศยิ่งฟ้า. กรุงเทพฯ : มติชน.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 1 ตุลาคม 2564