ปัญหาคลาสสิก “พลตระเวน” สมัยรัชกาลที่ 5 “ถ้าให้เงินมักปล่อย ไม่ให้เงินมักไม่ปล่อย”

พลตระเวน รัชกาลที่ 5 ปัญหาคลาสสิก พลตระเวน
พลตระเวน สมัยรัชกาลที่ 5

สมัยรัชกาลที่ 5 การริเริ่มโครงสร้างพื้นฐานอย่าง “ถนน” เกิดขึ้นอย่างแพร่หลาย ทำให้เกิดเส้นทางคมนาคมใหม่ๆ ที่อำนวยความสะดวกแก่การเดินทาง, การประกอบอาชีพ และถนนยังทำให้รัฐสามารถเข้าไปจัดระเบียบพื้นที่เมือง โดยมี “พลตระเวน” หรือ “ตำรวจ” เป็นเครื่องมือสำคัญ

ปัญหาคลาสสิก พลตระเวน

หากรัฐประสบปัญหาการขาดแคลนข้าราชการที่จะมาเป็น “พลตระเวน” จึงมีการเกณฑ์ราษฎรจากหัวเมือง โดยเฉพาะจากเมืองนครราชสีมา, เมืองลพบุรี และการใช้ชาวต่างชาติที่มาจากรัฐอาณานิคมของอังกฤษในอินเดียและพม่า เช่น ชาวอินเดีย, ปาทาน, ซิกข์ นอกจากนี้ พลตระเวนจำนวนหนึ่งยังมาจากทาส

แต่เจ้าหน้าที่จำนวนมากไม่มีความตั้งใจมารับราชการ และมีพฤติกรรมไปในทางเสื่อมเสีย

พลตระเวน
ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ของกรมกองตระเวน ประทับพระเก้าอี้ที่ 5 จากซ้ายคือ กรมหมื่นนเรศวร์วรฤทธิ์ เสนาบดีกรมนครบาล ชาวตะวันตกนั่งด้านซ้ายมือคือ มร.เอ เย ยาร์ดิน เจ้ากรมกองตระเวนคนแรก ส่วนคนขวามือ คือ มร.อิริก เซ็น เย ลอซัน ซึ่งจะเป็นเจ้ากรมกองตระเวนคนต่อมา

มิสเตอร์อิริก เซน เย ลอซัน ผู้บังคับการกรมกองตระเวน กล่าวไว้ดังนี้

“มีคนเป็นอันมากที่เข้ารับเป็นพลตระเวนเพื่อความสนุกแลเมื่อเบื่อหน่ายก็ลาออก แต่มีบางพวกเมื่อรับเงินเดือนแล้วเวลาออกยามก็เข้าโรงบ่อน แลถ้าเล่นได้ก็ออกจากกองตระเวน เมื่อหมดเงินจึงกลับเข้ามาใหม่”   

ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่ดังกล่าวจำนวนไม่น้อยที่เป็นคนไทยไม่สามารถอ่านออกเขียนได้ การสำรวจเมื่อปี 2441 จำนวน 969 คน อ่านหนังสือไม่ออกถึง 278 คน อีกทั้งไม่ได้มีการอบรมลักษณะการเป็นกำลังพลที่ดีพอ เพราะยังไม่มีการตั้งโรงเรียนโดยตรง เมื่อมีการตั้งโรงเรียนแล้วก็ยังมีเจ้าหน้าที่ก็หลบหนีการฝึกอบรม และบางคนก็ไม่มีเวลาเข้าอบรมตามหลักสูตร เพราะต้องไปปฏิบัติราชการตามหน้าที่

ร้องเรียนเจ้าหน้าที่

นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่จำนวนไม่น้อยทำผิดข้อบังคับของตนเอง ทำให้เกิดปัญหาที่มาจากปฏิสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างกองตระเวนกับราษฎรในการจัดการพื้นที่เมือง เห็นได้จากข้อร้องเรียนของหนังสือพิมพ์สยามไสมย เมื่อปี 2428 ดังนี้

“ข้อ 2 นายโปลิศบางคนไม่มีตระกูล เปนไพร่ เที่ยวมัวเมารังแกผู้คนแต่ยังเปนนายเขาได้ ข้อ 3 ถ้าไม่มีเงินที่จะกินเหล้ารังแกพวกรถจับรถไว้ ถ้าให้เงินมักปล่อย ไม่ให้เงินมักไม่ปล่อย ไม่มีข้อผิดในทางกดหมายเลย ยังจับอ้ายพวกรถมันเปนคนลูกจ้างเกรงกลัวเขา ลางรถขับมาม้าไม่วิ่งคนรถเดาะปากให้ม้าวิ่ง มันก็จับว่านกหูมัน คนอย่างนี้ได้เงินเดือนแลมีอำนาจด้วย…ข้อ 5 บางคนที่ไม่เคยเปนโปลิศแต่ภอเปนนายยาม ก็ไว้ยศเที่ยวข่มเหงชาวบ้าน…”   

โรงพักพลตำรวจภูธรมณฑลนครชัยศรี เมื่อวันที่ 31 ส.ค. ร.ศ. 120

ยังพบว่าบ่อยครั้งที่กองตระเวนได้แสดงอิทธิพลในท้องถนน ปรากฏจากหัวข้อข่าว “มีอำนาจเพราะสวมฟอม” ของหนังสือพิมพ์บางกอกสมัย ในปี 2442 ดังนี้

“เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม เวลาบ่าย 2 โมง เศษ พลตระเวรนำเบอร 11 รักษาน่าที่อยู่ที่น่าตลาดพระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นภูธเรศฯ ถนนเจริญกรุงนั้น พลตระเวรนำเบอร์ 11 นั้น มือถือแซ่สำหรับเฆี่ยนม้าอยู่ 1 แซ่ ครั้นได้เหนจีนลากรถอยุดส่งคนขวางถนน ทันใดนั้นพลตระเวรก็ตรงเข้าไปเอาแซ่ตีจีนเจ้าของรถโดยอำนาจอย่างร้ายแรง…” 

ในหลวงทรงเห็นปัญหา

พฤติกรรมการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ดังกล่าวในท้องถนนนอกจากจะเป็นที่รับรู้ของประชาชนทั่วไป ยังทำให้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ไม่ทรงพอพระทัยเป็นอันมาก เมื่อทอดพระเนตรด้วยพระองค์เอง ดังปรากฏในพระราชหัตถเลขาถึงพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงนเรศวร์วรฤทธิ์ เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2449 ตอนหนึ่งว่า

“อาจาริย์วิบัติของ

ที่ได้เห็นในวันนี้ มันเหมือนอ้ายที่เขาเล่นละครล้อจริงๆ แรกฉันไปถึงไม่มีโปลิศเลยสักครู่หนึ่งนานๆ จึงมีมาคนหนึ่ง ยืนเก้กังอยู่กลางถนนหลังโก่งๆ ฉันได้สั่งให้ทหารมหาดเล็กตำรวจต้อนคนซึ่งไปยืนอยู่เปล่าๆ ไม่ได้ทำอะไร ให้หลีกคนขนของ แต่สั่งกันกว่า 100 คำ ใครๆ ก็เข้าใจ แต่อ้ายโปลิศนั้นไม่มีวิญญาณสุดแต่ใครจะแบกของหาบของออกไปเที่ยวไล่ทุบไล่ตีผลัก…

ภายหลังจึงมีฝรั่งนายโปลิศพาโปลิศแขกเดินผ่านขึ้นไปเหนจะเปนกองชักมาให้รักษาที่ฉันไปอยู่นั้น แต่เดินเลยไปข้างน่าครู่หนึ่งฉันจึ่งได้ขยับรถขึ้นไป สั่งให้เปิดคนออกโปลิสพวกนั้นจึงได้ขับไล่คนโดยไม่ปรานีปราไสย ยัดกันคลักๆ แต่ดีที่มีทุบกันบ้างห้ามหยุด นี่แหละกิริยาโปลิศมันไม่เปนที่น่าให้คนไว้เนื้อเชื่อใจ จึ่งเปนที่กินแหนงสงไสยของคนเปนอันมาก” 

พลตระเวน
พลตระเวน ตำรวจไทยในอดีต

ที่กล่าวมานั้นเป็นปัญหาของ “พลตระเวน” ที่รับผิดชอบท้องถนนสมัยรัชกาลที่ 5 ไม่ใช่ “ตำรวจ” ที่รับผิดชอบการจราจรในปัจจุบัน อย่าเข้าใจผิด

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

ดร.นนทพร อยู่มั่งมี. “สักวาฟ้าขาวเหล่าโปลิศ สิ้นคิดแล้วหรือเจ้าเฝ้าถนน”: ภาพสะท้อนการใช้อำนาจของกองตระเวนในท้องถนนกรุงเทพฯ สมัยรัชกาลที่ 5” ใน, ศิลปวัฒนธรรม, กันยายน 2558


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 9 พฤษภาคม 2568