“โจรสยาม VS เคลมโบเดีย” (ตอนที่ 2) ใคร – อะไร ทำให้ไทยกับเขมรเกลียดกันนัก ?

โขน ถวายลิง ภาพสลักหินที่ปราสาทบายน นครธม ประกอบเรื่อง โจรสยาม VS เคลมโบเดีย: ปัญหาทะเลาะกันที่ไม่มีวันรู้จบ
(ซ้าย) โขน ถวายลิง (ขวา) ภาพสลักหินที่ปราสาทบายน นครธม

“โจรสยาม VS เคลมโบเดีย” ใคร – อะไร สร้างประวัติศาสตร์แห่งความบาดหมาง ทำไทยกับเขมรเกลียดกัน ?

เสวนา “โจรสยาม VS เคลมโบเดีย: ปัญหาทะเลาะกันที่ไม่มีวันรู้จบ” เมื่อวันศุกร์ที่ 2 พฤษภาคม 2568 ณ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นอกจาก สุจิตต์ วงษ์เทศ นักเขียน นักหนังสือพิมพ์ ผู้ก่อตั้งนิตยสารศิลปวัฒนธรรม จะปาฐกถานำเพื่ออธิบายให้เห็นความ “ทับซ้อน” จากความเป็นมา “คนละคนเดียวกัน” ระหว่างไทยกับเขมรแล้ว ผู้ร่วมเสวนาคนอื่น ๆ ยังร่วมกันตีแผ่มูลเหตุความขัดแย้ง ซึ่งเป็นรากเหง้าของประวัติศาสตร์แห่งความเกลียดชังที่ปกคลุมสังคมของคนทั้งสองชาติมาอย่างยาวนาน

อ่าน “โจรสยาม VS เคลมโบเดีย” (ตอนที่ 1) ความทับซ้อนของไทย-เขมร [คลิก]

สำหรับผู้ร่วมเสวนา ได้แก่ รศ. ดร. ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ แห่งคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต, ผศ. ดร. ธิบดี บัวคำศรี อาจารย์ภาคประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ อ. ดร. ยิ่งยศ บุญจันทร์ แห่งคณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ดำเนินรายการโดย สฏฐภูมิ บุญมา อาจารย์จากสาขาวิชาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

โจรสยาม VS เคลมโบเดีย: ปัญหาทะเลาะกันที่ไม่มีวันรู้จบ
(ภาพจากเฟซบุ๊ก Sathaphum Phum Boonma)

สฏฐภูมิ เริ่มต้นด้วยการกล่าวขอบคุณผู้ฟังที่เข้ามาเรียนรู้ แลกเปลี่ยน หรือแม้แต่มาด้วยความรู้สึกคัดค้าน ก่อนจะกล่าวว่าตนเห็นว่าพื้นที่นี้เป็นพื้นที่สำหรับการตั้งคำถามได้ และจะยังมีประเด็นให้พูดคุยกันอีก

“ผมตั้งชื่อนี้ (โจรสยาม-เคลมโบเดีย) ไม่ได้ต้องการบริภาษใครทั้งนั้น ต้องการแค่ (บอก) ว่า มันมีคำนี้ ที่เราโดนเรียกและเราเรียกเขาอยู่… เหมือนทุกท่านถูกป้าข้างบ้านนินทา แม่บอกว่า ‘ป้าข้างบ้านด่าแกอย่างนี้’ เราก็มานั่งวิพากษ์กันว่าที่ป้าด่าเรามันจริงหรือเปล่า ถ้าไม่จริงก็วิพากษ์กัน ไม่ใช่เราจะไปด่าป้าเลย ในโลกวิชาการไม่ควรทำแบบนั้น การอธิบายอะไรบางอย่างให้รู้ลึกรอบด้านเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ๆ”

อาจารย์สาขาวิชาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษาเผยว่า การแสดงความเห็นต่างไม่ใช่ปัญหา แต่การปฏิเสธที่จะรับฟังหรือทำความเข้าใจบริบทข้อถกเถียงอาจจะเป็นอุปสรรคของการเติบโตทางความคิด วงเสวนาไม่มีเจตนาสร้างความแตกแยกหรือยั่วยุ แต่พยายามสำรวจ “ปมเงียบ” ในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เพื่อมองเห็นและเข้าใจทั้งบาดแผล รากเหง้า และความคลุมเครือเหล่านั้น

ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ : มองข้อพิพาทผ่านประวัติศาสตร์ “เสียดินแดน”

ธำรงศักดิ์เล่าว่า ในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา คนรุ่นใหม่ชาวไทยจัดอันดับให้กัมพูชาเป็นประเทศที่ไม่ชอบมากที่สุด สาเหตุสำคัญมาจากการถูกปลูกฝังให้เกลียดชังประเทศเพื่อนบ้าน ผ่านการสร้างสำนึกความรักชาติ โดยมีผู้มีอำนาจเป็นคนเขียนประวัติศาสตร์

“งานศึกษาในวงวิชาการไปไกลมาก มีความรู้ร้อยแปดเกี่ยวกับวิธีคิดของไทยต่อคนในประเทศเพื่อนบ้าน แต่ความรู้เหล่านี้ลงไปไม่ถึงคนข้างล่างเลย ถ้าเราไปดูชื่อของคณะกรรมการผู้แต่งประวัติศาสตร์ไทย เป็นนายพลอะไรเต็มไปหมด เราเลย อ๋อ มันถูกเบรกไว้ ไม่ให้เข้าไปสู่ระดับโรงเรียน”

อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต เผยว่า กระบวนการของการสร้างสำนึกความเป็นไทย ทำให้เราไม่สามารถมองเขมรมาเป็นส่วนหนึ่งของความรู้สึกดี ๆ ได้ โดยเรื่องราวทั้งหมดเริ่มต้นจาก “แผนที่-เขตแดน”

“เส้นแรกของเขตแดนมาจากการที่อังกฤษรบชนะพม่า ได้ตะนาวศรี ยะไข่ เมื่อปี 1825 (พ.ศ. 2368) ก่อนจะส่งทูตชื่อ ‘เบอร์นีย์’ (Henry Burney) มายังกรุงเทพฯ เราถูกสอนว่าเบอร์นีย์มาทำสัญญาค้าอย่างนั้นอย่างนี้ เขามาเจรจาเรื่องเขตแดน มาถามว่าเส้นเขตแดนไปถึงไหน กรุงเทพฯ บอก ‘ไปถามชาวบ้านเลย’ เพราะมันเป็นป่า ยุคโบราณเขาไม่เอาป่า เขาเอาคน ปล่อยให้ป่าอยู่ไป แต่เบอร์นีย์บอก ‘ป่าก็ต้องแบ่ง’ ทำให้เส้นเขตแดนเกิดขึ้นตั้งแต่กาญจนบุรีถึงระนอง”

สำนึกเรื่องความสำคัญของเส้นเขตแดนเติบโตอย่างมากในสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อไทยมีนโยบายทำแผนที่อย่างจริงจัง นโยบายของกรุงเทพฯ คือ “ยึดไว้ก่อนแล้วค่อยเจรจาทีหลัง” แผนที่สยามยุคนั้นจึงมีหลายเวอร์ชันมาก

“เส้นเขตแดนมันจะยืดออกหดเข้าตลอดเวลา กระทั่งเส้นเขตแดนสุดท้ายของแผนที่ (ไทย) เกิดขึ้นในกรณีของไทยกับอังกฤษ ในสนธิสัญญา ปี 1909 (พ.ศ. 2452) ใช้เวลาทั้งสิ้น 83 ปี จากเส้นแรกถึงเส้นสุดท้าย เลยเกิดปัญญาว่าแล้วคนในนี้เป็นใคร ?”

ธำรงศักดิ์พยายามจะฉายภาพว่า เมื่อมีเขตแดน การนิยามว่าใครเป็นใครก็ตามมา เพราะเส้นเขตแดนที่เกิดขึ้นดันขยายเลยดินแดน “ไทยแท้” ไปคลุมพื้นที่ “ไม่ไทย” เต็มไปหมด ไม่ว่าจะเป็นดินแดนของลาว เขมร แขก (มลายู) เกิดเป็นความพยายามอธิบายว่าใครเป็นคนไทยบ้าง เช่น สมัยรัชกาลที่ 6 “คนไทย” คือใครก็ตามที่จงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์

แผนที่เมืองไทยฉบับแรกของนายแม็คคาร์ธี ค.ศ. 1888 พิมพ์ประกอบรายงานการสำรวจของเขาภายใต้การว่าจ้างของรัฐบาลสยาม ใช้เวลาจัดทำนานถึง 6 ปี (ภาพจากไกรฤกษ์ นานา)

หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 จึงมีแนวคิดชาตินิยมแบบ “ประเทศไทยรวมเลือดเนื้อชาติเชื้อไทย” สร้างชาติไทยที่มีคนหลากเชื้อชาติด้วยการทำให้ทุกคนเป็นไทย แล้วใช้คำว่า ภาคเหนือ, ภาคกลาง, ภาคใต้, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แทนชื่อเชื้อชาติต่าง ๆ ในพื้นที่เหล่านั้น

“วิธีคิดของเพลงชาติไทยคือวิธีคิดของการโอบรับความหลากหลายโดยเรียกทุกคนว่า ‘ไทย’ ก่อนหน้านี้ ยุคโบราณเรียก ‘สยาม’ แล้วเกิดความคลั่งไทยเกิดขึ้นด้วยจาก ‘แผนที่เสียดินแดน’ ซึ่งถูกวาดและเอามาใช้ เป็นการเสียดินแดนจำนวน 8 ครั้งด้วยกัน จอมพล ป. พิบูลสงคราม ให้กรมแผนที่ทหารบกทำออกมาเพื่อประมวลสรุป… แต่ปัจจุบันเราขยายเรื่องการเสียดินแดนเป็น 14 ครั้ง เพราะประเด็นปราสาทพระวิหาร ปี 2551 เพื่อโจมตีรัฐบาลของเครือข่ายทักษิณในขณะนั้น”

ยิ่งไปกว่านั้น ชุดข้อมูลเรื่องการเสียดินแดน 14 ครั้ง ที่เพิ่มจากยุคจอมพล ป. ยังพบได้ทั่วไปในโลกอินเทอร์เน็ตอย่างไม่มีแหล่งที่มาชัดเจน และอดีตผู้บัญชาการทหารบกคนหนึ่งยังหยิบยกวาทกรรมดังกล่าวมาพูดในการบรรยายด้วย

จากกรณีปราสาทพระวิหารซึ่งเป็นคดีความกันมาตั้งแต่ พ.ศ. 2500 ถามว่าทำไมกัมพูชาหยิบคดีนี้ไปสู่ศาลโลก ? ธำรงศักดิ์ชี้ว่า เพราะนั่นเป็นวิธีสร้างชาติกัมพูชา เพราะเขาเพิ่งรับเอกราชเมื่อ พ.ศ. 2496 การเอาปราสาทพระวิหาร “คืน” จากไทย จึงเป็นการรวมใจสร้างชาติกัมพูชาที่ดีที่สุด 

“ประเด็นปราสาทพระวิหารมาซ้ำอีกครั้งในรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช ‘เขา’ ใช้ประเด็นคลั่งชาติคลั่งดินแดนต่อกัมพูชา (เพราะ) มันมีประโยชน์ในการปลุกเร้าอารมณ์คนให้เข้าร่วมการต่อต้านรัฐบาลได้เร็ว หลังจากนั้นผลจะเป็นยังไง ไม่สนใจ…”

การลดกระแสความเกลียดชังระหว่างไทย-เขมรในทัศนะของธำรงศักดิ์ จึงต้องเริ่มต้นที่ทำความเข้าใจวาทกรรมเสียดินแดน แนวคิดที่ทำให้ลัทธิทหารนิยมเติบโต แต่ส่งผลเสียต่อประเทศไทยซึ่งสร้างชาติจากการโอบรับความหลากหลาย

สฏฐภูมิ บุญมา, รศ. ดร. ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ อ. ดร. ยิ่งยศ บุญจันทร์ ผศ. ดร. ธิบดี บัวคำศรี
(ซ้ายไปขวา) สฏฐภูมิ บุญมา, รศ. ดร. ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์, อ. ดร. ยิ่งยศ บุญจันทร์ และ ผศ. ดร. ธิบดี บัวคำศรี (ภาพจาก มติชนออนไลน์)

ธิบดี บัวคำศรี : อดีต (บางแง่มุม) และปัจจุบันของ “เคลมโบเดีย”

ธิบดี เริ่มต้นด้วยการวิพากษ์คำว่า “เคลมโบเดีย” ของชาวเน็ตไม่ต่างจากคำเก่ายุคทศวรรษ 2500 ของหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช นั่นคือ “เขมรเนรคุณ”

คำนี้เกิดขึ้นเมื่อกัมพูชายื่นฟ้อง “ศาลโลก” (International Court of Justice: ICJ) เพื่อทวงคืนปราสาทเขาพระวิหารในปี 2502 เป็นที่มาของกลอนยาวเหยียดที่เสียดสีเขมรโดยหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ มีเนื้อหาเล่าถึงความสัมพันธ์ไทย-เขมรในอดีตว่า ไทยช่วยเหลือกัมพูชาหลายอย่าง แต่พอเป็นเอกราชจากฝรั่งเศส กัมพูชากลับไม่สำนึกบุญคุณ

ปีเดียวกัน รัฐบาลไทยโดยกระทรวงการต่างประเทศยังเขียนหนังสือออกมาเสียดสีเขมรทำนองเดียวกันว่า ไทยมีส่วนช่วยกัมพูชาให้ประสบความสำเร็จในการเรียกร้องเอกราช และพระบาทสมเด็จพระนโรดม สีหนุ กษัตริย์กัมพูชาทรง “สำนึก” ในความจริงใจ รวมถึงความรู้สึกเห็นอกเห็นใจของรัฐบาลไทย ในการเรียกร้องเอกราชของกัมพูชา เป็นที่มาของการเสด็จเยือนไทยอย่างเป็นทางการใน พ.ศ. 2497 แต่หลังจากนั้นไม่นาน กัมพูชากลับทวงสิทธิ์เหนือปราสาทพระวิหาร

“หากปะติดปะต่อความเข้าด้วยกัน ผมสรุปว่า กระทรวงต่างประเทศของไทยจะสื่อว่า สมเด็จสีหนุไม่สำนึกว่าไทยเคยช่วยกัมพูชาในการต่อสู้เพื่อเอกราช พูดอย่างคึกฤทธิ์ว่า เนรคุณ”

ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช
ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช

ธิบดีชี้ว่า แม้แต่คำว่า เขมรแปรพักตร์ ในพงศาวดารก็มีความหมายนัยตรงกันกับคำว่า เขมรเนรคุณ การปรากฏเนื้อหาลักษณะข้างต้นในแบบเรียนไทย จึงเป็นการตอกย้ำภาพลักษณ์ดังกล่าวของกัมพูชาที่มักฉวยโอกาสทีเผลอ คอยตลบหลังไทยยามอ่อนแอ

อาจารย์คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองว่าทั้ง 2 คำมีจุดร่วมคือ กัมพูชาเนรคุณไทย ซึ่งมีสถานะ “ผู้มีพระคุณอันใหญ่หลวง” แต่กลับเป็นพวกไม่สำนึกบุญคุณ

วิธีการแก้ปัญหาความขัดแย้งตามข้อเสนอของธิบดีคือ “ตามที่คุณสุจิตต์บอก ‘ประวัติศาสตร์เครือญาติ’ แต่เราอย่าลืมว่าพี่น้องก็ทะเลาะกัน เป็นศัตรูที่เราเลือกไม่ได้ ไม่ใช่ไม่เห็นด้วย แต่ผมคิดว่าไม่พอ อย่างหนึ่งที่เราควรทำคือสิ่งที่ อ. ชาญวิทย์ เรียกว่า ‘ประวัติศาสตร์บาดแผล’ ควรพูดถึงเรื่องนี้เยอะ ๆ ไม่กลบเกลื่อนด้วยเรื่องอื่น”

ยิ่งยศ บุญจันทร์ : การสร้างสำนึกความเป็น “ผู้ร้าย-ศัตรู” ของไทย ในมุมมองเขมร

ปิดท้ายวงเสวนาจากยิ่งยศ ที่อธิบายความเป็น “อริ” ของ 2 ชาติจากมุมมองของฝั่งเขมร ซึ่งมองไทยเป็น “ผู้ร้าย” หรือ “ศัตรู” จากภาวะปัญหาการเมืองทั้งภายในและระหว่างประเทศ สิ่งเหล่านี้ตั้งต้นมาจากยุคล่าอาณานิคม ก่อนจะลุกลามบานปลายช่วงสงครามเย็น โดยเฉพาะยุคหลังการประกาศเอกราชที่เรียกว่า “ยุคสังคมราษฎรนิยม” ซึ่งมีสมเด็จสีหนุเป็นผู้นำพรรคสังคมราษฎรนิยมระหว่าง พ.ศ. 2498-2513

ยิ่งยศเล่าถึง “มิตรภาพบนความขัดแย้ง” ระหว่างไทย-เขมร ว่า ตั้งแต่การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับกัมพูชาเมื่อ พ.ศ. 2493 แม้กัมพูชาจะยังไม่ได้รับเอกราช แต่ไทยคือชาติหนึ่งที่ให้การรับรองกัมพูชาในฐานะรัฐเอกราชภายใต้การปกครองของฝรั่งเศส และเป็นจุดเริ่มต้นของมิตรภาพที่อยู่บนเงื่อนไขของความขัดแย้ง

“เหตุผลที่ไทยรับรองรัฐบาลกัมพูชา เป็นการปฏิบัติตามคำขอของโลกเสรีนิยม เพราะช่วงเวลานั้น การรับรองรัฐบาลอินโดจีนจะมีส่วนช่วยในการสกัดกั้นลัทธิคอมมิวนิสต์ และรัฐบาลไทยมีท่าทีสนับสนุนฝ่ายนี้ (โลกเสรี) อย่างไรก็ตาม ไทยมีส่วนในการสนับสนุนขบวนการชาตินิยมกัมพูชา หรือ ‘เขมรอิสระ’ ตั้งแต่ปี 1940 (ทศวรรษ 2480) แต่ไม่ใช่ความสัมพันธ์ระดับการทูต กระทั่งฝรั่งเศสมอบเอกราชให้กัมพูชา นโยบายทางการทูตจึงเป็นอิสระมากขึ้น”

ปรากฏว่ากัมพูชามีท่าที “เป็นกลาง” ในห้วงสงครามเย็น รัฐบาลไทยระแวงรัฐบาลของสมเด็จสีหนุที่เลือกรับความช่วยเหลือจากทุกฝ่าย นำไปสู่ความร้าวฉานในช่วง พ.ศ. 2499-2501 เมื่อสมเด็จสีหนุเสด็จเยือนประเทศจีน แกนนำของโลกคอมมิวนิสต์ เท่ากับเปิดโอกาสให้จีนเข้ามาขยายอำนาจกลางภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

อาจารย์คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ชี้ว่า ไทยได้ดำเนินนโยบายต่างประเทศที่ “หักหน้า” รัฐบาลกัมพูชาภายใต้สมเด็จสีหนุหลายอย่าง เช่น สนับสนุนกลุ่ม “เขมรอิสระ” (เขมรเสรี) ขบวนการใต้ดินที่ต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ โดยมีสหรัฐฯ และเวียดนามใต้หนุนหลัง ขณะเดียวกันก็เท่ากับต่อต้านรัฐบาลของสมเด็จสีหนุด้วย

หลักฐานของ CIA ยังพบว่า ไทยมีส่วนร่วมกับ “แผนการกรุงเทพฯ” ซึ่งเป็นความพยายามเปลี่ยนรัฐบาลกัมพูชาด้วยการล้มล้างระบอบของสมเด็จสีหนุ

รศ. ดร. ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ อ. ดร. ยิ่งยศ บุญจันทร์ ผศ. ดร. ธิบดี บัวคำศรี
(ซ้ายไปขวา) รศ. ดร. ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์, อ. ดร. ยิ่งยศ บุญจันทร์ และ ผศ. ดร. ธิบดี บัวคำศรี (ภาพจาก มติชนออนไลน์)

“การดำเนินนโยบายเหล่านี้ทำให้กัมพูชาเพาะบ่มความไม่พอใจ แต่เราต้องเข้าใจนโยบายต่างประเทศเวลานั้นด้วยว่าฝ่ายไทยมีมุมมองแบบนี้ เมื่อกัมพูชาเปิดโอกาสให้คอมมิวนิสต์ซึ่งเป็นศัตรูของไทยดำเนินการเคลื่อนไหว ต้องมีการดำเนินการบางประการ แต่มันไปกระทบความมั่นคงของกัมพูชา เลยเกิดปัญหาความสัมพันธ์ทางการทูต”

ยิ่งยศเล่าว่า มีความพยายามสร้างภาพความเป็นผู้ร้ายของไทยมาตั้งแต่ยุคอาณานิคมแล้ว แม้ในห้วงสงครามเย็น ไทยกับกัมพูชาจะมีความพยายามผูกมิตรกันหลายครั้ง แต่สุดท้ายก็มีเงื่อนไขบางประการที่ทำให้เกิดความเป็นศัตรูขึ้นมาอยู่ดี

ภาพของไทยในยุคสังคมราษฎรนิยม มี 2 ส่วน คือ เป็นผู้สร้างความเดือดร้อนให้ชาวเขมร ทำให้กัมพูชาตกต่ำเสื่อมโทรมจนตกเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส กับการเป็นผู้บ่อนทำลายรัฐบาลสมเด็จสีหนุและไม่ได้ปรารถนาดีต่อกัมพูชา

“ไทยเป็นชนชาติก่อกำเนิดหลังเขมร แต่มีจิตริษยา มักก่อสงครามทำลายบ้านเมืองอื่นเพื่อประโยชน์ของตน กัมพูชาต้องประสบชะตากรรมจนเป็นเหตุให้อารยธรรมสมัยพระนครล่มสลาย ส่วนนี้ไปปรากฏในพระราชดำรัสของสมเด็จสีหนุในวาระที่ไม่สอดคล้อง เช่น พิธีเปิดโรงงานไม้อัด… สมเด็จสีหนุท่านจะเรียกไทยว่า ‘น้องสาว’ นัยคือกัมพูชาเป็นพี่ในแง่ต้นกำเนิดวัฒนธรรมต่าง ๆ แต่ไทยเป็นฝ่ายรุกราน

ภาพต่อมา ภายหลังสูญเสียเมืองพระนคร กัมพูชาประสบความวุ่นวาย ไม่สงบสุขจากการทำสงครามกับไทย กระทั่งชาวเขมรต้องประสบทุกขเวทนาจนบ้านแตกสาแหรกขาด พลัดถิ่นฐานบ้านเมือง จากการเบียดเบียนและรุกรานของไทยรวมถึงเวียดนามนานหลายศตวรรษ เป็นสาเหตุให้กษัตริย์กัมพูชายอมรับการอารักษาจากจักรวรรดินิยมฝรั่งเศสอย่างขมขื่น

คำพูดนี้ผมไม่ได้พูดนะ มันอยู่ในบทพระราชนิพนธ์และพระราชดำรัสที่เผยแพร่ต่อสาธารณะ…”

พระบาทสมเด็จพระนโรดม สีหนุ เมื่อ พ.ศ. 2513 (จาก www.britannica.com)

ในยุคสังคมราษฎรนิยม กัมพูชายังมองว่าไทยสนับสนุนให้เขมรทะเลาะกันเองจากการสนับสนุนกลุ่มเขมรอิสระ วาทะกรรมเหล่านี้ถูกสร้างและพูดซ้ำ ๆ ผ่านพระราชดำรัสของ “นักพูด” อย่างสมเด็จนโรดม สีหนุ รวมถึงวิทยุกระจายเสียงและมหรสพต่าง ๆ มากมาย

ยิ่งยศทิ้งท้ายว่า แล้วทำไมสมเด็จสีหนุต้องทำแบบนี้ ? จากสิ่งที่กษัตริย์เขมรพระองค์นี้ต้องเผชิญ สิ่งที่จะทำให้พระองค์ได้รับการสนับสนุนคือการใช้ประวัติศาสตร์ ยิ่งสมเด็จสีหนุต้องเปลี่ยนรัฐบาลหลายชุดในระยะเวลาไม่กี่ปี การสร้างกระแสชาตินิยมผ่านวาทกรรม “ประวัติศาสตร์ต้านไทย” จึงเป็นกลยุทธ์ “ยิงปืนนัดเดียวได้นก 2 ตัว” คือโจมตีไทยเพื่อดำเนินนโยบายต่างประเทศ แล้วยังสร้างความนิยมผ่านกระแสชาตินิยมด้วย

ทั้งหมดนี้ทำให้เห็นว่า การอธิบายเรื่องราวความขัดแย้งของไทยกับเขมรอย่างตรงไปตรงมาและเข้าใจว่า “ประวัติศาสตร์” ถูกใช้เป็นเครื่องมืออย่างไรเพื่อสร้างทรงจำร่วมแห่งความบาดหมาง จนทำให้คน “เลือก” ที่จะเชื่อ แม้เป็นประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้างใหม่ ย่อมทำให้เรารู้เท่าทันและเข้าใจความขัดแย้งทั้งหมดได้อย่างมีวุฒิภาวะ

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 9 พฤษภาคม 2568