ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม ฉบับสิงหาคม 2548 |
---|---|
ผู้เขียน | พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ |
เผยแพร่ |
รูปทวยเทพทั้งหลายในศาสนาพราหมณ์ ที่ปรากฏให้เห็นในงานประติมากรรมและจิตรกรรมในศิลปะขอม ไทย พม่า อินเดีย ฯลฯ ล้วนแต่เป็นรูปที่สร้างขึ้นมาจากโครงร่างของมนุษย์ อาจจะมีลักษณะพิเศษอื่นๆ เพิ่มขึ้นเพื่อให้เห็นความแตกต่างจากมนุษย์ โดยเพิ่มให้มีแขนขามากกว่า 2 มีพระพักตร์หรือใบหน้ามากกว่า 1 หรืออาจมีผิวกายให้มีสีแตกต่างกันออกไป เป็นต้น ทั้งนี้นอกเหนือจากการให้ลักษณะที่พิเศษต่างไปจากมนุษย์แล้ว ก็เพื่อเป็นลักษณะเฉพาะว่าหมายถึงเทพเจ้าองค์หนึ่งองค์ใดในบรรดาเทพเจ้าที่มีอยู่มากมายหลายองค์
เทพเจ้าสูงสุดในศาสนาพราหมณ์มี 3 องค์ คือ พระพรหม พระอิศวรหรือพระศิวะ พระนารายณ์หรือพระวิษณุ ในการรับรู้โดยภาพรวมเทพเจ้าทั้งสามมีหน้าที่ต่างกัน คือ การให้กำเนิดชีวิตและสรรพสิ่งต่างๆ การปกป้องคุ้มครองดูแลรักษา และการทำลายล้างสรรพสิ่งทั้งปวงเมื่อสิ้นยุค จากนั้นก็สร้างขึ้นอีกเมื่อเข้าสู่ยุคใหม่
ดังนั้นเทพเจ้าทั้งสามในศาสนาพราหมณ์จึงมีอิทธิพลเหนือชีวิตความเป็นอยู่ของคนที่มีคติความเชื่อดังกล่าว และเพื่อให้ได้รับผลที่ดีในชีวิต นอกจากจะต้องบำเพ็ญตนตามหลักจริยธรรมทางศาสนาแล้ว การเซ่นสรวงบูชาเพื่อเป็นการนอบน้อมต่อเทพเจ้าทั้งสามจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องมีพิธีกรรมทางศาสนาพราหมณ์ด้วย โดยเฉพาะกับพระนารายณ์ และพระอิศวร ที่มีหน้าที่อันมีอิทธิพลโดยตรงต่อชีวิตที่จะดีขึ้นหรือเลวลงของมนุษย์ จึงได้รับการเน้นเป็นพิเศษ จนเกิดนิกายแยกต่างหากออกมาที่นับถือพระอิศวรหรือพระนารายณ์ ว่าเป็นเทพเจ้าที่มีอำนาจสูงสุดมากกว่าเทพเจ้าอีก 2 องค์ ในจำนวน 3 องค์ที่กล่าวแล้ว
ในพิธีกรรมบวงสรวงต่อเทพเจ้าของพราหมณ์ จึงต้องคิดรูปแบบและพิธีกรรมสถาปนารูปของพระผู้เป็นเจ้าที่นับถือขึ้นมา ซึ่งรูปของพระผู้เป็นเจ้านั้นก็มีที่มาจากโครงสร้างร่างกายของมนุษย์ โดยเพิ่มเติมให้เห็นความแตกต่างระหว่างพระผู้เป็นเจ้าเองและแสดงพลังอำนาจของพระผู้เป็นเจ้านั้นด้วย เช่น พระพรหมมี 4 หน้า พระนารายณ์มี 4 มือ และพระอิศวรมีตาที่ 3 ที่หน้าผาก โดยเฉพาะพระอิศวรมีการทำรูปสัญลักษณ์แทนองค์พระอิศวรด้วยคือรูปศิวลึงค์ แต่ถึงอย่างไรก็ยังมีรูปแบบมาจากเครื่องเคราของบุรุษเพศอยู่นั่นเอง
พระผู้เป็นเจ้าที่มีรูปและไร้รูป
อันที่จริงโดยทางปรัชญาในศาสนาพราหมณ์ที่เกี่ยวกับพระผู้เป็นเจ้าสูงสุดนั้น อาจารย์กรุณา-เรืองอุไร กุศลาสัย ได้อธิบายไว้ในหนังสืออินเดีย อนุทวีปที่น่าทึ่ง ของท่านตอนหนึ่งว่า
…ในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู โดยเฉพาะในคำสอนของคัมภีร์อุปนิษัทนั้น มโนภาพและคำสอนเกี่ยวกับพระเจ้า มีทั้งพระเจ้าที่มีตัวตน (สคุณ) และพระเจ้าที่ไม่มีตัวตน (นิรฺคุณ) ทั้งนี้หมายความว่า พระเจ้ามีทั้งที่เป็นรูปธรรมและนามธรรม จริงอยู่สำหรับคนทั่วไปแล้ว พระเจ้าที่มีตัวตน (คือมีประติมาเป็นสัญลักษณ์ เช่น พระพรหมที่โรงแรมเอราวัณ ฯลฯ) จะเป็นที่นิยมและดึงดูดใจคนมากกว่า เพราะคนสามารถสัมผัสได้ (อย่างน้อยก็ด้วยจักษุอินทรีย์) แต่สำหรับผู้ที่สามารถใช้พุทธิปัญญาได้โดยไม่ต้องอาศัยสัญลักษณ์ พระเจ้าแบบไม่มีตัวตน (นิรฺคุณ) ก็สามารถตอบสนองความต้องการของผู้ที่ต้องการจะถึงพระองค์ท่านได้ทุกประการเช่นเดียวกัน
เกี่ยวกับพระผู้เป็นเจ้าที่มีตัวตนและไม่มีตัวตน อาจารย์สมภาร พรหมทา ได้กล่าวถึงในหนังสือ พุทธศาสนามหายาน ของท่าน โดยสรุปเกี่ยวกับพัฒนาการของพระผู้เป็นเจ้าของพราหมณ์ว่า
…แต่เดิมนั้นศาสนาพราหมณ์ เริ่มต้นด้วยการนับถือเทพเจ้าประจำธรรมชาติ [สมัยคัมภีร์พระเวทผู้เขียน] ภายหลังเทพเจ้าจำนวนหนึ่งในเทพเจ้าทั้งหลายก็ได้รับการยกย่องว่าเป็นเทพเจ้าชั้นสูงกว่าเทพอื่นๆ เทพที่ได้รับการยกย่องนี้ ที่เรารู้จักกันดีมีอยู่สามองค์ คือ พระพรหม พระวิษณุ และพระศิวะ ต่อมานักปรัชญาฮินดูยุคอุปนิษัท [ประมาณเวลาก่อนถึงคาบเกี่ยวกับสมัยพุทธกาล-ผู้เขียน] ได้อธิบายว่าเทพเหล่านี้ต่างก็มีกำเนิดมาจากสิ่งสูงสุดที่เรียกว่าปรมาตมันเหมือนกัน ปรมาตมัน เป็นสิ่งไร้รูป เป็นต้นกำเนิดของสรรพสิ่งในจักรวาล เทพต่างๆ ที่มีบทบาทในโลกมนุษย์ที่ปรากฏในคัมภีร์พระเวทนั้น เมื่อตกมาถึงสมัยคัมภีร์อุปนิษัท ล้วนได้รับการอธิบายว่า เป็นเพียงภาคหนึ่งของปรมาตมันเท่านั้น ภาคดังกล่าวนี้คือ ภาคมีรูปเป็นภาคที่แสดงตัวออกมาจากภาคไร้รูปอีกที
กล่าวคือ ปรมาตมัน หรือในบางครั้งเรียกว่า ปรพรหมัน คือสภาวะไร้รูปของพระผู้เป็นเจ้าสูงสุดที่มีเพียงหนึ่งเดียวที่ปรากฏรูปเป็นพระพรหม พระนารายณ์ (วิษณุ) และพระอิศวร (ศิวะ) เพื่อทำหน้าที่ต่างๆ กัน คือการสร้าง ปกปักรักษา และทำลายสรรพสิ่งต่างๆ ในจักรวาล
สภาวะไร้รูปของปรมาตมัน
ศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล ได้ยกถ้อยคำของนายกมเลศวร ภัตตาจารย์ นักปราชญ์ชาวอินเดีย ในหนังสือ ศาสนาพราหมณ์ในอาณาจักรขอม อันเป็นคำอธิบายเกี่ยวกับสภาวะไร้รูปของพระผู้เป็นเจ้าสูงสุดผ่านการสรรเสริญพระอิศวร (ตามแนวคิดของนิกายนับถือพระอิศวรเป็นเทพสูงสุด) ตอนหนึ่งว่า
เนื่องจากพระองค์ทรงเป็นพระผู้เป็นเจ้าอันประเสริฐ พระองค์จึงเป็นปร-พฺรหฺมนฺ หรือปรมาตฺมนฺ ผู้ซึ่งเป็นเอก (เกวล) ไม่มีตัวตน (อตนฺ) ปราศจากการแบ่งแยก (นิษฺกล) ปราศจากคุณสมบัติ (นิรฺคุณ) ว่างเปล่า (ศูนฺย)…
คัมภีร์ศรีมัทภควัทคีตาของพราหมณ์นิกายที่นับถือพระนารายณ์เหนือกว่าเทพองค์อื่น มีตอนหนึ่งที่พระกฤษณะ (อวตารปางหนึ่งของพระนารายณ์) เมื่อต้องการให้ท้าวอรชุนศรัทธาเชื่อมั่นในพระองค์ จึงได้เนรมิตตาทิพย์แก่ท้าวอรชุน ให้สามารถมองเห็นสภาวะไร้รูป (ปรมาตมัน) อันเป็นสภาวะที่แท้จริงก่อนจะปรากฏรูปเป็นพระนารายณ์-พระกฤษณะ
ศาสตราจารย์แสง มนวิทูร ได้แปลข้อความที่เป็นคำอธิบายรูปที่ท้าวอรชุนสามารถมองเห็นด้วยตาทิพย์ ในหนังสือ ศรีมัทภควัทคีตาหรือเพลงแห่งชีวิต ของกฤษณะ ไทวฺปาย นวฺยาส อัธยายที่ 11 ไว้ดังนี้
…ข้าพเจ้าเห็นทวยเทพและชุมนุมแห่งภูติ (คือสัตว์และวัตถุ) ต่างๆ พระพรหมผู้ปกครองโลกสถิตย์บนกมลาสน์ อีกทั้งพระฤาษีทั้งหลายและพญานาคทิพย์ทั้งหลาย
(และเห็น) รูปอันไม่สิ้นสุดโดยประการทั้งปวงของพระองค์ ข้าพเจ้าเห็นกร อุทร พักตร์และเนตรมากหลาย ข้าแต่ผู้เจ้าโลก มีพระรูปทั่วไป ข้าพเจ้ามองไม่เห็นที่สุด ท่ามกลาง และเบื้องต้นของพระองค์เลย
ข้าพเจ้ามองเห็นพระองค์ทรงมงกุฎ ทรงคทา และจักร ชุมนุมแห่งเดชรุ่งเรืองโดยรอบยากที่จะพึงเห็น โชติช่วงเหมือนเพลิงที่รุ่งโรจน์โดยรอบ มีสภาพเป็นสิ่งประมาณมิได้
….ข้าพเจ้าเห็นพระองค์ไม่มีเบื้องต้น ไม่มีท่ามกลาง และไม่มีที่สุด มีสมรรถภาพไม่สิ้นสุด มีพาหาเป็นอนันต์ มีเนตรเป็นจันทร์และอาทิตย์ มีพักตร์ดังว่าเพลิงรุ่งโรจน์ กำลังแผดส่องโลกนี้ด้วยเดชของตนเอง
…สถานที่ว่างในระหว่างสวรรค์และแผ่นดิน กับทิศทั้งปวงอันพระองค์ผู้เดียวซ่านแซกอยู่ทั่วไป…
จากสภาวะไร้รูปหรือความเป็นนามธรรมของปรมาตมัน อันเป็นพระผู้เป็นเจ้าสูงสุดของพราหมณ์ มนุษย์ก็ยังสามารถใช้ศิลปะทางภาษาอธิบายความมีอยู่ของสภาวะไร้รูปของพระผู้เป็นเจ้าของตนดังในคัมภีร์ศรีมัทภควัทคีตาที่ยกมากล่าวข้างต้น แต่ถึงอย่างไรการสื่อด้วยศิลปะทางภาษาก็ยังต้องอาศัยมโนภาพของผู้รับที่จะสร้างภาพ มิติที่พระผู้เป็นเจ้ามีอยู่อีกทอดหนึ่ง (เพราะมนุษย์มีธรรมชาติติดอยู่กับรูป)
รูปของปรมาตมันที่มนุษย์สร้างขึ้น
มิติของปรมาตมัน ได้รับการสื่อด้วยศิลปะแขนงทัศนศิลป์ อันเป็นศิลปะประเภทที่คนสามารถมองเห็นได้และจับต้องได้บนเขาพระวิหาร ที่ตั้งของเทวาลัยแห่งพระอิศวรหรือศิวาศรม ดังจะได้กล่าวถึงต่อไปนี้
จารึกปราสาทหินพระวิหาร 1 ในหนังสือ จารึกในประเทศไทย เล่ม 3 ของกรมศิลปากร เป็นจารึกภาษาเขมรโบราณ อักษรขอม 25 บรรทัด อีก 2 บรรทัดเป็นภาษาสันสกฤต คุณอำไพ คำโท อดีตผู้เชี่ยวชาญภาษาเขมรโบราณ กรมศิลปากร เป็นผู้อ่านแปลแบบคำต่อคำ พบที่กรอบหน้าต่างของพระมณเฑียร อันเป็นอาคารที่อยู่ในบริเวณชั้นในของศาสนสถานบนเขาพระวิหาร (ตรงกับจารึกรหัส K 380 ที่นักวิชาการชาวฝรั่งเศสอ่านแปลไว้แบบรวมความในหนังสือ ปราสาทเขาพระวิหาร ศาสนบรรพตที่โดดเด่นที่สุดในภาคพื้นเอเชียอาคเนย์ โดย รศ. ดร. ม.ร.ว. สุริยวุฒิ สุขสวัสดิ์)
สาระสำคัญของศิลาจารึกหลักนี้ เป็นเรื่องที่พระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 (พ.ศ. 1545-1593) พระราชทานรางวัลแก่ข้าราชการผู้ปฏิบัติหน้าที่บนเขาพระวิหารชื่อศรีสุกรรมากำเสตงงิและหมู่ญาติที่ได้ทำความดีความชอบต่อพระองค์ ความดีความชอบอย่างหนึ่งที่ศิลาจารึกกล่าวไว้อย่างน่าสนใจคือ
…ความจงรักภักดีของสุกรรมากำเสตงงิ ขณะที่ทำรั้วในกัมรเตงชคตศรีศิขรีศวร และกัมรเตงชคตศรีพฤทเธศวร…
คำว่า กัมรเตงชคตศรีศิขรีศวร และกัมรเตงชคตศรีพฤทเธศวร เป็นนามพระผู้เป็นเจ้าที่สถาปนาผ่านความเป็นพระอิศวรของพราหมณ์ ผู้นับถือนิกายนี้อย่างแน่นอน ดังนั้นบนเขาพระวิหารจึงต้องมีรูปของพระผู้เป็นเจ้า 2 รูปที่มีนามสถาปนาทั้งสองด้วย คนส่วนมากมักจะนึกถึงรูปประติมากรรม (ที่สูญหายไปแล้ว) แต่ข้อความที่ให้ความหมายว่าศรีสุกรรมากำเสตงงิเป็นผู้สร้างรั้วล้อมรูปทั้งสองนั้นชวนให้คิดว่า รูปทั้งสองอาจมิใช่เป็นงานประติมากรรมก็เป็นได้ ข้อความในศิลาจารึกหลักเดียวกัน มีกล่าวในตอนอื่นอีกว่า
ศรีสุกรรมากำเสตงงิมีญาติที่ทำหน้าที่เก็บรักษาเอกสารประวัติกัมพุพงศ์ พระประวัติของพระเจ้าสุริยวรมันและบรรพบุรุษของพระองค์โดย…เขียนเอกสารประวัติไว้ในใบลาน แล้วเก็บรักษาไว้ที่กัมรเตงชคตศรีศิขรีศวรและกัมรเตงชคตศรีพฤทเธศวร…
จากข้อความข้างต้น แสดงว่ารูปพระผู้เป็นเจ้าที่มีนามสถาปนาทั้ง 2 นามนั้น มิได้ถูกสร้างขึ้นในรูปของงานประติมากรรมแน่นอน (เพราะรูปประติมากรรมเก็บของไม่ได้) และยิ่งจะมีความสอดคล้องกับประโยคแรกที่ยกมากล่าวถึงการสร้างรั้วล้อม หากจะคิดว่า รูปพระผู้เป็นเจ้าที่มีนามสถาปนาไว้ทั้ง 2 นามนั้นเป็นงานสถาปัตยกรรม
เพื่อเป็นการเพิ่มความหมายต่อแนวคิดที่ว่า รูปพระผู้เป็นเจ้าทั้ง 2 นามบนเขาพระวิหารนี้สร้างขึ้นในรูปของงานสถาปัตยกรรม จำเป็นที่จะต้องกล่าวถึงแนวปรัชญาและหลักจริยธรรมในศาสนาพราหมณ์เล็กน้อย กล่าวคือ
ศาสนาพราหมณ์เชื่อว่า มนุษย์ถูกสร้างขึ้นมาจากส่วนหนึ่งของปรมาตมัน มีชีวิตเวียนว่ายตายเกิดตามผลของการกระทำคือกรรม บรมสุข (Perfect happiness) เป็นเป้าหมายปลายประสงค์ของผู้มีความเชื่อตามศาสนาพราหมณ์ การไปถึงเป้าหมายนี้ได้ มนุษย์ต้องปฏิบัติหน้าที่ในชีวิตของตนเองอย่างสมบูรณ์ โดยต้องไม่ยินดีหรือยินร้ายต่อผลของการกระทำ ประกอบการบวงสรวงบูชาต่อพระผู้เป็นเจ้าอย่างสม่ำเสมอ หากปฏิบัติเช่นนี้ได้เมื่อตายไปคนผู้นั้นก็จะสามารถหลุดพ้นจากบ่วงกรรม ไม่ต้องกลับมาเวียนว่ายตายเกิดอีก ถือว่าเป็นการทำอาตมัน หรืออัตตาให้บริสุทธิ์ ก็จะสามารถคืนกลับไปรวมอยู่กับปรมาตมันอันเป็นการเข้าถึงความบรมสุข
ย้อนกลับมาดูพฤติกรรมของศรีสุกรรมากำเสตงงิพร้อมญาติ ที่ได้เขียนประวัติบรรพบุรุษของพระเจ้าสุริยวรมันนำเข้าเก็บรักษาไว้ในรูปของพระผู้เป็นเจ้าทั้งสอง คือ กัมรเตงชคตศรีศิขรีศวรกับกัมรเตงชคตศรีพฤทเธศวร อันมีลักษณะเป็นสถาปัตยกรรม จึงเท่ากับเป็นการสร้างสถานการณ์ สัญลักษณ์ในการกลับคืนเข้าไปรวมอยู่กับปรมาตมันของผู้มีประวัติเก็บรักษาอยู่ในสถาปัตยกรรม (ซึ่งหมายถึง รูปของปรมาตมัน) ทั้ง 2 แห่งนั้น
จึงสบพระทัยพระเจ้าสุริยวรมันเป็นอย่างมาก เลยพระราชทานรางวัลแด่ศรีสุกรรมากำเสตงงิพร้อมหมู่ญาติอย่างมากมาย
รูปพระผู้เป็นเจ้าบนเขาพระวิหาร
เขาพระวิหารเป็นที่ตั้งศาสนสถานโบราณของพราหมณ์ไศวนิกาย หรือนิกายที่นับถือพระอิศวรเป็นเทพเจ้าสำคัญ ที่ตั้งของศาสนสถานเป็นแนวยาวจากเหนือไปใต้เพิ่มระดับสูงขึ้นเรื่อยๆ ตามความลาดชันขึ้นของภูเขา โดยจะทำเป็นบันไดขึ้นสู่พลับพลา แล้วเป็นทางเดินราบ สลับกับบันไดสู่พลับพลาเป็นระยะๆ บันไดที่ 4 เป็นบันไดสุดท้ายขึ้นสู่ศาสนสถานสำคัญที่สุด ซึ่งตั้งอยู่บนที่ราบเล็กๆ สูงสุดของภูเขา จากนั้นจึงเป็นหน้าผาตัดตรงลงสู่ที่ราบต่ำเบื้องล่าง
ภาพโดยรวมของส่วนสำคัญที่สุดของศาสนสถานแห่งนี้ อาจกล่าวได้ว่า ล้อมรอบโดยระเบียงคดที่ผนังด้านหันออกข้างนอกเป็นกำแพงปิดตัน ส่วนที่หันเข้าสู่ข้างในเจาะช่องหน้าต่างกับเป็นแนวเสาโปร่ง ไม่มีผนัง ภายในบริเวณถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่เป็นปราสาทประธานตั้งอยู่ด้านหลัง กับส่วนที่เป็นมณเฑียรและบรรณาลัย 2 หลังอยู่ด้านหน้า โดยมีส่วนที่ต่อเป็นปีกออกไปสองข้างจากมุขด้านหลังของมณเฑียร เป็นอาคารยาวขวางแบ่งส่วนทั้งสองออกจากกัน
โดยปกติส่วนสำคัญของศาสนสถานขอมจะประกอบด้วยปราสาทประธานและบรรณาลัย บรรณาลัยอาจมี 1 หลังหรือ 2 หลังก็ได้ แต่ทั้งหมดจะอยู่รวมกับปราสาทประธานในบริเวณที่เป็นส่วนภายในด้วยกัน การที่บรรณาลัย 2 หลังบนเขาพระวิหารถูกแบ่งออกมาอยู่อีกส่วนหนึ่งต่างหากจากปราสาทประธาน ทำให้นึกถึงความในศิลาจารึกที่ยกมากล่าวแต่ต้นที่ว่า ศรีสุกรรมากำเสตงงิเป็นผู้สร้างรั้วรอบกัมรเตงชคตศรีศิขรีศวรและกัมรเตงชคตศรีพฤทเธศวร
และการที่ศิลาจารึกกล่าวถึงญาติของศรีสุกรรมากำเสตงงิ เขียนประวัติบรรพบุรุษของพระเจ้าสุริยวรมันเก็บรักษาไว้ที่กมรเตงชคตศรีศิขรีศวรและกัมรเตงชคตศรีพฤทเธศวร ก็ยังเป็นเครื่องชี้ได้ว่า เหตุใดในปัจจุบันจึงเรียกสถาปัตยกรรมที่มีรูปแบบโดยรวมเป็นอย่างเดียวกันนี้ว่า บรรณาลัย (Library) ได้เป็นอย่างดีด้วย
ตามนัยที่กล่าวแต่ต้น แสดงว่า สถาปัตยกรรมที่มีลักษณะในปัจจุบันเรียกว่า บรรณาลัยทั้ง 2 หลังบนเขาพระวิหารนั้น คือรูปสถาปนาของปรมาตมันที่องค์หนึ่งสถาปนานามว่ากัมรเตงชคตศรีศิขรีศวร และอีกองค์หนึ่งมีนามสถาปนาว่ากัมรเตงชคตศรีพฤทเธศวร ส่วนปราสาทประธานก็ควรเป็นรูปสถาปนาของปรมาตมันที่มีนามสถาปนาเป็นอีกนามหนึ่งด้วย ในที่นี้ขอเสนอคำว่ากัมรเตงชคตศรีภัทเรศวร นามสถาปนาพระผู้เป็นเจ้าบนเขาพระวิหารที่ยังเหลืออยู่อีกพระนามหนึ่ง ปรากฏอยู่ในศิลาจารึกปราสาทหินพระวิหารว่าย้ายมาจากลิงคปุระ
สรุป
มนุษย์สร้างรูปพระผู้เป็นเจ้าและทวยเทพทั้งหลายด้วยโครงสร้างร่างกายของมนุษย์เอง เพราะคิดว่าเป็นรูปแบบที่สมบูรณ์ที่สุดในบรรดาสัตว์โลกทั้งหลาย จึงปรากฏรูปของทวยเทพทั้งหลายในงานจิตรกรรมและประติมากรรมในโครงร่างของมนุษย์ แต่พระผู้เป็นเจ้าในศาสนาพราหมณ์มีทั้งที่มีรูปและปราศจากรูปมนุษย์ผู้ติดอยู่กับรูปก็ยังพยายามที่จะสร้างรูปพระผู้เป็นเจ้าสูงสุด แม้จะรู้ว่าปรมาตมันหรือปรพรหมันในศาสนาพราหมณ์จะอยู่ในสภาวะไร้รูปก็ตาม
โดยศิลปะทางภาษาของมนุษย์สามารถสร้างรูปของปรมาตมันได้ไม่ยากนัก โดยใช้สัญลักษณ์ทางภาษา เช่น มีขนาดมโหฬารจนมองไม่เห็นต้น กลาง ปลาย มีลักษณะหลากหลายของทุกสรรพสิ่งในจักรวาลมารวมกันอยู่ มีปริมาณมากมายแทรกอยู่ในทุกหนทุกแห่ง มีพลานุภาพอย่างไม่มีที่สิ้นสุดยิ่งกว่าแสงของดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ ฯลฯ
รูปที่บรรยายโดยภาษาเช่นนี้ ไม่อาจสร้างออกมาในรูปของงานจิตรกรรมหรือประติมากรรมได้แน่ โดยเฉพาะไม่อาจใช้โครงร่างของมนุษย์มาสร้างเป็นรูปแทนของพระผู้เป็นเจ้าไร้รูปปรมาตมันได้อย่างสมบูรณ์ ตามที่ศิลปะทางภาษาได้สื่อแสดงไว้
แต่ถ้าหากจะสถาปนาขึ้นมาในรูปของสถาปัตยกรรมน่าจะเป็นได้ ดังได้แสดงให้เห็นความสอดคล้องกันของหลักฐานที่กล่าวในศิลาจารึกปราสาทหินพระวิหาร กับสถาปัตยกรรม 2 หลัง ที่เรียกกันในปัจจุบันว่าบรรณาลัยบนเขาพระวิหาร อีกทั้งมีเรื่องราวการเก็บเอกสารประวัติบรรพบุรุษไว้ในรูปสัญลักษณ์ของพระผู้เป็นเจ้าทั้ง 2 นาม ก็ไปด้วยกันได้กับปรัชญาเรื่องการกลับคืนสู่ปรมาตมัน อันเป็นเป้าหมายสูงสุดตามความเชื่อในศาสนาพราหมณ์
เมื่อเป็นเช่นนี้ หากนึกถึงกษัตริย์ขอมพระองค์หนึ่ง ขณะเสด็จมายังศาสนสถานของพราหมณ์แห่งใดแห่งหนึ่ง ภาพขณะเสด็จเข้าสู่บรรณาลัยหรือปราสาทประธานของพระองค์ จะต้องประกอบด้วยพิธีกรรมที่ให้ความหมายยิ่งใหญ่เพียงใด อันแสดงสัญลักษณ์ถึงการที่กษัตริย์พระองค์นั้นเสด็จคืนกลับเข้าสู่ปรมาตมัน (แม้จะเป็นการชั่วคราวก็ตาม)
ปราสาทประธานและบรรณาลัยของโบราณสถานขอมแห่งหนึ่งแห่งใด จึงมิใช่เป็นเพียงงานทางสถาปัตยกรรมโบราณแบบหนึ่งๆ เท่านั้น หากเป็นรูปสัญลักษณ์ของปรมาตมัน องค์พระผู้เป็นเจ้าสูงสุดของพราหมณ์นั่นเลยทีเดียว
บรรณานุกรม :
กรุณา กุศลาสัย. พราหมณ์ พุทธ ฮินดู, พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพมหานคร : แม่คําผาง, 2542
กรุณา-เรืองอุไร กุศลาสัย. อินเดีย อนุทวีปที่น่าทึ่ง, พิมพ์ครั้งที่ ๒. กรุงเทพมหานคร : ศยาม, 2538.
สมภาร พรหมทา. พุทธศาสนามหายาน. กรุงเทพมหานคร : มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, 2534.
สุภัทรดิศ ดิศกุล, ม.จ. ศาสนาพราหมณ์ในอาณาจักรขอม. พิมพ์ครั้งที่ 3, กรุงเทพมหานคร : มติชน, 2547.
สุริยวุฒิ สุขสวัสดิ์, ม.ร.ว. ปราสาทเขาพระวิหาร ศาสนบรรพตที่โดดเด่นที่สุดในภาคพื้นเอเชียอาคเนย์, กรุงเทพมหานคร : เมืองโบราณ, 2536.
แสง มนวิทูร, แปล. ศรีมัทภควัทคีตาหรือเพลงแห่งชีวิต ของกฤษณะ ไทวฺ ปายนว.ยาส. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพมหานคร : แพร่พิทยา, 2515.
อําไพ คําโท, อ่านแปล, จารึกปราสาทหินพระวิหาร 1 จารึกในประเทศเล่ม 3. กรุงเทพมหานคร : กรมศิลปากร, 2529, หน้า 164.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 16 กันยายน 2565