“โจรสยาม VS เคลมโบเดีย” (ตอนที่ 1) ความทับซ้อนของไทย-เขมร

โจรสยาม VS เคลมโบเดีย สุจิตต์ วงษ์เทศ

“โจรสยาม VS เคลมโบเดีย” ความทับซ้อนทางประวัติศาสตร์-โบราณคดีของไทยกับเขมร

ความขัดแย้งระหว่างไทยกับกัมพูชาเป็นประเด็นที่ซับซ้อนและละเอียดอ่อนทั้งในด้านประวัติศาสตร์ ความทรงจำร่วม และความรู้สึกของประชาชนทั้ง 2 ประเทศ ความขัดแย้งในปัจจุบันไม่ได้เป็นผลจากเหตุการณ์เฉพาะหน้า แต่มีรากเหง้ามาจากกระบวนการทางประวัติศาสตร์ชาตินิยม และการเล่าเรื่องในสังคมทั้ง 2 ฝั่ง ที่สะสมมาอย่างยาวนาน

เพื่อเข้าใจเบื้องหลังความขัดแย้งดังกล่าวอย่างรอบด้าน และพิจารณาถึงบทบาทการสร้างความทรงจำทางประวัติศาสตร์ของทั้ง 2 ชาติ เป็นที่มาของงานเสวนา “โจรสยาม VS เคลมโบเดีย: ปัญหาทะเลาะกันที่ไม่มีวันรู้จบ” เมื่อวันศุกร์ที่ 2 พฤษภาคม 2568 ณ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของรายวิชา อศ. 454 สัมมนาหัวข้อเฉพาะด้านสังคมและวัฒนธรรม สาขาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา

งานนี้มีปาฐกถานำโดย สุจิตต์ วงษ์เทศ นักเขียน นักหนังสือพิมพ์ ผู้ก่อตั้งนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ด้านผู้ร่วมเสวนา ได้แก่ รศ. ดร. ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ แห่งคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต, ผศ. ดร. ธิบดี บัวคำศรี อาจารย์ภาคประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ อ. ดร. ยิ่งยศ บุญจันทร์ แห่งคณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ดำเนินรายการโดย สฏฐภูมิ บุญมา อาจารย์จากสาขาวิชาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ภาพสลักรูปกองทัพสฺยำกุก ที่ผนังระเบียงปราสาทนครวัดด้านทิศใต้ปีกตะวันตก เดิมมีข้อความจารึกว่า “เนะ สฺยำกุก” ปัจจุบันถูกกะเทาะหลุดหายไปแล้ว (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม ฉบับมีนาคม 2552)

สุจิตต์ วงศ์เทศ : ไทย-เขมร “คนละคนเดียวกัน”

สุจิตต์เริ่มปาฐากถาในหัวข้อ “ไทย-เขมร ‘ทับซ้อน’ ความเป็นมา ‘คนละคนเดียวกัน’” ด้วยการย้ำว่าตนไม่ใช่นักวิชาการ เป็นเพียง “เสรีชน” ที่ทำหนังสือพิมพ์ สิ่งที่จะพูดเป็นการเอาข้อมูลข่าวสารมาบอกตามหน้าที่ของสื่อมวลชน ซึ่งนักปราชญ์-นักวิชาการค้นคว้าไว้แล้ว แบ่งเป็นประเด็น ๆ ได้ดังนี้

1. ประวัติศาสตร์ตามอำเภอใจ

“ประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ไทยกับเขมรเป็นประวัติศาสตร์ ‘ตามอำเภอใจ’ นึกอยากจะเขียนอะไรก็เขียน อยากจะด่าก็ด่า โดยไม่แยแสหลักฐานวิชาการทางประวัติศาสตร์-โบราณคดี ยิ่งกว่านั้นคือสร้างหลักฐานขึ้นมาเองตามจินตนาการที่อยากให้เป็น” 

ตัวอย่างแรกที่สุจิตต์ยกมาเล่าคือ พิธีปฐมกรรมพระยาละแวก เรื่องเล่าอันโด่งดังในประวัติศาสตร์ ว่าด้วยเหตุการณ์ที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชยกทัพตีละแวก เมืองหลวงกัมพูชา สำเร็จโทษพระยาละแวก กษัตริย์เขมร ด้วยการตัดคอแล้วเอาเลือดมาล้างพระบาท 

จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ พระนเรศวรตีเมืองละแวกจริง แต่ไม่ได้สังหารพระยาละแวก เพราะมีหลักฐานว่าเจ้าตัวหนีไปเมืองเชียงแตงในพรมแดนลาว-เขมร พระนเรศวรจึงไม่ได้ทำพิธีปฐมกรรม

นอกจากนี้ คำว่า “ปฐมกรรม” ยังไม่ใช่การตัดคอแล้วเอาเลือดล้างพระบาทอย่างที่เข้าใจ จากคำอธิบายสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ระบุว่า ปฐมกรรม มัธยมกรรม และอุดมกรรม คือคำเรียกพิธีอย่างน้อย อย่างกลาง และอย่างใหญ่ ตามลำดับ ไม่มีเกี่ยวข้องกับการตัดคอ

พิธีปฐมกรรม
พิธีปฐมกรรม ภาพฝีมือพระยาอนุศาส์นจิตรกร ที่พระอุโบสถสุวรรณดาราราม (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม กันยายน 2543)

ส่วนกรณี ขอมแปรพักตร์ ซึ่งเข้าใจกันว่าคือเหตุการณ์เขมรแข็งข้อ เอาใจออกห่างพระเจ้าอู่ทอง ปฐมกษัตริย์อยุธยา พงศาวดารฉบับหลวงพระเสริฐอักษรนิติ์ พงศาวดารฉบับเก่าแก่และถูกเชื่อถือสูงสุดไม่มีเรื่องดังกล่าวเลย เพิ่งถูกเพิ่มเข้ามาในพงศาวดารช่วงก่อนเสียกรุงครั้งที่ 2 ทั้งนี้ พงศาวดารเขมรมีบันทึกเรื่อง ขอมแปรพักตร์ จริง แต่เป็นความขัดแย้งภายในของเขมรเอง นั่นคือกลุ่มโตนเลสาบกับกลุ่มทางใต้ (กรอม, ขอม แปลว่า ทิศใต้)

2. ปัญหาจากการไม่อ่านหนังสือ

ข้อมูลเกี่ยวกับความสัมพันธ์ไทย-เขมร ตามหลักฐานประวัติศาสตร์โบราณคดีมีเยอะแยะมากมาย แต่ไม่อ่านกัน เพราะอยากรับข้อมูลที่ถูกใจตนเอง

“ข้อมูลทั้งหลายของไทย-เขมรเปิดเผยทั่วโลก ปัญหาคือชนชั้นนำผู้มีอำนาจไม่อ่านหนังสือ ไทยมีพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสาร แต่ความจริงปิดกั้น รัฐบาลกล่อมเกลาและครอบงำด้วยประวัติศาสตร์แห่งชาติฉบับคลั่งเชื้อชาติไทยและปกปิดข้อมูลที่เป็นจริง ผู้มีอำนาจต้องอ่านหนังสือ ถ้าไม่อ่านก็ไม่รู้เรื่อง ไม่เข้าใจ แล้วเอาอคติตัวเองออกไปบังคับบัญชา” 

สุจิตต์ วงษ์เทศ ในงานเสวนา โจรสยาม VS เคลมโบเดีย: ปัญหาทะเลาะกันที่ไม่มีวันรู้จบ
สุจิตต์ วงษ์เทศ ในงานเสวนา “โจรสยาม VS เคลมโบเดีย: ปัญหาทะเลาะกันที่ไม่มีวันรู้จบ” 2 พฤษภาคม 2568 ที่ห้องอดุล วิเชียรเจริญ (ศศ. 201) สาขาเอเชียคะวันออกเฉียงใต้ศึกษา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ภาพจาก มติชนออนไลน์, 2 พ.ค. 2568)

สุจิตต์ไม่เห็นด้วยกับข้อมูลที่บอกว่า “เขมร” เป็นเผ่าพันธุ์ใหม่อพยพมาจากที่อื่น ไม่ใช่เจ้าของวัฒนธรรมขอมปราสาทหิน โดยชี้ว่าแนวคิดเหล่านี้มาจากความคิดของเจ้าอาณานิคมชาวยุโรป ไม่ใช่จากหลักฐานดั้งเดิม

ส่วนคนที่เรียกตัวเองว่า “ไทย” เพิ่งเกิดขึ้นหลังรับพระพุทธศาสนาแบบเถรวาท (ลังกา) ขณะที่กลุ่มชนที่พูดภาษาตระกูลไท-ไต ต้นตระกูลของไทยมีมากว่า 3,000 ปี หลักฐานอยู่ที่กวางสีและเวียดนามเหนือ ในช่วงสมัยเดียวกัน บริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยามีคนพูดภาษาตระกูลมอญ-เขมร กับชวา-มลายู กล่าวคือ ไท-ไต อยู่ทางเหนือ มอญ-เขมร ชวา-มลายู อยู่ทางใต้

“จารึกเก่าแก่สุดที่เรียก ‘เขมร’ ไม่ได้อยู่ประเทศเขมร แต่อยู่ในไทย เรียกว่า จารึกบ้านโคกสะแกราช อยู่ตำบลสะแกราช อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา ปัจจุบันอยู่ในพิพิธภัณฑ์แห่งชาติพิมาย ศักราช 1609 ก่อนกรุงสุโขทัยเกิด (ด้วยซ้ำ)” สุจิตต์กล่าว ดังนั้น เขมรจึงเป็นชนพื้นเมืองของภูมิภาคนี้

3. ประวัติศาสตร์เครือญาติ

ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เชื่อมโยงกันด้วยประวัติศาสตร์เครือญาติ มีผู้หญิงเป็นสิ่งเชื่อมโยงทางอำนาจผ่านการแต่งงาน เป็นต้นทางของระบบอุปถัมภ์ ต้นแบบของศัพท์คุ้นเคยอย่าง “บ้านพี่เมืองน้อง” แต่ถูกแทนที่ด้วยประวัติศาสตร์บาดหมางสร้างบาดแผล

จากนั้นเล่าเรื่องตำนานพื้นเมืองเรื่องการกำเนิดมนุษย์จาก “น้ำเต้าปุง” ซึ่งสะท้อนวิธีคิดเรื่องความสัมพันธ์ทางเครือญาติระหว่างกลุ่มชน มอญ-เขมร มลายู ไท-ไต ลาว และเวียดนาม

รวมถึงหลักฐานอีกหลายชิ้นที่ยืนยันความเชื่อมโยงระหว่างกษัตริย์อยุธยากับกษัตริย์เขมรแห่งกรุงศรียโสธร หรือเมืองพระนครหลวง (นครธม) ดังว่า “คำให้การชาวกรุงเก่าระบุว่า พระเจ้าปทุมสุริยวงศ์หรือพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 เป็นต้นวงศ์กษัตริย์กัมพูชา เชื้อวงศ์ต่อมาสร้างบ้านแปงเมืองหลายแห่งเช่น เมืองพิษณุโลก เมืองพิชัย เมืองพิจิตร เมืองกำแพงเพชร

พระเจ้าอู่ทองครองอยุธยา ได้รับการถวายพระนามเพื่อสรรเสริญพระเกียรติ์ว่า ‘พระเจ้ารามาธิบดีศรีสุริยวงศ์’ หมายความว่าเป็นเชื้อสายพระเจ้าปทุมสุริยวงศ์ พระเจ้าชัยวรมันที่ 7”

4. วัฒนธรรมไทยคือวัฒนธรรมร่วม

สุจิตต์ยืนยันว่า วัฒนธรรมไทยมาจากวัฒนธรรมสยาม ซึ่งเป็นวัฒนธรรมร่วม ไม่ใช่ของชาติใดชาติหนึ่ง คนไทยมาจากชาวสยาม ซึ่งเรียกตนเองว่า “ไทย” เป็นคนพื้นเมืองที่มาจากหลายชาติพันธุ์ “ร้อยพ่อพันแม่” ไม่ว่าจะเป็นเขมร ลาว มอญ มลายู ฯลฯ ล้วนผสมกลมกลืนกันโดยใช้ภาษาไทเป็นภาษากลางในการสื่อสาร

วัฒนธรรมไทยและเขมรมีรากฐานมาจากอารยธรรมอินเดียเหมือนกัน เมื่อภาษาไทยมีอำนาจจากการค้าจีนที่เติบโต กษัตริยสยามก็พูดภาษาไทย ต่างจากกษัตริย์ขอมละโว้ที่พูดภาษาเขมร ทำให้อยุธยาเติบโตรุดหน้ากว่าเขมร

“จีนหนุนสุพรรณ (สยาม) ให้เจิ้งเหอยกพลมาหนุนเจ้านครอินทร์ยึดอำนาจอยุธยา (วงศ์ละโว้) เพราะกษัตริย์พูดภาษาเขมร เจ้านครอินทร์ก็เป็นกษัตริย์อยุธยาชื่อสมเด็จพระนครินทราธิราช นับแต่นั้นอยุธยาก็ค้าขายกับจีน ถึงได้มั่งคั่ง เป็นเหตุให้เขมรร่วงโรย ทั้งนครวัด-นครธมร่วงโรย ยุโรปมาบอกทีหลังว่าเพราะอยุธยาไปตี อยุธยาไม่ได้ไปตี ร่วงโรยเพราะเรือสินค้าไม่เข้า”

แผนที่แสดงสองฟากแม่น้ำเจ้าพระยา มีบ้านเมืองยุคก่อนสถาปนากรุงศรียอุธยา พ.ศ. 1893 (ซ้าย) ชุมชนสยาม จากรัฐสุพรรณภูมิ กลุ่มตำนานพระเจ้าอู่ทอง (ขวา) ชุมชนละโว้ จากรัฐละโว้ กลุ่มยกย่องคติรามาธิบดี

ตัวอย่างที่ชัดเจนว่าวัฒนธรรมไทยเป็นวัฒนธรรมแห่งการผสมผสานคือ อักษรไทย เพราะในอดีตใช้อักษรเขมร แต่เขียนเป็นภาษาไทย เรียกว่า “ขอมไทย”

“เรารับพุทธเถรวาทผ่านมอญ รับพราหมณ์-ฮินดูผ่านเขมร ลุ่มน้ำเจ้าพระยาอยู่ตรงกลาง พื้นที่มันทับซ้อน ไทย-เขมร จากคนละคนเดียวกัน อยู่ ๆ ก็กลายเป็นคนไทย เพราะภาษาไทง่ายต่อการสื่อสารเมื่อเทียบกับภาษาตระกูลอื่น ๆ เลยเป็นภาษาทางการค้าของดินแดนภายในตั้งแต่ลุ่มแม่น้ำโขง ใครใช้ภาษาไท-ไตก็ถูกเรียกว่าชาวสยาม แล้วชาวสยามก็ร่ำรวยจนสามารถสร้างอโยธยาได้”

สุจิตต์ชี้ว่า ปัญหาต่าง ๆ ความบาดหมางระหว่างไทยกับเขมรมาจากประวัติศาสตร์เชื้อชาติกับรัฐชาติ ซึ่งมาจากเจ้าอาณานิคม หนทางแก้คือยกเลิกประวัติศาสตร์บาดหมาง ประวัติศาสตร์ฉบับเมืองขึ้นแบบยุโรป แต่ศึกษาประวัติศาสตร์เครือญาติ เพราะประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้ความสำคัญกับ “ผู้คน” หรือจำนวนไพร่พล มากกว่า “ดินแดน”

“การสร้างประวัติศาสตร์ไทยใหม่หมายความถึงการค้นคว้า เรียบเรียงตามหลักฐานทางวิชาการประวัติศาสตร์-โบราณคดี ด้วยแนวทาง 1) ประวัติศาสตร์เครือญาติ 2) ศาสนา การเมือง และการค้า 3) การผสมผสานทางสังคม การเมือง และวัฒนธรรม

ไม่คิดว่าจะเลิกความขัดแย้งได้หมด เพียงแต่จะลดเงื่อนไขที่นำไปสู่ความบาดหมาง ผมคิดว่าเพื่อสันติภาพไม่ใช่แค่ไทย-เขมร แต่รวมไปถึงมลายู ปัตตานี ทั้งอุษาคเนย์ และสันติภาพทั้งโลกแม้จะลำบาก แต่ต้องไม่ละความเพียร” สุจิตต์กล่าวส่งท้าย

อ่านต่อ “โจรสยาม VS เคลมโบเดีย” (ตอนที่ 2) ใคร – อะไร ทำให้ไทยกับเขมรเกลียดกันนัก ? [คลิก]

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 7 พฤษภาคม 2568