ผู้เขียน | ปดิวลดา บวรศักดิ์ |
---|---|
เผยแพร่ |
หลังใช้เวลาอยู่นานในการคัดสรรสมเด็จพระสันตะปาปาพระองค์ใหม่ หลังจากสิ้น สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส ก็ได้ข้อสรุปอันน่ายินดียิ่งว่า พระคาร์ดินัล โรเบิร์ต เพรวอสต์ ได้รับคัดเลือกให้เป็น “สมเด็จพระสันตะปาปาเลโอที่ 14” (หรืออาจจะอ่านว่าสมเด็จพระสันตะปาปาลีโอที่ 14) ซึ่งถือเป็นชาวอเมริกันคนแรกที่ได้ครอบครองตำแหน่งนี้
เหตุใด “สมเด็จพระสันตะปาปาเลโอที่ 14” จึงเลือกใช้พระนามว่า “เลโอ”

จากเลขลำดับ 14 คงเป็นหลักฐานยืนยันได้ว่า มีสมเด็จพระสันตะปาปาองค์ก่อนหน้าใช้ชื่อนี้มาแล้ว 13 ครั้ง การเลือกพระนามของสมเด็จพระสันตะปาปาแต่ละพระองค์ไม่มีกฎเกณฑ์ตายตัว ทว่าล้วนเลือกจากชื่อที่มีความหมายในประเพณีคาทอลิก
เดนนิส ดอยล์ นักเทววิทยาและศาสตราจารย์เกียรติคุณด้านศาสนศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยเดย์ตัน ให้ข้อมูลกับสำนักข่าว CBS สื่อดังแห่งอเมริกา ว่า เหตุที่พระองค์เลือกใช้พระนาม “เลโอ” สะท้อนถึงจิตวิญญาณ ทิศทาง รวมถึงวิสัยทัศน์ของโป๊ปพระองค์ใหม่
การจะเห็นถึงทิศทางของโป๊ปพระองค์ใหม่นี้ ต้องดูจากโป๊ปพระองค์ก่อนหน้าที่มีพระนามว่า “เลโอ” ว่าแต่ละพระองค์มีความคิดเห็นและวิสัยทัศน์อย่างไร
แคนดิดา มอสส์ ศาสตราจารย์ด้านเทววิทยาแห่งมหาวิทยาลัยเบอร์มิงแฮม ยกตัวอย่างกับทาง CBS ว่า สมเด็จพระสันตะปาปาเลโอที่ 1 (อยู่ในตำแหน่งตั้งแต่ ค.ศ. 440-461) พระองค์มีชื่อเสียงจากการเป็นผู้พบปะกับอัตติลาเดอะฮัน จอมพลคนเถื่อนชนเผ่าฮันแห่งเอเชียกลาง ทั้งยังห้ามปรามจอมพลคนนี้ไม่ให้โจมตีกรุงโรม

ทั้งนี้พระองค์ยังเป็นที่รู้จักในฐานะนักปฏิรูปทางปัญญาและเทววิทยาที่ยิ่งใหญ่อีกด้วย
ทั้งหมดนี้ทำให้ มอสส์ คิดว่า อาจเป็นไปได้ว่าการตั้งชื่อพระนามว่าเลโอ อาจสื่อถึงการยืนหยัดต่อสู้กับแรงกดดันทางการเมืองในโลกนี้ของพระองค์เช่นเดียวกับโป๊ปเลโอที่ 1
ดอยล์ ยังพูดถึงสมเด็จพระสันตะปาปาเลโอที่ 13 (อยู่ในตำแหน่ง ค.ศ. 1878-1903) ด้วยเช่นกัน เขากล่าวว่า โป๊ปพระองค์นี้มีชื่อเสียงจากพระสมณสาส์นที่ชื่อว่า “Rerum Novarum” แปลความหมายได้ว่า สิ่งใหม่ หรือในภาษาลาตินก็แปลว่า การเปลี่ยนแปลงแบบปฏิวัติ ซึ่งงานนี้พูดถึงสภาพของชนชั้นแรงงานในช่วงปฏิวัติอุตสาหกรรม

จากตรงนี้เองจึงอาจทำให้เห็นว่า การเลือกพระนามเลโอของสมเด็จพระสันตะปาปาพระองค์ใหม่ อาจบ่งบอกว่าพระองค์สนใจเรื่องการส่งเสริมคำสอนทางสังคมของคาทอลิกในโลกปัจจุบัน
ส่วน นาตาเลีย อิมเพอราโทรี-ลี หัวหน้าภาควิชาศาสนศึกษาแห่งมหาวิทยาลัยแมนฮัตตัน ก็กล่าวว่า ชื่อเลโอมีสัญลักษณ์ถึงความมุ่งมั่นต่อปัญหาทางสังคม ซึ่งเป็นการสานต่อภารกิจของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส
แม้จะยังไม่ทราบว่าทิศทางของศาสนจักรในยุคของสมเด็จพระสันตะปาปาเลโอที่ 14 จะเป็นอย่างไร แต่สิ่งที่วันนี้ทราบได้คือความยินดีของผู้คนทั่วโลกที่มีต่อประมุขคนใหม่แห่งวาติกัน ซึ่งมาจากความปรารถนาของพระผู้เป็นเจ้า
อ่านเพิ่มเติม :
- “อาภรณ์ศักดิ์สิทธิ์” ฝีมือคนไทย ที่รัฐบาลทูลเกล้าฯถวาย แด่สมเด็จพระสันตะปาปา
- เกณฑ์การตั้งพระนาม “พระสันตะปาปา” และ 10 อันดับพระนามที่ใช้มากสุด
- “มหาวิหาร ซานตา มารีอา มาจอเร” มีพระสันตะปาปาพระองค์ใดฝังพระศพที่นี่บ้าง?
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
https://www.cbsnews.com/news/new-pope-name-why-they-change/
https://cacatholic.org/teachings/catholic-social-teaching/rerum-novarum-new-things/
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 9 พฤษภาคม 2568