
ผู้เขียน | สุทธาสินี จิตรกรรมไทย เจียจันทร์พงษ์ |
---|---|
เผยแพร่ |
เมื่อ สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส ประมุขแห่งศาสนาจักรโรมันคาทอลิก สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 21 เมษายน ค.ศ. 2025 โลกก็จับตามองว่าผู้ใดจะได้รับการคัดเลือกให้เป็นพระสันตะปาปาองค์ที่ 267 และเมื่อทรงดำรงตำแหน่งแล้วจะทรงเลือกใช้พระนามใด เนื่องจากพระนามพระสันตะปาปาสามารถบ่งบอกถึงความเคารพยกย่องและวิสัยทัศน์ของพระองค์ได้
เกณฑ์การตั้งพระนามพระสันตะปาปา
ในอดีตพระสันตะปาปาเป็นที่รู้จักในพระนามเดิม อย่างไรก็ดี สมเด็จพระสันตะปาปาองค์แรกที่ทรงเปลี่ยนพระนามคือ สมเด็จพระสันตะปาปาจอห์นที่ 2 (John II) ในคริสต์ศตวรรษที่ 6 ซึ่งทรงละทิ้งพระนามเดิมคือ “เมอร์คูริอุส” (Mercurius) เนื่องจากเป็นชื่อเทพเจ้ากรีก-โรมัน

ธรรมเนียมการเลือกพระนามพระสันตะปาปาจึงปรากฏครั้งแรกในตอนนั้น แต่กว่าจะเป็นธรรมเนียมปฏิบัติอย่างจริงจังก็ราวคริสต์ศตวรรษที่ 10 เป็นต้นมา
แม้ไม่มีเกณฑ์กำหนดอย่างเป็นทางการ แต่ทั่วไปแล้วแบ่งได้ 4 ข้อหลัก ดังนี้
ตามชื่อนักบุญที่พระสันตะปาปาทรงศรัทธา เช่น สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส (Francis) ซึ่งทรงดำรงชีวิตอย่างสมถะ เรียบง่าย และทรงอุทิศตนเพื่อความยุติธรรมในสังคม
พระองค์ทรงเลือกพระนาม “ฟรานซิส” เพื่อยกย่องนักบุญฟรานซิสแห่งอัสซีซี (St. Francis of Assisi) ผู้ก่อตั้งคณะฟรานซิสกันช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 13 ผู้ปฏิเสธความมั่งคั่งและอุทิศตนให้ผู้ทุกข์ยาก นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่พระสันตะปาปาทรงเลือกพระนามนี้
เพื่อเป็นเกียรติหรือยกย่องสรรเสริญพระสันตะปาปาองค์ก่อน เช่น สมเด็จพระสันตะปาปาจอห์น ปอล ที่ 2 (John Paul II) ทรงยกย่องสมเด็จพระสันตะปาปาปอลที่ 6 (Paul VI) และสมเด็จพระสันตะปาปาจอห์น ปอล ที่ 1 (John Paul I)

หรือในกรณี สมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 16 (Benedict XVI) ซึ่งเป็นพระสันตะปาปาองค์ก่อนหน้าพระสันตะปาปาฟรานซิส ทรงเล่าว่า ทรงตั้งพระนามของพระองค์ตามพระนามของสมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 15 (Benedict XV) เนื่องด้วย “พระองค์ทรงนำทางคริสตจักรผ่านช่วงเวลาแห่งความสับสนวุ่นวายในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1”
เพื่อบ่งบอกทิศทางที่ต้องการนำพาศาสนจักรมุ่งไป อย่าง สมเด็จพระสันตะปาปาปิอุสที่ 12 (Pius XII) ที่ทรงระบุว่า จะทรงสานต่อพระกรณียกิจของสมเด็จพระสันตะปาปาปิอุสที่ 11 (Pius XI)
เพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้มีพระคุณ อาทิ สมเด็จพระสันตะปาปาจอห์นที่ 23 (John XXIII) ที่ทรงยกย่องบิดาของพระองค์
อย่างไรก็ตาม มีธรรมเนียมที่ไม่ปรากฏเป็นลายลักษณ์อักษรว่า พระสันตะปาปาจะไม่ทรงเลือกใช้พระนาม “เปโตร” (Petro/Peter) เนื่องจากเป็นพระนามของสมเด็จพระสันตะปาปาองค์แรกที่พระเยซูทรงเลือกด้วยพระองค์เอง
10 พระนามที่ใช้มากสุดในประวัติศาสตร์
หลายศตวรรษที่ผ่านมา พระนามพระสันตะปาปามีแตกต่างหลากหลาย อาทิ แอนิเซตุส (Anicetus) วิกเตอร์ (Victor) สตีเฟน (Stephen) ฟาเบียน (Fabien) มาร์ก (Mark) จูเลียส (Julius) โดนุส (Donus) มาร์ติน (Martin) โรมานุส (Romanus) แลนโด (Lando) เอเดรียน (Adrian) ฯลฯ

แต่พระนามที่พระสันตะปาปาทรงเลือกใช้มากสุด เรียงตามความนิยม 10 อันดับ มีดังนี้
1. จอห์น (John) มี 23 องค์ (จอห์นที่ 1-23) แต่บางแห่งก็ระบุว่ามี 21 องค์
2. เกรกอรี (Gregory) มี 16 องค์ (เกรกอรีที่ 1-16)
3. เบเนดิกต์ (Benedict) มี 16 องค์ (เบเนดิกต์ที่ 1-16)
4. คลีเมนต์/เคลเมนต์ (Clement) มี 14 องค์ (คลีเมนต์ที่ 1-14)
5. อินโนเซนต์ (Innocent) มี 13 องค์ (อินโนเซนต์ที่ 1-13)
6. ลีโอ (Leo) มี 13 องค์ (ลีโอที่ 1-13)
7. ปิอุส (Pius) มี 12 องค์ (ปิอุสที่ 1-12)
8. อเล็กซานเดอร์ (Alexander) มี 8 องค์ (อเล็กซานเดอร์ที่ 1-8)
9. อูร์บัน/เออร์บัน (Urban) มี 8 องค์ (อูร์บันที่ 1-8)
10. โบนิฟาเช (Boniface) มี 8 องค์ (โบนิฟาเชที่ 1-8)
สมเด็จพระสันตะปาปาพระองค์ใหม่จะทรงใช้พระนามใด จะเป็นพระนามเดิมที่มีอยู่แล้วใน 10 อันดับข้างต้นหรือไม่ หรือจะเป็นพระนามที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ต้องติดตาม
อ่านเพิ่มเติม :
- เปิดขั้นตอนวิธีการคัดเลือก “พระสันตะปาปาองค์ใหม่”
- หนัง The Two Popes เล่าสัมพันธ์สองโป๊ปหลังสุด สร้างฉากยังไง เมื่อวาติกันห้ามถ่าย
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
Catholic Answers. “What are the Criteria for a Pope in Choosing his New Name?”. Accessed 22nd, April 2025.
Kate Schneider. “The Pope’s legacy, popularity and possible successors in charts and numbers”. Accessed 22nd, April 2025.
Emily Alpert. “Why does the pope change his name? Why ‘Francis’?”. Accessed 22nd, April 2025.
The Editors of Encyclopaedia Britannica. “Franciscan”. Encyclopedia Britannica, 5 Mar. 2025. Accessed 22nd, April 2025.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 22 เมษายน 2568