หนัง The Two Popes เล่าสัมพันธ์สองโป๊ปหลังสุด สร้างฉากยังไง เมื่อวาติกันห้ามถ่าย

ภาพยนตร์ The Two Popes จาก Netflix (ภาพจาก Facebook/The Two Popes)

ภาพยนตร์ The Two Popes โดย Netflix เป็นอีกเรื่องที่อ้างอิงบุคคลและเหตุการณ์จริงในประวัติศาสตร์มาขยายความต่อเป็นเรื่องราวของความสัมพันธ์ที่สะท้อนภาพช่วงเวลารอยต่อระหว่างพระสันตะปาปา 2 พระองค์ นั่นคือโป๊ปเบเนดิกต์ที่ 16 กับโป๊ปฟรานซิส

ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้โจนาธาน ไพร์ส (Jonathan Pryce) รับบทเป็นโป๊ปฟรานซิส (Pope Francis) ขณะที่เซอร์แอนโธนี ฮอปกินส์ (Sir Anthony Hopkins) รับบทเป็นโป๊ปเบเนดิกต์ที่ 16 (Pope Benedict XVI) ภาพยนตร์นำเสนอเรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่างพระสันตะปาปาทั้งสองพระองค์ ท่ามกลางห้วงเวลาของรอยต่อการส่งตำแหน่งให้ “ฟรานซิส” ซึ่งขึ้นรับตำแหน่งตั้งแต่ปี ค.ศ. 2013 เป็นต้นมา

ภาพยนตร์เรื่องนี้ประกอบด้วยฉากสมมติที่มีบทสนทนาระหว่างสองผู้นำคริสต์ศาสนา โรมันคาทอลิก ในช่วง 2012 ก่อนหน้าการเปลี่ยนผ่านตำแหน่ง และสถานที่ซึ่งถูกอ้างอิงในภาพยนตร์อีกแห่งหนึ่งที่สื่อบันเทิงพยายามนำเสนอเพื่อสะท้อนมุมที่คล้ายคลึงกันระหว่างบุคคลทั้งสองก็คือสถานที่สำคัญทางคริสต์ศาสนา โดยภาพยนตร์นำเสนอว่า ผู้นำทางศาสนาทั้งสองต่างชื่นชมผลงานภาพเขียนจากศตวรรษที่ 16 ของมิเคลันเจโล

จนถึงช่วงเดือนธันวาคม 2019 ยังไม่มีรายงานที่ยืนยันว่า โป๊ปทั้งสองได้ชมภาพยนตร์เรื่องนี้แล้ว (โป๊ปไม่ได้เข้าชมการฉายภาพยนตร์รอบพิเศษที่วาติกัน) ขณะที่รายละเอียดบางส่วนของเรื่องนี้ก็ถูกแต่งเติมเข้ามา แต่จากการให้สัมภาษณ์ของไพรส์ นักแสดงนำรายหนึ่งในเรื่องเผยว่า พระคาร์ดินัลรายหนึ่งที่เขาพบในรอบฉายพิเศษ เข้ามาขอ DVD เพื่อไปให้โป๊ปฟรานซิสชม และเอ่ยว่า เขาเชื่อว่าโป๊ปฟรานซิสน่าจะชอบภาพยนตร์เรื่องนี้

อย่างไรก็ตาม รายละเอียดบางส่วนในภาพยนตร์ยังอ้างอิงมาจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง อาทิ การพบปะกันระหว่างโป๊ปทั้งสอง (รายงานข่าวเผยว่า เคยพบกัน 3 ครั้ง) และรายละเอียดเรื่องรสนิยมของโป๊ปฟรานซิสที่พระองค์นิยมเครื่องดื่มชนิดหนึ่งด้วย

ในอีกด้านหนึ่ง รายละเอียดบางส่วนก็เป็นการแต่งเติมเข้าไปตามจินตนาการเพื่อเพิ่มอรรถรส อาทิ ฉากที่โป๊ปทั้งสองชมฟุตบอลด้วยกัน และฉากที่กินพิซซ่าร่วมกัน (โป๊ปฟรานซิส เป็นแฟนฟุตบอลจริง แต่โป๊ปเบเนดิกต์ เป็นแฟนรถฟอร์มูล่าวัน)

ส่วนบทสนทนาระหว่างโป๊ปทั้งสอง แม้จะเป็นการแต่งขึ้น แต่ทีมงานแต่งขึ้นโดยอ้างอิงจากบทสัมภาษณ์หรือแถลงการณ์ที่โป๊ปทั้งสองเอื้อนเอ่ยจริงในแต่ละห้วงชีวิตของท่าน ถึงจะอ้างแบบนี้ แต่นักวิจารณ์ภาพยนตร์บางส่วนมองว่า เนื้อหาในเรื่องก็ไม่ได้สะท้อนลักษณะตัวตนของโป๊ปทั้งสองพระองค์ได้ใกล้เคียงเท่าไหร่

การบอกเล่าเรื่องราวในภาพยนตร์สักเรื่องนอกจากต้องมีชั้นเชิงในการเล่า บท การแสดงที่ดีแล้ว สิ่งที่ขาดไปไม่ได้เลยคือฉากที่สำคัญที่ใช้ในการถ่ายทำที่สามารถบอกเรื่องราวของภาพยนตร์ให้รายละเอียดและช่วยทำให้ภาพยนตร์สมบูรณ์แบบมากขึ้น แต่บางครั้งฉากที่ต้องการอาจเป็นสถานที่หวงห้ามจนไม่สามารถถ่ายทำในสถานที่จริง (วาติกันไม่อนุมัติให้เข้าถ่ายทำภาพยนตร์ใดๆ ยกเว้นแค่กรณีถ่ายทำสารคดีซึ่งวาติกันจะพิจารณาเป็นรายกรณีอีก) แต่เพื่อทำให้ภาพยนตร์ออกมาสมบูรณ์แบบจึงต้องสร้างฉากขึ้นมาใหม่ อย่างเช่นฉากโบสถ์ซิสทีน (Sistine Chapel)

โบสถ์ซิสทีนแห่งนี้เป็นโบสถ์ที่มีภาพเขียนสีอันเป็นงานสำคัญอีกชิ้นของมิเคลันเจโล (Michelangelo) ในศตวรรษที่ 16 ซึ่งทีมงานต้องหาวิธีคัดลอกรายละเอียดเหล่านี้มาใส่ในฉากจำลองเพื่อความสมจริง กรณีนี้ทีมงานได้รับคำแนะนำจากเอนริโก บรูชินี (Enrico Bruschini) ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ศิลปะผู้เขียนหนังสือเกี่ยวกับวาติกันในหลากหลายด้านแทบจะครบทุกซอกมุม เขามาเป็นที่ปรึกษาของภาพยนตร์เรื่องนี้

สมมติว่าทีมงานต้องสร้างฉากที่มีผลงานอันตระการตาของมิเคลันเจโล การวาดภาพขึ้นใหม่ทั้งหมดต้องใช้เวลาหลายเดือน หากใช้วิธีคัดลอกภาพลงบนกระดาษก็ย่อมทำให้ผลงานเดิมเสียหาย ทีมงานจึงอาศัยเทคนิก “Tatoo wall” กระบวนการคล้ายกับหลักการสักลายน้ำชั่วคราวบนผิวหนัง (ใช้แผ่นพิมพ์วางบนผิวหนังแล้วลูบน้ำให้ลวดลายติดกับผิวหนัง) อธิบายโดยคร่าว ในกรณีการสร้างฉาก ทีมงานใช้วิธีพิมพ์ภาพของภาพเขียนผนังลงฟิล์ม แล้ววางลงบนพื้นผิวที่เคลือบด้วยสารที่ดูดสีเพื่อจะให้นำไปปรากฏบนพลาสเตอร์ (Plaster)

การทำภาพขึ้นใหม่ ทีมงานต้องศึกษาภาพถ่ายจากบริษัทที่รับงานทำความสะอาดโบสถ์แห่งนี้เมื่อทศวรรษก่อน และจ้างศิลปินท้องถิ่นมาวาดภาพบางจุดในสัดส่วน 1 ใน 3 ภาพของภาพจริง จากนั้นก็ถ่ายภาพงานเขียนอีกรอบ แล้วเอาภาพที่ถ่ายมาขยายใหญ่ จากนั้นก็พิมพ์ภาพที่ขยายแล้วเพื่อมาคัดลอกลายลงบนพื้นผิวเหมือนเทคนิก “สักลายน้ำชั่วคราวบนผิวหนัง” กระบวนการนี้ก็ใช้เวลา 8 สัปดาห์แล้ว และต้องทำงานละเอียดด้วย เพราะการถ่ายทำจะต้องมีเฟรมภาพที่ถ่ายระยะใกล้ โดยเฉพาะในส่วนของภาพเขียน “The Last Judgment” ที่ตัวละครสำคัญในภาพยนตร์มีบทสนทนาถึงผลงานชิ้นนี้

ภาพเขียน The Last Judgment โดย มิเคลันเจโล (Michelangelo) วาดระหว่างปี ค.ศ.1536 until 1541

ภาพเขียนบนฝาผนัง “The Last Judgment” เป็นภาพที่บอกเล่าเหตุการณ์การพิพากษาครั้งสุดท้าย และการกลับมาของพระคริสต์ ดังจะเห็นว่าพระคริสต์อยู่ตรงจุดศูนย์กลางของภาพ โดยรวมแล้วเป็นการเล่าเรื่องการตัดสินบาปของมนุษย์ แบ่งแยกเป็นส่วนบนและล่าง โดยฟากบนเป็นสวรรค์ ด้านล่างเป็นนรก

เป็นเรื่องน่าเสียดายที่ฉากซึ่งทีมงานสร้างขึ้นย่อมต้องถูกรื้อลงหลังจบงานเนื่องจากสตูดิโอที่เป็นสถานที่ถ่ายทำก็ต้องใช้พื้นที่สำหรับงานอื่น สำหรับผลงานที่ถูกรื้อออก ทีมงานเล่าว่า พวกเขาแบ่งภาพเป็นหลายส่วน แต่ละชิ้นก็กระจายไปอยู่กับมือของทีมงานผู้สร้าง และสมาชิกในทีม แล้วแต่ว่าใครมีกำลังขนไปแค่ไหน (ปูนหนานิ้วครึ่ง เมื่อแยกส่วนแล้วน่าจะหนักพอสมควรตามขนาดแต่ละส่วน)

แต่สำหรับผู้กำกับเรื่องนี้ เฟร์นันโด เมเรลเลส (Fernando Meirelles) มีรายงานว่า เขาไม่ได้ชิ้นส่วนของฉาก (ที่เป็นภาพผนัง) ติดมือไปแต่อย่างใด


อ้างอิง :

Brockhaus, Hannah. “Does ‘The Two Popes’ fairly represent Francis and Benedict? Critics say ‘no’”. Catholic News Agency. Online. Access 27 DEC 2019. <https://www.catholicnewsagency.com/news/does-the-two-popes-fairly-represent-francis-and-benedict-critics-say-no-77384>

LEE, ASHLEY. “‘The Two Popes’ couldn’t film inside the Sistine Chapel. So Netflix built a bigger one”. Los Angeles Times. Online. Published 20 DEC 2019. Access 27 DEC 2019. <https://www.latimes.com/entertainment-arts/movies/story/2019-12-20/two-popes-sistine-chapel-netflix>

Mandell, Andrea. “Fact check: Did ‘The Two Popes’ really bond over Fanta, pizza and soccer?”. USA TODAY. Online. Published 27 NOV 2019. Access 27 DEC 2019. <https://www.usatoday.com/story/entertainment/movies/2019/11/27/did-two-popes-francis-benedict-watch-soccer-eat-pizza-together/4312540002/>

Thomas, Huw. “The Two Popes: Jonathan Pryce’s ’emotional moment’ in Vatican”. BBC. Online. Published 19 DEC 2019. Access 27 DEC 2019. <https://www.bbc.com/news/uk-wales-50837607>


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 27 ธันวาคม 2562