ออกญาสมบัติธิบาล “ขุนนางใหญ่” ชาวจีนมากบารมีคนแรกในราชสำนักกรุงศรีฯ

ภาพ ยูเดีย หรือ กรุงศรีอยุธยา ภาพกรุงศรีอยุธยา กบฏบุญกว้าง อังกฤษ ชาติมหาอำนาจ ออกญาสมบัติธิบาล ขุนนางใหญ่ชาวจีน สมัย สมเด็จพระเพทราชา
ภาพ “ยูเดีย” (อาณาจักรอยุธยา) วาดโดยโยฮันเนส วิงโบนส์ (Johannes Vingboons) ต้นสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
ชาวจีนติดต่อค้าขายและตั้งรกรากในกรุงศรีอยุธยามานานหลายร้อยปี พ่อค้าชาวจีนจึงมีอยู่มากมาย แต่น้อยคนนักที่ความสามารถบวกชะตาฟ้าลิขิตจะส่งให้มีบทบาทสำคัญในศูนย์กลางอำนาจ หนึ่งในนั้นคือ ออกญาสมบัติธิบาล ขุนนางใหญ่ชาวจีนคนแรกในราชสำนักกรุงศรีอยุธยา เมื่อ 300 กว่าปีก่อน
กรุงศรีอยุธยา มี ออกญาสมบัติธิบาล ขุนนางใหญ่ชาวจีน สมัย สมเด็จพระเพทราชา
ภาพกรุงศรีอยุธยาท่ามกลางพายุ โดยฟาน เดอ อา เป็นภาพมุมกว้างที่มองจากหมู่บ้านวิลันดาของฮอลันดา (ภาพจากกรุงศรีอยุธยาในแผนที่ฝรั่ง โดย ธวัชชัย ตั้งศิริวานิช)

สมเด็จพระเพทราชา พระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์บ้านพลูหลวง (ครองราชย์ พ.ศ. 2231-2246) ทรงมีขุนนางคนสำคัญคือ ออกญาโกษา (ปาน) ซึ่งรับราชการมาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช

เมื่อออกญาโกษา (ปาน) ถึงแก่อนิจกรรม เอกสารดัตช์รายงานว่า ช่วงปลายแผ่นดินพระเพทราชา ทรงไว้วางพระราชหฤทัยให้ ออกญาสมบัติธิบาล เจ้ากรมพระคลังในขวา เป็นที่ปรึกษาการค้าและการต่างประเทศ

คอนสแตนติน ฟอลคอน ออกญาวิชาเยนทร์ ขุนนาง สมัย สมเด็จพระนารายณ์ฯ ก่อน จะ มี ออกญาสมบัติธิบาล ขุนนางใหญ่ชาวจีน สมัย สมเด็จพระเพทราชา
คอนสแตนติน ฟอลคอน หรือออกญาวิชาเยนทร์ ขุนนางชาวกรีกที่มีอำนาจมากที่สุดคนหนึ่งในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช

ออกญาสมบัติธิบาล ขุนนางใหญ่ชาวจีนผู้นี้ เดิมเป็นผู้ช่วยของ คอนสแตนติน ฟอลคอน ทำงานกรมท่ามาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์ฯ

ต่อมาถูกจับจำคุกหลังผลัดแผ่นดิน เช่นเดียวกับพ่อค้าฝรั่งเศสใน พ.ศ. 2231 แต่ออกญาสมบัติธิบาลได้รับความเมตตาจากพระมารดาของหลวงสรศักดิ์ (เจ้าวังหน้า) หลังจากนั้นไม่นานจึงพ้นโทษออกมา

ตอนแรก ออกญาสมบัติธิบาลไม่ได้มีตำแหน่งใหญ่โต แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์กบฏโคราชและการฆ่าล้างบางขุนนางเก่าเมื่อ พ.ศ. 2243-2244 เขาเป็นผู้นำหลักฐานการก่อกบฏไปถวายสมเด็จพระเพทราชา จึงได้รับความดีความชอบ

ทั้งยังเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยให้เป็นผู้อภิบาล เจ้าพระขวัญ พระราชโอรสของพระองค์อีกด้วย

เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นครั้งแรกที่ปรากฏหลักฐานว่า ชาวจีนขึ้นสู่ตำแหน่งที่ปรึกษาคนสนิทของพระเจ้าแผ่นดินในระดับเดียวกับขุนนางชาติอื่นที่ผ่านมา เช่น ออกญาเฉกอะหมัดและออกญาเสนาภิมุขในสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม ออกญาพิชิต ออกญาศรีเนาวรัตน์ และออกญาวิชาเยนทร์ ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ฯ

แต่ช่วงเวลาที่ขุนนางจีนมีอำนาจวาสนาและบารมีนั้นแสนสั้น เพราะอีกเพียง 3 ปีต่อมาคือ พ.ศ. 2246 สมเด็จพระเพทราชาก็สวรรคต บรรดาขุนนางต่างแบ่งเป็นฝักเป็นฝ่าย

เอกสารของอาร์เนาต์ เกลอร์ (Arnort Cleur) ระบุว่า เมื่อสมเด็จพระเจ้าเสือขึ้นครองราชย์ ออกญาสมบัติธิบาลก็ถูกริบราชบาตและถูกประหารชีวิต

ปิดตำนานขุนนางใหญ่ชาวจีนผู้มากบารมีในเวลาไม่กี่ปีเท่านั้น

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

พิมพ์ประไพ พิศาลบุตร, สมชาย จิว และนิรันดร นาคสุริยันต์ แปลและเรียบเรียง. ประวัติศาสตร์จีนกรุงสยาม เล่ม 1 สมัยกรุงศรีอยุธยาถึงต้นกรุงรัตนโกสินทร์. กรุงเทพฯ: มติชน, 2568


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 8 พฤษภาคม 2568