“อัฐิของครูบาศรีวิชัย” ตนบุญแห่งล้านนา เก็บไว้ที่ใดบ้าง?

รูปปั้นครูบาศรีวิชัย ที่ กรุอัฐิของครูบาศรีวิชัย
รูปปั้นครูบาศรีวิชัย ที่ กรุอัฐิครูบาศรีวิชัย วัดพระธาตุช่อแฮ พระอารามหลวง จังหวัดแพร่

หลังครูบาศรีวิชัย ตนบุญแห่งล้านนาถึงแก่มรณภาพด้วยอายุ 60 ปี ก็มีผู้คนมากมายต่างอยากได้ “อัฐิ” ของท่านกันทั้งสิ้น จนเกิดความปั่นป่วนอยู่ไม่น้อย เพราะในตอนนั้นถึงขั้นมีนายทหารมาตรึงกำลัง 2 คันรถ จึงมีบทวิเคราะห์ออกมาว่า แล้วผู้ใดเป็นคนที่ได้อัฐิของครูบาศรีวิชัยไปบ้าง?

ในบทความ “ปริศนาโบราณคดี : เงื่อนงำแห่งอมตะวาจาครูบาเจ้าศรีวิชัย “หากน้ำปิงไม่ไหลย้อน จักไม่ขอเหยียบนครเชียงใหม่” (จบ)” เผยแพร่ในมติชนสุดสัปดาห์ ระบุไว้ว่ามีหลายเอกสารกล่าวว่าสามารถหาทางออกที่ลงตัวได้ โดยบันทึกว่าแบ่งเป็น 6 ส่วน ดังนี้

ครูบาศรีวิชัยกับศิษย์ ที่วัดสิงห์ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่

ที่แรกที่ต้องมอบให้ คือ วัดบ้านปาง ต. ศรีวิชัย อ. ลี้ จ. ลำพูน เนื่องจากเป็นวัดแรกที่ท่านบวชเรียน ทั้งยังเป็นสถานที่ละสังขารของท่านอีกด้วย 

หลังจากมอบให้กับวัดสำคัญของท่าน คณะกรรมการการจัดงานฌาปนกิจศพครูบา ก็มอบให้ผู้ว่าราชการแต่ละจังหวัดมาเซ็นรับรองมอบให้ตามสถานที่ ดังนี้…

ส่วนที่ผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูนรับมอบ

กู่อัฐิครูบาศรีวิชัย ที่วัดจามเทวี จ. ลำพูน (ภาพจาก : fb วัดจามเทวี)

เก็บไว้ที่ วัดจามเทวี ที่นี่ได้ชื่อว่ามีอัฐิของครูบาศรีวิชัยเยอะที่สุด เนื่องจากเป็นสถานที่ทำการฌาปนกิจศพ ทั้งยังเป็นวัดสุดท้ายที่ครูบาสร้างและมารักษาตัวขณะอาพาธ

ส่วนที่ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่รับมอบ

เก็บไว้ที่ วัดสวนดอก ก่อนจะแบ่งไปที่ “วัดหมื่นสาร” เนื่องจากเป็นวัดที่นายอิน วิลเลี่ยม ผู้เป็นเจ้าภาพออกค่าใช้จ่ายทั้งหมดในการจัดงานมหรสพ ที่ศิษย์เอกมือขวาต้องการจัดเลี้ยงชาวเขาที่ศรัทธาครูบาศรีวิชัย ซึ่งมาช่วยงานฌาปนกิจ

พระมหาเจดีย์วัดสวนดอก พระอารามหลวง จังหวัดเชียงใหม่ ในอดีต (ภาพจาก : fb วัดสวนดอก พระอารามหลวง)

นอกจากนี้ยังแบ่งไปที่ วัดเชียงมั่น ซึ่งแบ่งมาจากวัดหมื่นสารอีกทีหนึ่ง

ส่วนที่ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปางรับมอบ

เก็บไว้ในแท่นแก้ว (ฐานชุกชี) ที่รองรับพระพุทธรูปประธานภายในพระวิหารหลวง วัดพระแก้วดอนเต้าสุชาดาราม แล้วนำรูปปั้นครูบาศรีวิชัยมาประดิษฐานทับปิดไว้

ต่อมามีเหตุพยายามโจรกรรมเกิดขึ้น เจ้าอาวาสวัดพระแก้วดอนเต้าจึงย้ายอัฐิของครูบาศรีวิชัยไปเก็บรักษาอย่างปลอดภัยในกุฏิ

กู่เก็บอัฐิ ครูบาศรีวิชัย ที่ วัดพระธาตุดอยน้อย (ภาพจาก : fb วัดพระธาตุดอยน้อย)

อัฐิที่นี่ถูกแบ่งไปที่ วัดพระธาตุดอยน้อย อ. เกาะคา ด้วยเช่นกัน

ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายรับมอบ

พระวิหารหลวง วัดศรีโคมคำ อ. เมือง จ. พะเยา (ภาพจาก : fb วัดศรีโคมคำ(วัดพระเจ้าตนหลวง)พะเยา)

เก็บไว้ที่กู่อัฐิ วัดพระเจ้าตนหลวง (ศรีโคมคำ) แต่ก่อนที่นี่ยังอยู่ใน อ. พะเยา และขึ้นตรงกับเชียงราย เป็นอีกหนึ่งวัดสำคัญที่ครูบาศรีวิชัยทุ่มเทบูรณะเสนาสนะอย่างมากและใช้เวลาหลายเดือน 

จนเมื่อพะเยาขึ้นเป็นจังหวัด เชียงรายจึงต้องขอแบ่งอัฐิมาไว้ที่ วัดพระธาตุเจ้าดอยตุง อ. แม่สาย และฝังอัฐิของท่านไว้ในแท่นแก้วประดิษฐานพระพุทธรูป นำรูปเหมือนของท่านในท่ายืนมาวางทับกู่ไว้อีกทีหนึ่ง

ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่รับมอบ

เก็บอัฐิไว้ที่ วัดพระธาตุช่อแฮ พระธาตุประจำปีเกิดของครูบาศรีวิชัย นั่นคือปีขาล และเป็นวัดแห่งเดียวใน จ. แพร่ ที่ครูบาศรีวิชัยผูกพัน รวมถึงเป็นวัดที่อยู่ทางตะวันออกสุดของล้านนา ที่ครูบาศรีวิชัยเคยไปบูรณปฏิสังขรณ์พระอาราม

กรุอัฐิครูบาเจ้าศรีวิชัย วัดพระธาตุช่อแฮ พระอารามหลวง จังหวัดแพร่ (ภาพจาก : วัดพระธาตุช่อแฮ พระอารามหลวง)

ส่วนข้อมูลของจังหวัดน่าน บทความกล่าวว่าไม่พบหลักฐานใด ๆ

อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนบทความนี้ยังกล่าวอีกว่า ยังมีอีกหลายวัด ที่มีอัฐิของครูบาศรีวิชัยนอกเหนือจากวัดที่ปรากฏหลักฐาน โดยส่วนนี้ได้มาจากบุคคลสำคัญและลูกศิษย์ลูกหา ที่ได้รับอัฐิของครูบาศรีวิชัยมาหรือขอแบ่งมาจากวัดต่าง ๆ ในบันทึกนั่นเอง

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง : 

https://www.matichonweekly.com/column/article_8279


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 11 เมษายน 2568