ผู้เขียน | สุทธาสินี จิตรกรรมไทย เจียจันทร์พงษ์ |
---|---|
เผยแพร่ |
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7) และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี มิทรงมีพระราชโอรสและพระราชธิดา ทว่าทรงมีพระราชโอรสบุญธรรม คือ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจิรศักดิ์สุประภาต ซึ่งรัชกาลที่ 7 ทรงมอบความรักและความเมตตาให้พระราชโอรสบุญธรรมอย่างหาที่สุดมิได้
พระองค์เจ้าจิรศักดิ์สุประภาต พระราชโอรสบุญธรรมในรัชกาลที่ 7
พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจิรศักดิ์สุประภาต (เดิมคือ หม่อมเจ้าจิรศักดิ์สุประภาต) ทรงเป็นพระโอรสใน สมเด็จพระราชปิตุลา บรมพงศาภิมุข กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช หรือ “สมเด็จวังบูรพา” (ด้วยทรงเป็นเจ้าของวังบูรพา) ประสูติแต่ หม่อมเล็ก เมื่อวันที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2460
เมื่อพระองค์เจ้าจิรศักดิ์ หรือ “เล็ก” พระชันษาได้ 2 ปี หม่อมเล็กก็สิ้นขณะให้กำเนิดลูกองค์สุดท้อง สมเด็จวังบูรพาทรงเสียพระทัยมาก ถึงขั้นทรงปิดวังไม่ยอมพบใคร ต่อมาทรงส่งพระองค์เจ้าจิรศักดิ์ไปอยู่ในวังหลวง ให้เจ้านายฝ่ายในทรงช่วยเลี้ยงดู กระทั่งพระชันษา 6 ปี จึงทรงออกมาอยู่กับสมเด็จวังบูรพา

เมื่อพระองค์เจ้าจิรศักดิ์ทรงมีพระชันษาราว 7-8 ปี สมเด็จวังบูรพาก็ทรงนำไปถวายตัว เพื่อให้รัชกาลที่ 7 ทรงชุบเลี้ยง
คุณหญิงมณี สิริวรสาร หม่อมในพระองค์เจ้าจิรศักดิ์ ที่ครองชีวิตสมรสตั้งแต่ธันวาคม พ.ศ. 2481 ถึงกันยายน พ.ศ. 2485 เล่าเรื่องความรักและความผูกพันระหว่างรัชกาลที่ 7 กับพระราชโอรสบุญธรรม ไว้ในหนังสืออัตชีวประวัติของตน เรื่อง “ชีวิตเหมือนฝัน” ว่า
ครั้งหนึ่ง รัชกาลที่ 7 รับสั่งกับคุณหญิงมณีว่า ก่อนหน้านี้ สมเด็จวังบูรพาซึ่งเป็นพระอัยกาของพระองค์ ทรงนำพระเชษฐาของ “เล็ก” คือ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพีรพงศ์ภาณุเดช (เดิมคือ หม่อมเจ้าพีรพงศ์ภาณุเดช) หรือ “พี่น้อย” มาถวายตัว ซึ่งรัชกาลที่ 7 โปรดปรานเป็นอย่างมาก
ต่อมาเมื่อพระองค์ชายพีระพระชันษาได้ 13 ปี รัชกาลที่ 7 ทรงส่งไปศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษ ทำให้พระองค์ชายพีระสนิทสนมกับ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ (พระโอรสในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ ซึ่งสมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถทรงเป็นพระโสทรเชษฐาในรัชกาลที่ 7)
พระองค์จุลทรงรักใคร่โปรดปรานพระองค์ชายพีระอย่างมาก ถึงกับเขียนจดหมายกราบบังคมทูลรัชกาลที่ 7 ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้พระองค์ชายพีระอยู่ในความดูแลอุปการะของพระองค์จุลตลอดไป

คราวนั้น รัชกาลที่ 7 ทรงไม่พอพระทัยอย่างมาก แต่เมื่อทรงได้รับจดหมายจากพระองค์ชายพีระ ที่กราบบังคมทูลขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ตนไปอยู่ในพระอุปถัมภ์ของพระองค์จุล รัชกาลที่ 7 ก็มิได้ทรงทักท้วงแต่อย่างใด และโปรดให้เป็นไปตามพระประสงค์ของพระองค์ชายพีระ
กระทั่งสมเด็จวังบูรพาทรงนำพระโอรสองค์สุดท้อง คือ พระองค์เจ้าจิรศักดิ์สุประภาต มาถวายตัว รัชกาลที่ 7 ทรงพอพระทัยมาก จนกลายเป็นตัวแทนพระองค์ชายพีระไปในที่สุด
“ทรงรับสั่งว่า ‘เล็ก’ นั้นคงต้องมีความสัมพันธ์กับท่านมาตั้งแต่ชาติปางก่อนเป็นแน่ เพราะลักษณะหน้าตาก็มีส่วนคล้ายคลึง อุปนิสัยใจคอหลายอย่างก็มีส่วนเหมือนกันมาก เช่น เล็กชอบเครื่องตุ๊กกะฉึก เป็นศัพท์ที่ทูลกระหม่อม (รัชกาลที่ 7-ผู้เขียนบทความ) ทรงตั้งขึ้น หมายถึงเครื่องเล่นที่เป็นกลไกต่างๆ ที่ฝรั่งเรียกว่า gadgets และกล้องถ่ายรูป กล้องถ่ายหนัง เครื่องวิทยุ เครื่องกลไกต่างๆ ‘เล็ก’ ก็มีความสนใจมากที่สุดไม่เคยเบื่อหน่ายเลย
ทั้ง ‘เล็ก’ ก็เป็นคนละเอียดชอบหาของแปลกๆ มาเล่น ชอบคิดสิ่งประดิษฐ์ต่างๆ ชอบถอดกลไกออกมาจากเครื่องแล้วรวบรวมเข้าไปใหม่เพื่อให้ทราบวิธีว่าเดินอย่างไร นับว่าเป็นเด็กที่อยากรู้อยากเห็นเกี่ยวกับเครื่องจักรต่างๆ เช่นเดียวกับพระองค์
ทรงโปรด ‘เล็ก’ มากก็เพราะว่า ‘เล็ก’ นิสัยดี ไม่เคยอวดดี เบ่ง หรือแสดงอำนาจเพราะเป็น ‘คนโปรด’ เลย ตั้งแต่เมื่อครั้งอยู่ด้วยกันที่วังสุโขทัยแล้ว ‘เล็ก’ ไม่เคยอวดอ้างกับใครว่าได้เป็น ‘คนโปรด’” คุณหญิงมณีเล่า

“เขาเกิดมาเพื่อเป็นลูกของฉันจริงๆ ทีเดียว”
รัชกาลที่ 7 ทรงมอบความรักและความเมตตากรุณาแก่พระราชโอรสบุญธรรมอย่างยิ่ง จวบจนเมื่อพระองค์เจ้าจิรศักดิ์พระชันษา 13 ปี ก็ทรงส่งไปศึกษาต่อที่สหรัฐอเมริกา
คุณหญิงมณีกล่าวถึงเรื่องนี้ว่า รัชกาลที่ 7 ทรงเล่าว่า ทั้งๆ ที่พระองค์ทรงจบการศึกษาจากอังกฤษ แต่ต้องทรงตัดพระทัยส่งพระองค์เจ้าจิรศักดิ์ไปเรียนที่อเมริกา เพราะทรงเกรงว่า หากส่งไปเรียนที่อังกฤษอาจตกอยู่ใต้อิทธิพลพระองค์จุล แล้วพระองค์จุลอาจคิดแย่งความรักของพระองค์ไปอีกครั้งหนึ่ง

ระหว่างที่พระองค์เจ้าจิรศักดิ์ทรงร่ำเรียนที่เมืองนอก รัชกาลที่ 7 ทรงมีลายพระหัตถ์ส่งไปถึงอย่างต่อเนื่อง เป็นลายพระหัตถ์ตัวอย่างของพ่อเขียนถึงลูก เนื้อความเป็นคำสั่งสอน ตักเตือน เพื่ออบรมฝึกฝนให้เป็นคนดี ประพฤติดี ทำตัวให้เหมาะสม รักษาศักดิ์ศรีและเกียรติของวงศ์ตระกูล
เมื่อรัชกาลที่ 7 ทรงสละราชสมบัติใน พ.ศ. 2477 พระองค์พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ได้ประทับ ณ ประเทศอังกฤษเรื่อยมา โดยมีพระองค์เจ้าจิรศักดิ์ ที่ทรงมีพระนามลำลองที่นั่นว่า “เจรี่” ร่วมถวายการดูแลใกล้ชิด
กระทั่ง พ.ศ. 2481 รัชกาลที่ 7 ก็ทรงจดทะเบียนรับพระองค์เจ้าจิรศักดิ์เป็นบุตรบุญธรรมที่ถูกต้องตามกฎหมายอังกฤษ
ไม่เพียงรัชกาลที่ 7 จะทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อพระองค์เจ้าจิรศักดิ์เท่านั้น พระองค์ยังทรงดูแลชายาในพระราชโอรสบุญธรรม คือ “หม่อมมณี” (คุณหญิงมณี) อีกด้วย และทั้งสองก็ได้ไปเข้าเฝ้าฯ รัชกาลที่ 7 อยู่เป็นประจำไม่ขาด

“ในเวลาที่ข้าพเจ้าตั้งครรภ์ ซึ่งเป็นระหว่างฤดูหนาวหลายเดือน ข้าพเจ้าก็มักนั่งถักไหมพรมหน้าเตาผิง แต่เวลาที่ ‘เล็ก’ ไปเฝ้าทูลกระหม่อมที่ flat ในลอนดอน หรือที่พระตำหนัก ‘Vane Court’ ข้าพเจ้าก็ติดตามไปด้วยทุกครั้ง
บางทีก็พบทูลกระหม่อมกำลังทรงพระอักษร บางครั้งก็ทรงหนังสือ แต่บางวันพระองค์ก็ประทับและคุยกับเราทั้งสองคน บางครั้ง ‘เล็ก’ ทำอะไรเพลินๆ อยู่ท่านก็รับสั่งกับข้าพเจ้าคนเดียว เพราะข้าพเจ้ามักเป็นฝ่ายซักถามปัญหาต่างๆ และสนใจซักถามพระองค์เกี่ยวกับเรื่องราวต่างๆ ในอดีตอยู่เสมอ
ท่านทรงโปรดที่จะเล่าให้ข้าพเจ้าฟังถึงความสัมพันธ์ระหว่างท่านกับ ‘เล็ก’ ซึ่งข้าพเจ้าสนใจตั้งใจฟังเสมอ ทรงรับสั่งกับข้าพเจ้าว่า ‘เล็ก’ นั้นเขาเกิดมาเพื่อเป็นลูกของฉันจริงๆ ทีเดียว”
รัชกาลที่ 7 ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อพระองค์เจ้าจิรศักดิ์และหม่อมมณี ตราบจนพระองค์เสด็จสวรรคต เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2484
ส่วนพระองค์เจ้าจิรศักดิ์สุประภาต ที่ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ทรงเป็นนักบินอาสาสมัครขององค์กร Air Transport Auxiliary หรือ A. T. A. ทรงประสบอุบัติเหตุขณะขับเครื่องบินที่สกอตแลนด์ เป็นเหตุให้สิ้นพระชนม์ เมื่อวันที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2485 สิริพระชันษา 25 ปี
อ่านเพิ่มเติม :
- รัชกาลที่ 7 ทรงจัดการค่าใช้จ่ายอย่างไรขณะประทับที่อังกฤษ ช่วงต้นสงครามโลกครั้งที่ 2
- “พระตำหนักเวน คอร์ต” ในอังกฤษ ที่ประทับของรัชกาลที่ 7 หลังสละราชย์
- “ช้างพระเศวตฯ” ช้างเผือกคู่พระบารมีเพียงหนึ่งเดียว ล้มหลังรัชกาลที่ 7 สวรรคตได้ไม่นาน
- “นามสกุลพระราชทาน” สมัยรัชกาลที่ 7 มีนามสกุลใดบ้าง?
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
คุณหญิงมณี สิริวรสาร. ชีวิตเหมือนฝัน. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์กรุงเทพ (1984).
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 27 มีนาคม 2568