“ช้างพระเศวตฯ” ช้างเผือกคู่พระบารมีเพียงหนึ่งเดียว ล้มหลังรัชกาลที่ 7 สวรรคตได้ไม่นาน

ช้างเผือก รัชกาลที่ 7 พระเศวตคชเดชน์ดิลก ช้างพระเศวตฯ
“พระเศวตคชเดชน์ดิลก” ช้างเผือกในรัชกาลที่ 7 (ภาพ : Wikimedia Commons)

ในสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 มีช้างสำคัญคู่พระบารมีช้างเดียวคือ “ช้างพระเศวตฯ” หรือ พระเศวตคชเดชน์ดิลก ขึ้นระวางสมโภชและยืนโรง ณ โรงช้างต้นสวนจิตรลดาใน พ.ศ. 2470

ที่มาของช้างพระเศวตฯ นี้ เกิดขึ้นหลังเสร็จงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกรัชกาลที่ 7 ไม่นาน เมื่อบริษัทบอมเบย์เบอม่าส่งโทรเลขมากราบทูลว่า ช้างลากไม้ของบริษัทตกลูกออกมาเป็นสีประหลาด จึงโปรดเกล้าฯ ให้กรมคชบาลขึ้นไปดูที่เมืองเชียงใหม่

หลังกรมคชบาลไปตรวจสอบก็ได้ความว่าเป็นช้างเผือกตัวผู้ ตรงตามลักษณะคชลักษณ์ จึงโปรดให้เลี้ยงไว้ที่เมืองเชียงใหม่ก่อน เพราะหากนำมาสมโภชตามประเพณีทันที ทรงเกรงว่าลูกช้างอาจเจ็บป่วยเพราะการเดินทางไกล

เมื่อรัชกาลที่ 7 เสด็จพระราชดำเนินเลียบมณฑลพายัพ พ.ศ. 2469 ลูกช้างเผือกมีอายุราว 1 ปีแล้ว ขณะเสด็จไปทอดพระเนตรช้างคู่บารมีนั้น ลูกช้างก็ตรงมาหารัชกาลที่ 7 แล้วยกงวงขึ้นแตะหัวเป็นลักษณะการไหว้ ปีต่อมาพระองค์จึงโปรดให้นำมาสมโภชขึ้นระวางเป็นช้างพระที่นั่งที่กรุงเทพฯ พระราชทานนามว่า พระเศวตคชเดชน์ดิลก

พราหมณ์ รดน้ำสังข์ พระเศวตคชเดชน์ดิลก โรงช้างต้น
พราหมณ์รดน้ำสังข์พระเศวตคชเดชน์ดิลกที่โรงช้างต้น (ภาพจาก เฟซบุ๊ก : สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

วันหนึ่ง ได้เกิดลางร้ายแก่ช้างพระเศวตฯ แล้วยังสอดคล้องกับความเป็นไปของบ้านเมืองในช่วงเวลานั้นอย่างน่าประหลาด หม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย ดิศกุล บันทึกไว้ว่า

“ถึงคืนวันที่ ๒๓ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕ พระเศวตคชเดชน์ดิลกไม่ยอมนอน ร้องครวญครางอยู่ตลอดคืน, จนคนเลี้ยงมาแต่เกิดก็ไม่รู้ว่าเป็นอะไร

พอรุ่งเช้าก็พอดีเอะอะเรื่องเปลี่ยนแปลงการปกครองในวันที่ ๒๔ ในสถานที่ใกล้ ๆ โรงช้างนั่นเอง”

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7

สายสัมพันธ์บางอย่างระหว่างรัชกาลที่ 7 กับช้างสำคัญคู่พระบารมียังเชื่อมโยงถึงกัน แม้พระองค์จะสละราชสมบัติ และเสด็จฯ ไปประทับที่อังกฤษกระทั่งเสด็จสวรรคตที่นั่น ดังที่หม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัยเล่าว่า

“ต่อมาพระเศวตฯ โตขึ้นมีงา ๆ คู่นี้ก็แปลกที่เกิดงอกออกไปไขว้กัน

วันหนึ่งใกล้ ๆ เวลาที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะเสด็จสวรรคตในเมืองอังกฤษ ทางนี้พระเศวตฯ เกิดยกงวงขึ้นไปติดอยู่บนงาแล้วเอาลงไม่ได้, เจ็บปวดครวญครางอยู่หลายวัน, ลงท้ายไม่มีทางจะแก้ไขอย่างอื่นได้ นอกจากเลื่อยเอางาออกทั้ง ๒ ข้าง, จึงกลายเป็นข้างทุพลภาพและอยู่ได้มาอีกปีเศษก็ตาย

จะเรียกว่าเผอิญก็แปลกอยู่”

สมัยก่อนเชื่อกันว่า หากช้างสำคัญในรัชกาลล้ม (ตาย) เป็นเรื่องไม่มงคล ดังจะพบบันทึก “ช้างล้ม” ก่อนหรือหลังการสวรรคตของพระเจ้าแผ่นดินในอดีตบางพระองค์จากพงศาวดารหลาย ๆ ฉบับ

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง : 

สุทธิลักษณ์ อำพันวงศ์. (2537). ช้างไทย. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : มติชน.

พูนพิศมัย ดิศกุล, ม.จ. (2551). สิ่งที่ข้าพเจ้าพบเห็น ประวัติศาสตร์การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475. พิมพ์ครั้งที่ 7. กรุงเทพฯ : มติชน.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 13 มีนาคม 2568