ผู้เขียน | ธนกฤต ก้องเวหา |
---|---|
เผยแพร่ |
3 อันดับ 4 พระเจ้าแผ่นดินอยุธยา ที่มีช้างเผือกคู่พระบารมีจำนวนมากที่สุด
“ช้างเผือก” หรือช้างสำคัญที่มีลักษณะพิเศษตามหลัก “คชลักษณ์” เป็นช้างที่คนโบราณเชื่อว่าเกิดเพราะพระบารมีพระมหากษัตริย์ พระเจ้าแผ่นดินองค์ใดมีช้างเผือกมาสู่พระบารมีจำนวนมาก จะถือเป็นมหามงคล บ้านเมืองอยู่เย็นเป็นสุข
คชลักษณ์ 7 ประการ ประกอบด้วย ตาขาว เพดานขาว เล็บขาว ขนขาว พื้นหนังขาว ขนหางขาว และอัณฑโกศ (อวัยวะเพศ) ก็ขาวหรือคล้ายสีหม้อใหม่

ธรรมเนียมการนำช้างสำคัญขึ้นระวางสมโภชในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ซึ่งน่าจะสืบทอดมาจากสมัยอยุธยา มีอยู่ว่า เมื่อเจ้าหน้าที่บ้านเมืองทราบว่ามีช้างที่มีลักษณะพิเศษในพื้นที่ใด ก็จะถวายรายงานกราบบังคมทูลให้พระเจ้าแผ่นดินทรงทราบ เมื่อพิสูจน์ได้ว่าตรงตามคชลักษณ์ จึงจะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดพระราชพิธีสมโภชขึ้นระวาง ณ เมืองที่พบ แล้วนำช้างมายังพระนคร และหากขบวนพักแรมเมืองใดก็จะสมโภชในเมืองนั้นด้วย โดยมีพระสงฆ์สวดมนต์, การเวียนเทียน และจัดมหรสพเฉลิมฉลอง
ในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี พระเจ้าแผ่นดินสยาม 4 พระองค์ ที่มีช้างลักษณะพิเศษจำนวนหลายช้างมาสู่พระบารมี ตามที่ระบุไว้ใน พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา แบ่งเป็น 3 อันดับ ได้แก่
อันดับ 3 (ร่วม) สมเด็จพระนารายณ์มหาราช (สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 3, ครองราชย์ พ.ศ. 2199-2231) มีช้างเผือก 2 ช้าง คือ 1) พระอินทรไอยราวรรณ ช้างพังจากป่าตำบลห้วยทราย เมืองศรีสวัสดิ์ กับ 2) เจ้าพระยาบรมคเชนทรฉัททันต์ ช้างพลายจากป่าแขวงนครสวรรค์
สมเด็จพระเพทราชา (พระมหาบุรุษ, ครองราชย์ พ.ศ. 2231-2246) มีช้างเผือก 2 ช้าง คือ 1) พระอินทรไอราพต ช้างพังจากป่าแขวงเมืองสวรรคโลก กับ 2) พระบรมรัตนากาศ ช้างพังจากป่ากรุงกัมพูชา
อันดับ 2 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระบรมโกศ (สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 3, ครองราชย์ พ.ศ. 2275-2301) มีช้างเผือก 6 ช้าง ได้แก่ 1) พระวิเชียรหัสดิน ช้างพังจากป่ากรุงกัมพูชา 2) พระบรมราชนาเคนทร ช้างพลายงาสั้น จากนครศรีธรรมราช 3) พระบรมวิไชยคเชนทร ช้างพลายงาสั้นจากป่าเมืองไชยา
4) พระบรมกุญชร ช้างพลายงาสั้นจากป่าเมืองเพชรบุรี 5) พระบรมจักรพาลหัตถี ช้างพลายงาสั้นจากป่านครศรีธรรมราช และ 6) พระบรมคชลักษณ์ ช้างพลายสีประหลาดจากป่านครศรีธรรมราช
อันดับ 1 สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ มีช้างเผือก 7 ช้าง ได้แก่ 1) พระเคเชนทโรดม ช้างพลายจากกาญจนบุรี 2) พระรัตนากาศ ช้างพลายจากวังช้าง ตำบลไทรย้อย 3) พระแก้วทรงบาศ ช้างพลายจากวังช้าง เมืองเพชรบุรี
4) – 5) ช้างพังแม่และพังลูก จากตำบลป่ามหาโพธิ 6) พระบรมไกรสร ช้างพลายจากป่าชเลชุบศร และ 7) พระสุริยกุญชร ช้างพลายจากตำบลป่าน้ำทรง
นอกจาก 4 พระองค์ข้างต้นแล้ว ยังมีพระเจ้าแผ่นดินอยุธยาอีก 3 พระองค์ ที่พระราชพงศาวดารระบุว่ามีช้างเผือกในรัชกาล ได้แก่ สมเด็จพระอินทราชาที่ 2 (เจ้านครอินทร์, ครองราชย์ พ.ศ. 1952-1967) มีช้างพังเผือก 1 ช้าง (ไม่ปรากฏนาม) สมเด็จพระไชยราชาธิราช (ครองราชย์ พ.ศ. 2077-2089) มีช้างเผือกนาม พระฉัททันต์ และ สมเด็จพระเจ้าเสือ (สมเด็จพระสรรเพชญที่ 8, ครองราชย์ พ.ศ. 2246-2251) มีช้างเผือกนาม พระบรมไตรจักร

เนื่องจากสมเด็จพระมหาจักรพรรดิทรงมีช้างเผือกถึง 7 ช้าง พระเกียรติยศจึงปรากฏไปยังอาณาจักรทั้งหลาย ทำให้สมเด็จพระสังฆราชและเสนาข้าราชการถวายพระนามว่า “พระเจ้าช้างเผือก” แด่พระองค์
นั่นเป็นเหตุให้พระเจ้ากรุงหงสาวดี “บุเรงนอง” มีพระราชสาส์นมาขอช้างเผือก 2 ช้าง แต่กรุงศรีอยุธยาไม่ยอมให้ จึงเกิดเป็นสงครามที่ท้ายสุดสมเด็จพระมหาจักรพรรดิต้องทรงเจรจายอมให้ช้างเผือก 4 ช้างแก่พระเจ้ากรุงหงสาวดี
ช้างเผือกจึงไม่ใช่สิ่งการันตีว่ามีแล้วบ้านเมืองจะอยู่เย็นเป็นสุข (สถานเดียว) เพราะเคยเป็น “ข้ออ้าง” เป็นเหตุแห่งการรบราฆ่าฟันมาแล้ว
อ่านเพิ่มเติม :
- ช้างเผือกรัชกาลที่ 1-7 มีจำนวนกี่ช้าง?
- 13 มีนาคม วันช้างไทย วันที่คกก.คัดเลือกสัตว์ประจำชาติ ให้ช้างเผือกเป็นสัญลักษณ์ของไทย
- ชนวน “สงครามช้างเผือก” เมื่อพระมหาจักรพรรดิมีช้างมงคล 7 ช้าง จน “บุเรงนอง” ร้องขอ
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
สุทธิลักษณ์ อำพันวงศ์. (2537). ช้างไทย. พิมพ์ครั้งที่2. กรุงเทพฯ : มติชน.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2568