
ผู้เขียน | สุทธาสินี จิตรกรรมไทย เจียจันทร์พงษ์ |
---|---|
เผยแพร่ |
หลายคนอาจเคยได้ยินที่มาของชื่อ “ดอยอินทนนท์” สถานที่ท่องเที่ยวตามธรรมชาติที่สวยงามในจังหวัดเชียงใหม่ว่า ตั้งตามพระนาม “พระเจ้าอินทวิชยานนท์” (พระนามเดิมคือ เจ้าอินทนนท์) เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ องค์ที่ 7 ซึ่งเป็นพระบิดาในเจ้าดารารัศมี พระราชชายา เนื่องจากเจ้าดารารัศมีทรงนำพระอัฐิพระเจ้าอินทวิชยานนท์ไปฝังไว้ที่ “ยอดดอยอ่างกา” ต่อมาจึงมีการนำพระนามมาตั้งเป็นชื่อดอย
แต่เรื่องราวเป็นไปเช่นนี้จริงหรือ?

“พระอัฐิพระเจ้าอินทวิชยานนท์” บนยอดดอยสูงแห่งเชียงใหม่
ใน “การเมืองและเรื่องที่ลือในพระประวัติเจ้าดารารัศมี” บทความเด่นในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับมกราคม 2568 สมฤทธิ์ ลือชัย ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์ล้านนาและอุษาคเนย์ ซึ่งเป็นผู้เขียนบทความ ชวนตั้งข้อสังเกตประเด็นดังกล่าวผ่านหลักฐานหลายแหล่ง
หลักฐานที่กล่าวถึงการนำพระอัฐของพระบิดาในเจ้าดารารัศมีไปฝังไว้บนยอดดอย ปรากฏ 2 แหล่งด้วยกัน
แหล่งแรกคือหนังสือ “ดารารัศมี” โดย นงเยาว์ กาญจนจารี ที่ระบุว่า
“…เมื่อครั้งที่พระราชชายาเจ้าดารารัศมีได้ทรงขี่ม้าเสด็จขึ้นไปจนถึงยอดดอยนี้ ท่านผู้หญิงฉัตรสุดา วงศ์ทองศรี เล่าว่า เจ้าลดาคำแม่ของท่านก็ได้ตามเสด็จไปในครั้งนี้ด้วย เมื่อเสด็จถึงยอดดอย พระราชชายาฯ ได้ทรงนำพระอัฐิเจ้าหลวง พระบิดา คือพระเจ้าอินทวิชชยานนท์ (พระนามเดิมเจ้าอินทนนท์) ซึ่งพระองค์ทรงพกติดพระองค์อยู่ตลอดเวลาในพระตลับทองคำไปฝังไว้บนยอดดอยนี้…”

อีกแหล่งคือหนังสือ “ขัตติยานีศรีล้านนา” โดย ณัฐกานต์ ลิ่มสถาพร ที่กล่าวว่า
“ทรงขี่ม้าเสด็จไปยอดดอยอ่างกาซึ่งเป็นจุดที่สูงที่สุดในประเทศไทย ได้นำพระอัฐิพระบิดาพระเจ้าอินทวิชยานนท์ (เจ้าอินทนนท์) ที่พระองค์พกติดตัวอยู่ตลอดเวลาในตลับทองคำ ไปฝังไว้บนยอดดอยแห่งนี้ จนกลายเป็นชื่อดอยอินทนนท์นับตั้งแต่นั้น”
อาจารย์สมฤทธิ์เชื่อมาตลอดว่า เจ้าดารารัศมีทรงนำพระอัฐิของพระบิดาไปฝังที่ยอดดอยอ่างกา แต่เมื่อได้ค้นเอกสารหาข้อมูลมากเข้าก็สงสัยว่า ทำไมเอกสารอีกหลายเล่มถึงไม่ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ไว้
หลักฐานที่ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์ล้านนาและอุษาคเนย์ยกมามีเช่น ม.จ. พูนพิศมัย ดิศกุล ซึ่งทรงเขียนใน “ประชุมพระนิพนธ์” เล่ม 1 ว่า
“…เสด็จกลับทางอำเภอแม่สะเรียง ขึ้นทอดพระเนตรยอดดอยอินทนนท์ซึ่งเป็นภูเขายอดที่สูงที่สุดในประเทศไทย ปรอทลงต่ำถึง 40 ดีกรีฟาเรนไฮต์ ประทับอยู่บนยอดดอยนั้น 2 คืน ได้ทรงจารึกพระนามไว้ที่ก้อนหิน เพื่อเป็นที่ระลึกว่าได้เคยเสด็จไปยังที่ซึ่งคนน้อยคนนักจะได้ไป…”
“พระประวัติสังเขปพระราชชายาเจ้าดารารัศมี” เขียนโดย เจ้าแสงดาว ณ เชียงใหม่ ธิดาบุญธรรมในเจ้าดารารัศมี ก็เล่าเพียงว่า
“…ขึ้นไปทอดพระเนตรยอดดอยอินทนนท์ ซึ่งเป็นภูเขาที่สูงที่สุดในประเทศ น้อยคนนักที่จะได้ไปเพราะต้องใช้ม้าเป็นพาหนะ ความหนาว 40 ดีกรีฟาเรนไฮต์ ประทับอยู่ 2 ราตรี ได้ทรงเครื่องหมายเป็นที่ระลึก แล้วเสด็จอำเภอฝาง…”

ส่วน “พระประวัติพระราชชายา เจ้าดารารัศมี” โดย เจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ องค์ที่ 9 พระเชษฐาต่างพระมารดาในเจ้าดารารัศมี ก็บอกว่า
“…เสด็จกลับทางอำเภอแม่สะเรียง ขึ้นประทับแรมบนยอดดอยอินทนนท์ซึ่งเป็นภูเขาสูงที่สุดในพระราชอาณาจักรสยาม และน้อยคนที่จะได้ไปถึง เพราะทางขึ้นไปกันดาร สัตว์ป่าที่ดุร้ายก็ชุม ต้องแผ้วถางทางและใช้ม้าเป็นพาหนะ ความหนาวถึง 40 ดีกรีฟาเร็นไฮต์ แม้กระนั้นก็ประทับอยู่ถึงสองราตรี พระองค์ได้ทรงทำเครื่องหมายเป็นที่ระลึกไว้ ณ ที่นั้นด้วย นอกจากนี้ก็ยังเสด็จอำเภอฝางโดยขบวนช้างและม้า…”
อาจารย์สมฤทธิ์บอกว่า เอกสารทั้ง 3 แหล่งนี้ล้วนเขียนโดยบุคคลใกล้ชิดเจ้าดารารัศมี แต่ไม่ได้กล่าวถึงการนำพระอัฐิพระเจ้าอินทวิชยานนท์ไปไว้ที่ยอดดอยอ่างกา มีแค่เรื่องทำเครื่องหมายไว้เท่านั้น
แล้วตั้งข้อสังเกตว่า หรือที่จริงเจ้าดารารัศมีทรงทำเครื่องหมายไว้ แต่คนรุ่นหลังแต่งเติมเรื่องราวจนกลายเป็นว่า พระองค์ทรงนำพระอัฐิพระบิดาไปไว้ที่ดอยอ่างกา หรือไม่ก็เมื่อครั้งเจ้าดารารัศมีสิ้นพระชนม์ พระองค์ทรงพกพระอัฐิพระบิดาไว้ (ตามข้อมูลในหนังสือ “เพ็ชร์ลานนา” โดย ปราณี ศิริธร ณ พัทลุง) แล้วคนรุ่นหลังนำพระอัฐินี้ไปบรรจุไว้ที่ดอยอ่างกา
จนเป็นที่มาของชื่อดอยอินทนนท์
อ่านเพิ่มเติม :
- เจ้าดารารัศมี “เมียโปลีซี” ของรัชกาลที่ 5
- “ตำหนักเจ้าดารารัศมี” ในพระบรมมหาราชวัง หน้าตาเป็นอย่างไร
- เปิดเหตุสิ้นพระชนม์ “พระองค์เจ้าวิมลนาคนพีสี” พระราชธิดา “เจ้าดารารัศมี” ในรัชกาลที่ 5
- เหตุใดรัชกาลที่ 5 ตรัสถึงเจ้าดารารัศมีว่า “ฉันผิดไปเสียแล้ว ลูกเขาควรจะเป็นเจ้าฟ้า แต่ฉันลืมตั้งจึงตาย”
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
สมฤทธิ์ ลือชัย. “การเมืองและเรื่องที่ลือในพระประวัติเจ้าดารารัศมี”. นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับมกราคม 2568
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 18 มีนาคม 2568