ผู้เขียน | ธนกฤต ก้องเวหา |
---|---|
เผยแพร่ |
“กิมก๊ก” อาณาจักรทรงอำนาจใน “มังกรหยก” นวนิยายกำลังภายในอันโด่งดังของกิมย้ง พวกเขาเป็นศัตรูตัวฉกาจที่จ้องยึดครองแผ่นดินจีนอันอุดมสมบูรณ์ ทำให้ราชวงศ์เป่ยซ่ง (ซ่งเหนือ) ถึงคราวล่มสลาย ต้องถ่อยร่นลงใต้มาตั้งราชวงศ์หนานซ่ง (ซ่งใต้) และต้อง “จ่าย” สินทรัพย์เป็นจำนวนมหาศาล เพื่อรับประกันสันติภาพระหว่างอาณาจักร

นี่คือประวัติศาสตร์จริงอันเป็นสถานการณ์บ้านเมือง ณ ห้วงเวลาที่ “ก๊วยเจ๋ง” กับ “อึ้งย้ง” คู่พระ-นาง ในมังกรหยกเติบโต
ยุคราชวงศ์ซ่งนั้นเรียกได้ว่าเป็นสมัยแห่งความเสื่อมโทรมของจีน ชาวฮั่นต้องเสียดินแดนจงหยวนให้พวก “นอกด่าน” อาณาประชาราษฎร์อยู่ในความทุกข์เข็ญ เต็มไปด้วยขุนนางฉ้อราษฎร์บังหลวง ขณะที่ศัตรูทางเหนือกล้าแข็งขึ้น และพร้อมเป็นภัยคุกคามได้ทุกเมื่อ
แล้วพวกกิมก๊กเป็นใคร มาจากไหน? พวกเขามีอำนาจระหว่าง ค.ศ. 1115-1234 (พ.ศ. 1658-1777) อีกชื่อคือ ราชวงศ์จิน สถาปนาโดย หวานเหยียนอากู่ต๋า หรือพระเจ้าจินไท่จู่ ปฐมจักรพรรดิ ผู้นำชนเผ่า “หนี่ว์เจิน” ชนเร่ร่อนทางตอนเหนือของจีน (ต่อมาคือชาวแมนจู) เครือญาติห่าง ๆ ของชาวมองโกล มีเมืองฮุ่ยหนิงเป็นนครหลวง

ช่วงที่ราชวงศ์เป่ยซ่งยังครอบครองภาคกลางของจีนอยู่นั้น อาณาจักรหนี่ว์เจินในนามราชวงศ์จินเริ่มขยับขยายอำนาจจากบริเวณแมนจูเรีย หรือตะวันออกเฉียงเหนือของจีน มาทำสงครามกับราชวงศ์เหลียวของชาวคีตัน ชนนอกด่านอีกกลุ่มที่เป็นคู่กรณีเก่าของชาวฮั่น และปกครองตอนเหนือของจีนอยู่ขณะนั้น
จักรพรรดิซ่งจึงส่งทูตข้ามทะเลไปลงนามสนธิสัญญา “การเจรจาสันติภาพบนท้องทะเล” กับหนี่ว์เจิน เพื่อร่วมมือกันกำจัดราชวงศ์เหลียว ราชวงศ์จินจึงแผ่อาณาเขตลงใต้มาเรื่อย ๆ จนสามารถครอบครองพื้นที่กว้างใหญ่ทางตอนเหนือของจีนได้สำเร็จ
แต่กลับกลายเป็นว่า พวกเขาเป็นภัยคุกคามใหม่ของชาวฮั่นเสียเอง
ค.ศ. 1125 เพียง 10 ปี หลังสถาปนาอาณาจักร ราชวงศ์จินสามารถโค่นล้มราชวงศ์เหลียวอย่างเบ็ดเสร็จ โดยที่ฝ่ายซ่งแทบไม่มีส่วนร่วม พวกเขาจึงไม่รอช้าที่จะรุกรานราชวงศ์ซ่งต่อทันที ด้วยการส่งกองทัพ 2 สายบุกลงใต้
ค.ศ. 1126 กองทัพจินตีนครไคเฟิง (เปี้ยนจิง) เมืองหลวงของราชวงศ์ซ่งจนแตกพ่าย พระเจ้าชินจง จักรพรรดิซ่งและพระเจ้าฮุยจง อดีตจักรพรรดิ ถูกพวกหนี่ว์เจินคุมตัวไปยังดินแดนของพวกเขาทางตอนเหนือ และโดนกระทำหมิ่นศักดิ์ศรีสารพัด และเนื่องจากรัชสมัยของพระเจ้าชินจงชื่อว่า “จิ้งคัง” (เจ๋งคัง) คนจีนจึงเรียกเหตุการณ์นั้นว่า “ภัยพิบัติในรัชสมัยจิ้งคัง”
ศักราชแห่งการล่มสลายของราชวงศ์เป่ยซ่ง จึงเป็นปีแห่งความอัปยศอดสูสำหรับชาวจีนด้วย
เมื่อ “เจ้าโกว” อนุชาต่างพระราชมารดาของพระเจ้าชินจง หนีลงใต้มาสถาปนาราชวงศ์หนานซ่งที่นครหลินอาน (หางโจว) เป็นพระเจ้าเกาจง ราชวงศ์จินยังพยายามทำสงครามขับเคี่ยวกับชาวฮั่นอยู่เรื่อย ๆ แต่ไม่ประสบความสำเร็จ จึงหันมาเจรจาสันติภาพแทน
ท่าทีของฝ่ายราชวงศ์หนานซ่งดูจะอ่อนน้อมต่อชาวหนี่ว์เจินอยู่ไม่น้อย เพราะใน ค.ศ. 1141 พวกเขาบรรลุข้อตกลงสันติภาพ โดยยอมส่ง “บรรณาการรายปี” ให้แก่ราชวงศ์จินถึงปีละ 250,000 ตำลึง ผ้าไหมปีละ 250,000 พับ เรียกว่า “ข้อตกลงสันติภาพเส้าซิง”

ที่สำคัญพระเจ้าเกาจงผู้ทรงยินยอมทำสัญญาดังกล่าว ยังเรียกพระองค์เองในการติดต่อกับจักรพรรดิราชวงศ์จินว่า “ข้าพระองค์” (臣) อันเป็นการบ่งบอกถึงการยอมรับอำนาจราชวงศ์ของคนนอกด่าน และทำให้ราชวงศ์ซ่งกลายเป็นรัฐบรรณาการของ “กิมก๊ก” อย่างเป็นทางการ
แม้สัญญาดังกล่าวจะไม่ต่างจากการ “ซ้ำเติม” ศักดิ์ศรีของชาวฮั่นที่พังทลายหลังไคเฟิงแตก แต่นั่นทำให้สงครามระหว่างพวกเขากับราชวงศ์จินที่ดำเนินมาเกือบ 2 ทศวรรษยุติลง และแผ่นดินจีนคืนสู่ความสงบอีกครั้ง
อ่านเพิ่มเติม :
- มังกรหยก 2025 ชื่อตัวละครสำคัญ “ก๊วยเจ๋ง-เอี้ยคัง” มีที่มาจากไหน?
- กิมย้ง นักเขียนปรมาจารย์ : เหนืออดีต สยบอนาคต ผ่านมุมมองน.นพรัตน์
- “คูชู่กี” แห่ง “มังกรหยก” มาเกี่ยวข้องอะไรกับ “ไซอิ๋ว” ?
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
หลี่เฉวียน ; เขมณัฏฐ์ ทรัพย์เกษมชัย แปล. (2556). ประวัติศาสตร์จีนฉบับย่อ. กรุงเทพฯ : มติชน.
สิทธิพล เครือรัฐติกาล. ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับอาณาจักรเหลียว ซีเซี่ย และจิน: ภาพสะท้อนความยืดหยุ่นทางการทูตสมัยราชวงศ์ซ่ง (ค.ศ. 960-1279).วารสารสังคมลุ่มแม่น้ำโขง ฉบับที่ 1 มกราคม-เมษายน 2556.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 25 กุมภาพันธ์ 2568