ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
ในนิยายชุด “มังกรหยก” ของ กิมย้ง “คูชู่กี” เป็นนักพรตเต๋าศิษย์เฮ้งเตงเอี้ยงเจ้าสำนักช้วนจินก่า ซึ่งภายหลังคูชู่กีก็ได้รับสืบตำแหน่งเจ้าสำนักสืบต่อมา และเขายังเป็นผู้ที่ตั้งชื่อให้กับ “เอี้ยคัง” และ “ก๋วยเจ๋ง” ตัวเอกของนิยายภาคแรก
อย่างไรก็ดี คูชู่กี มิได้เป็นเพียงบุคคลที่ถูกจินตนาการขึ้นมาลอยๆ โดยกิมย้ง แต่เขาเป็นบุคคลที่มีตัวตนจริงๆ ในประวัติศาสตร์จีน มีชีวิตอยู่ในช่วง พ.ศ. 1691-1770 และยังเคยถูกเข้าใจผิดว่าเป็นผู้แต่งเรื่อง “ไซอิ๋ว”
ถาวร สิกขโกศล ผู้รู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์จีน เคยอธิบายเรื่องนี้ ไว้ในบทความเรื่อง “ไซอิ๋ว: ยอดนิยายมหัศจรรย์” นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับสิงหาคม 2552 ว่า
“ตามเรื่องจริงในประวัติศาสตร์นั้น คูชู่กี มีฉายาว่า ‘เชี่ยงชุนจินหยิน-อริยบุคคลผู้เป็นอมตะ’ เคยเดินทางไปพบเจงกิสข่าน ที่ดินแดนภาคตะวันตกแถวอุซเบกิสถานในปัจจุบัน ลูกศิษย์ได้นำเรื่องราวในชีวิตตอนนี้ของท่านมาเขียนเป็นหนังสือชื่อเรื่อง ‘เชี่ยงชุนจินหยินไซอิ๋วกี่’
คำ ‘ไซอิ๋วกี่’ หมายถึง ‘บันทึกการเดินทางไปตะวันตก’ ชื่อหนังสือนี้แปลว่า ‘บันทึการเดินทางไปตะวันตกของเชี่ยงชุนจินหยิน’ (คูชู่กี) เนื่องจากมีคำว่า ‘ไซอิ๋วกี่’ พ้องกับชื่อนิยาย และคูชู่กีก็เป็นนักเขียนเล็กๆ คนหนึ่ง มีบทกวีดีเด่นและงานเขียนร้อยแก้วแนวเต๋าตกทอดมาถึงปัจจุบันหลายบท
คนรุ่นหลังจึงเข้าใจว่าท่านเป็นผู้แต่งนิยายเรื่อง ‘ไซอิ๋วกี่’ แต่นักวรรคดีศึกษาค้นคว้าได้ข้อสรุปแน่นอนว่าเป็นความเข้าใจผิด เรื่องไซอิ๋วแต่งหลังมรณกรรมของคูชู่กีถึง 300 กว่าปี”
อ่านเพิ่มเติม :
- เห้งเจีย ลิงในนิยายไซอิ๋ว กลายเป็นเทพที่คนจีนกราบไหว้ และแพร่เข้าไทยได้อย่างไร
- “ลัทธิเม้งก้า” แห่งดาบมังกรหยก มีจริงหรือไม่? เหตุใดจึงถูกมองเป็น “พรรคมาร” ?
- พระเณรวัดเส้าหลิน พระจีนที่ช่วยบ้านเมือง-ประชาชนยามเกิดจลาจล
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 10 สิงหาคม 2559