มังกรหยก 2025 ชื่อตัวละครสำคัญ “ก๊วยเจ๋ง-เอี้ยคัง” มีที่มาจากไหน?

มังกรหยก 20205
อึ้งย่ง-ก๊วยเจ๊ง พระนางของเรื่องมังกรหยก 2025 (ภาพจาก China Flim Group)

“มังกรหยก 2025” ภาพยนตร์ฟอร์มใหญ่ ที่มาจากนวนิยายเรื่องมังกรหยกภาคแรก ที่ดูกันมาหลายเวอร์ชั่น แต่ก็ยังเป็นที่ชื่นชมของผู้ชม เพราะฝีมือการประพันธ์ระดับปรมาจารย์อย่าง “กิมย้ง” ที่ใส่ใจเนื้อหาข้อมูล นวนิยายของเขาจึงไม่ได้มีแค่ความสนุก แต่ยังมีเชื่อมโยงข้อมูลในประวัติศาสตร์ และการสื่อสารกับผู้อ่านของเขา 

มังกรหยก 2025

มังกรหยก เป็นเหตุการณ์ที่เกิดในช่วงราชวงศ์ซ่ง ชนเผ่าแมนจูที่เคยอยู่ใต้การปกครองต้าเหลียว ตั้งอาณาจักรไต้กิมก๊ก (พ.ศ. 1658) และตกลงจับมือกับจีนต่อสู้กับต้าเหลียวจนสำเร็จ ต่อมาไต้กิมก๊กก็ฉวยโอกาสมาตีจีนซึ่งอ่อนแอ พระเจ้าซ่งฮุยจงสละราชสมบัติ พระโอรสองค์โตขึ้นครองราชย์แทน มีพระนามว่า “พระเจ้าซ่งซินจง” (ครองราชย์ พ.ศ. 1669-1670)

มังกรหยก 2025
พระเจ้าซ่งซินจง (ภาพจาก วิกิพีเดีย)

พระเจ้าซ่งซินจง ตั้งชื่อศักราชประจำรัชกาล ว่า “เจ๋งคัง” มีความหมายมงคลว่า “เข้มแข็ง, สงบสุข” และเป็นที่มาของชื่อ 2 ตัวละครสำคัญ คือ “ก๊วยเจ๋ง” และ “เอี้ยคัง” 

แต่ความเป็นจริงกลับตรงกันข้าม เพราะพระองค์ทรงเป็นผู้ปกครองที่โง่เขลา, ไม่รู้จักใช้คนดี

ปีเจ๋งคังที่ 2 (พ.ศ. 1670) แมนจูก็ตีเมืองไคเฟิงแตก พระเจ้าซ่งซินจงถูกจับเป็นเชลย เป็นอันสิ้นสุดราชวงศ์ซ่งเหนือ (พ.ศ. 1503-1670)  และ “ปีเจ๋งคังที่ 2” ถือเป็นความอัปยศที่ฝังใจคนจีน ที่กิมย้งหยิบยืมมาเป็นชื่อ 2 ตัวละครสำคัญ “ก๊วยเจ๋ง” และ “เอี้ยคัง”

อึ้งย่ง-ก๊วยเจ๊ง พระนางของเรื่องมังกรหยก 2025 (ภาพจาก China Flim Group)

ก๊วยเจ๋ง-เอี้ยคัง 

หากชื่อของ “ก๊วยเจ๋ง” และ “เอี้ยคัง” ที่กิมย้งตั้งจากชื่อศักราช “เจ๋งคัง” อันเป็นข้อมูลจากประวัติศาสตร์ช่วงหนึ่งของจีนแล้ว ยังมี “ข้อความ” ที่กิมย้งพยามยามสื่อถึงผู้อ่านของเขาอีกด้วย

เรื่องนี้ ผศ. ถาวร สิกขโกศล นักวิชาการจีนวิทยา เคยอธิบายไว้ว่า นวนิยายของกิมย้งเมื่อมีการรวมเล่ม (ครั้งแรกอาจเป็นการพิมพ์ลงในหนังสือพิมพ์) จะมีบันทึกท้ายเรื่องว่าเขียนเรื่องดังกล่าวเมื่อไร, มีอะไรเป็นแรงบันดาลใจ

อย่างมังกรหยกภาคแรก กิมย้งเขียนโดยมีเรื่องของ “ความรักชาติ”

สถานการณ์ขณะที่กิมย้งกำลังเขียนมังกรหยกภาคแรกนั้น จีนกำลังถูกสหรัฐอเมริกาปิดล้อม และสร้างภาพว่าจีนเป็นปีศาจคอมมิวนิสต์ ซึ่งอาจารย์ถาวรเคยวิเคราะห์ไว้ว่า

“เขา [กิมย้ง] ถึงได้สร้างก๊วยเจ๋งกับเอี้ยคังให้เป็นตัวแทนของลูกจีนโพ้นทะเล เพราะสองคนนั้นเป็นคนจีนแต่ไปโตในมองโกลกับแมนจู (กิมก๊ก) 

แล้วเขาสร้างภาพให้ก๊วยเจ๋งไม่ลืมความเป็นจีน เอี้ยคังลืมความเป็นจีน เห็นแก่ผลประโยชน์ 

เขา [กิมย้ง] สร้างให้เอี้ยคังเป็นตัวร้าย ก๊วยเจ๋งเป็นคนดี เหมือนกับจะบอกลูกจีนโพ้นทะเลว่า ให้คำนึงถึงผลประโยชน์ของชาติจีน ซึ่งมันก็ได้ผล” 

นี่คือ “ข้อความ” ที่กิมย้งพยายามส่งถึงผู้อ่านของเขา แบบไม่ยัดเยียด หากทรงพลังมาหลายทศวรรษ

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

ถาวร สิกขโกศล. สกัดจุดยุทธจักรมังกรหยก, สำนักพิมพ์สร้างสรรค์, พิมพ์ครั้งที่ 4

เอกภัทร์ เชิดธรรมธร. “สกัดจุดยุทธจักร ของ ‘กิมย้ง’” ใน, มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 16-22 พฤศจิกายน 2561.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 24 กุมภาพันธ์ 2568.