เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ ขุนนาง 5 แผ่นดิน ผู้รับบรรดาศักดิ์ “เจ้าพระยา” คนสุดท้าย

เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ (จิตร ณ สงขลา)
เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ (จิตร ณ สงขลา) ครั้งเป็น พระจินดาภิรมย์ฯ เสนาบดีกระทรวงยุติธรรม

เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ (จิตร ณ สงขลา) ขุนนาง 5 แผ่นดิน ผู้รับโปรดเกล้าฯ พระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น “เจ้าพระยา” คนสุดท้ายของสยาม รับราชการสนองคุณแผ่นดินครบ ทั้งฝ่ายตุลาการ บริหาร และนิติบัญญัติ

เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ เดิมชื่อ จิตร ณ สงขลา เป็นบุตรพระอนันสมบัติ (เอม ณ สงขลา) ผู้ช่วยราชการเมืองสงขลา กับท่านเชื้อ เกิดเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2428 ที่ตำบลบ่อยาง อำเภอกลาง จังหวัดสงขลา สมรสครั้งแรกกับท่านผู้หญิงน้อม แต่หลังจากท่านผู้หญิงน้อมถึงแก่กรรม ท่านได้สมรสกับท่านผู้หญิงประภา

เส้นทาง “เจ้าพระยา” (คนสุดท้าย) ก่อนเปลี่ยนระบอบ

นายจิตร ณ สงขลา เป็นผู้พากเพียรด้านการศึกษาและมีสติปัญญาอย่างยิ่ง เพราะท่านเรียนวิชากฎหมายและสำเร็จเป็นเนติบัณฑิตสยามเมื่ออายุ 20 ปี โดยรับราชการเป็นผู้ช่วยเจ้ากรมกองหมาย ตั้งแต่ปี 2446 (สมัยรัชกาลที่ 5) ขณะอายุ 18 ปีเท่านั้น

ราว พ.ศ. 2449 ท่านไปศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษและได้ปริญญา Barrister At-Law (นักกฎหมาย) ในปี 2453 จึงได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้พิพากษาศาลแพ่ง และรับบรรดาศักดิ์ หลวงจินดาภิรมย์ ในปีเดียวกัน (สมัยรัชกาลที่ 6)

2 ปีต่อมา หลวงจินดาภิรมย์ได้เลื่อนเป็นผู้พิพากษาศาลคดีต่างประเทศ และรั้งตำแหน่งอธิบดีกองหมาย กองล้มละลาย และหอทะเบียนหุ้นส่วนบริษัท ทำให้ท่านเป็นคนไทยคนแรกที่ดำรงตำแหน่งดังกล่าว เพราะก่อนหน้านี้ผู้ดำรงตำแหน่งล้วนเป็นชาวต่างชาติ ทั้งยังเป็นอาจารย์สอนกฎหมายและกรรมการสอบไล่ โรงเรียนกฎหมายกระทรวงยุติธรรม

กระทั่ง พ.ศ. 2456 ท่านได้เป็นอธิบดีผู้พิพากษาศาลแพ่ง และได้รับบรรดาศักดิ์เป็น พระจินดาภิรมย์ราชสภาบดี ก่อนที่ 4 ปีต่อมา (พ.ศ. 2459) จะเลื่อนเป็น “พระยา” ในนามเดิม พร้อมดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการศาลฎีกา อธิบดีศาลฎีกา และเสนาบดีกระทรวงยุติธรรม มียศเป็นมหาอำมาตย์โท

ปีถัดมา พระยาจินดาภิรมย์ราชสภาบดีได้เป็นผู้พิพากษาศาลทรัพย์เชลย และเป็นเลขาธิการเนติบัณฑิตยสภา และได้รับแต่งตั้งเป็นองคมนตรีเมื่อ พ.ศ. 2461 (อยู่ในตำแหน่งจนถึงแก่อสัญกรรม) จากนั้นดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงยุติธรรมในปี 2471 มียศเป็นมหาอำมาตย์เอก (สมัยรัชกาลที่ 7)

ระหว่าง พ.ศ. 2471-2475 ขณะพระยาจินดาภิรมย์ราชสภาบดี ดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงยุติธรรมนั้น รัชกาลที่ 7 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เลื่อนบรรดาศักดิ์ท่านเป็น “เจ้าพระยา” เมื่อปี 2474 อันเป็นบรรดาศักดิ์สำหรับขุนนาง เป็นรองเพียงสมเด็จเจ้าพระยา (บรรดาศักดิ์พิเศษ) เท่านั้น ปรากฏคำประกาศ ดังนี้ [เน้นคำ-ปรับย่อหน้าใหม่โดยกองบรรณาธิการ]

“…จึ่งมีพระบรมราชโองการมานพระบัณฑูรสุรสิงหนาท ดำรัสสั่งให้สถาปนาพระยาจินดาภิรมย์ราชสภาบดีขึ้นเป็น เจ้าพระยา มีสมญาจารึกในหิรัญบัฏว่า

เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ สมันตเนตรพิสุทธยุตติธรรมธร วิสดรนีติศาสตร์ราชประเพณี วิเชียรคีรีสัลลีวงศวัยวัฒน์ บรมกษัตรสุนทรมหาสวามิภักดิ์ สุขุมลักษณสุจริตาร์ชวาศรัย ศรีรัตนตรัยสรณาภิรดี อภัยพิริยบรากรมพาหุ อัชนาม ดำรงศักดินา ๑๐๐๐๐ จงเจริญทฤฆชนมายุ พรรณ สุข สวัสดิพิพัฒนมงคล ธนสารสมบัติ บริวารสมบูรณ์ทุกประการ เทอญ”

ภายหลังมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ สถาปนาเจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ ก็ไม่มีการสถาปนาตำแหน่ง “เจ้าพระยา” อีก เพราะการอภิวัฒน์สยาม พ.ศ. 2745 ที่เปลี่ยนประเทศไปสู่ประชาธิปไตย ทำให้บรรดาศักดิ์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มีอันต้องถูกยกเลิกไปนั่นเอง

เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ
เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ (ภาพจาก อนุสรณ์งานสมโภชรับขวัญ เจษฎาจารย์ ฟ.ฮีแลร์ 14 มีนาคม 1959 / Wikimedia Commons)

บทบาทหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง

หลังสยามเปลี่ยนแปลงการปกครองใน พ.ศ. 2475 เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ (จิตร ณ สงขลา) ยังมีบทบาททางการเมืองอยู่สมควร ดังจะเห็นว่า ท่านได้รับแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ระหว่าง พ.ศ. 2476-2477 เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภท 2 (แต่งตั้ง) ถึงปี 2487 เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎรระหว่าง พ.ศ. 2477-2479 และเคยรักษาการแทนนายกรัฐมนตรีเมื่อปี 2477

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ ในโลซานน์ ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ พ.ศ. 2477
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ ในโลซานน์ ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ พ.ศ.2477

ที่สำคัญท่านคือผู้แทนรัฐบาลไปเฝ้า พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7) ณ กรุงลอนดอน เพื่ออัญเชิญเสด็จกลับคืนมาครองราชย์ และไปเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล (รัชกาลที่ 8) ณ เมืองโลซาน ในการเสด็จขึ้นครองราชย์ด้วย

นอกจากนี้ ท่านยังได้รับเลือกจากสภาผู้แทนราษฎรให้เป็นประธานกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างกฎหมายหลายฉบับ รวมถึงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นศาสตราจารย์วิสามัญแห่งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองด้วย

ไม่เพียงเท่านั้น ท่านได้ดำรงตำแหน่งสำคัญด้านบริหารและนิติบัญญัติอีกมากมาย ในสมัยรัชกาลที่ 8 และรัชกาลที่ 9 ดังต่อไปนี้

1) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม โดยได้รับแต่งตั้งถึง 3 ครั้ง คือ พ.ศ. 2480, 2487 และ 2489

2) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ แต่งตั้งเมื่อ พ.ศ. 2481

3) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข แต่งตั้งเมื่อ พ.ศ. 2487

4) สมาชิกวุฒิสภาและประธานวุฒิสภา ระหว่าง พ.ศ. 2490-2494

5) สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญและประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ ระหว่าง พ.ศ. 2491-2492

6) ประธานรัฐสภาโดยตำแหน่งและเป็นประธานตุลาการรัฐธรรมนูญโดยตำแหน่ง ระหว่าง พ.ศ. 2492-2494

ท่านเป็นที่นับถือกันว่ามีอุปนิสัยสุภาพ เยือกเย็น และโอบอ้อมอารี สามารถปกครองยึดเหนี่ยวจิตใจผู้อยู่ในบังคับบัญชาให้มีความสมัครสมานและทุ่มเทในหน้าที่ได้

มหาอำมาตย์เอก เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ (จิตร ณ สงขลา) ถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2515 ขณะอายุได้ 90 ปี 11 เดือน 8 วัน หลังจากรับราชการยาวนานกว่า 72 ปี และครบทั้งฝ่ายตุลาการ บริหาร และนิติบัญญัติ รวมถึงการเป็นองคมนตรี

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง : 

กรมศิลปากร. (2512). เรื่องตั้งเจ้าพระยากรุงรัตนโกสินทร์. กรุงเทพฯ : สำนักทำเนียบนายกรัฐมนตรี. อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ หม่อมหลวงชูชาติ กำภู, วัดเทพศิรินทราวาส 16 ธันวาคม 2512.

พิพิธภัณฑ์ศาลไทยและหอจดหมายเหตุ. มหาอำมาตย์โท พระยาจินดาภิรมย์ราชสภาบดี (เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ, จิตร ณ สงขลา) อธิบดีศาลฎีกา พ.ศ. ๒๔๗๐ – ๒๔๗๑. (PDF)


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2568