
ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่า “ราชสำนักฝ่ายใน” เป็นที่ประทับหรือที่อยู่ของสาวชาววัง แต่ฝ่ายในดังกล่าวนี้ ประกอบด้วยสตรีกลุ่มใดบ้าง?
“ราชสำนักฝ่ายใน” ประกอบด้วยสตรีกลุ่มใดบ้าง?
ดารณี ศรีหทัย จำแนกสตรีที่เป็นฝ่ายในไว้ในหนังสือ “สมเด็จรีเยนต์” ว่า มีด้วยกัน 3 กลุ่ม
กลุ่มแรก คือ กลุ่มชั้นสูง ประกอบด้วยเจ้านายชั้นพระราชโอรสและพระราชธิดา ซึ่งประสูติและทรงได้รับการศึกษาอยู่ในพระบรมมหาราชวัง โดยพระราชโอรสจะทรงเป็น “ชาววัง” จนถึงพระราชพิธีโสกันต์ จากนั้นต้องเสด็จฯ ออกวังไปประทับยังวังส่วนพระองค์ ซึ่งสมเด็จพระบรมชนกนาถพระราชทาน หรือประทับรวมกับพระญาติสนิทตามแต่จะเหมาะสม

นอกจากนี้ ยังมีเจ้านายเชื้อพระวงศ์ชั้นสูงระดับหม่อมเจ้า รวมทั้งหม่อมราชวงศ์ที่เป็นกำพร้า ที่เจ้านายฝ่ายในทรงรับอุปถัมภ์เลี้ยงดูไว้ในพระบรมมหาราชวัง ทั้งยังมีบุตรหลานของผู้ดีมีตระกูลและขุนนาง ซึ่งเข้าไปอยู่ในวังเพื่อรับการศึกษาอบรมฝึกฝนวิชาที่ควรรู้ในสมัยนั้น เช่น เรื่องกิริยามารยาท การเย็บปักถักร้อย การปรุงอาหาร การร้อยดอกไม้ การแกะสลัก ฯลฯ เพราะเป็นที่นิยมกันว่า พระบรมมหาราชวังเป็นโรงเรียนชั้นสูงสำหรับฝึกหัดกุลธิดา
สตรีที่เข้าไปเพื่อรับการศึกษาอบรมและถวายตัวรับราชการฝ่ายในเหล่านี้ จะว่าเป็นชาววังโดยการถวายตัว

กลุ่มต่อมา คือ กลุ่มชั้นกลาง ประกอบด้วยบุตรหลานคหบดี ที่ผู้ปกครองต้องการให้ได้รับการฝึกฝนอบรมความรู้ มีกิริยามารยาทอย่างชาววัง กลุ่มนี้เข้าไปโดยการถวายตัวเป็น “นางข้าหลวง” อยู่กับเจ้านาย และค่อยๆ ศึกษาด้วยการรับใช้จนรู้ขนบธรรมเนียมต่างๆ เมื่อมีความรู้อันควรแก่ตนแล้วก็ลากลับบ้านเรือน หรือแต่งงานมีครอบครัว
แต่บางคนก็สมัครใจอาศัยอยู่ในวังต่อ โดยรับราชการมีตำแหน่งหน้าที่ อาทิ “นางพนักงานกลาง” เชิญเครื่องเสวยจากห้องเครื่องไปส่งยังพระราชมณเฑียร “ทนายเรือน” มีหน้าที่นำคำสั่งกิจการไปแจ้งตามตำหนักและเรือนข้าราชการฝ่ายใน “จ่าโขลน” ทำหน้าที่ดูแลบังคับบัญชาพวกโขลนรักษาวัง และผู้หญิงชาววังที่ไม่ได้เป็นข้าราชการ เป็นต้น
กลุ่มสุดท้าย คือ โขลน ทำหน้าที่รักษากฎระเบียบและธรรมเนียมวัง รวมทั้ง ข้าทาสคนรับใช้ ของสองกลุ่มแรก ดารณีระบุว่า ชาววังกลุ่มนี้แทบไม่อาจเรียกได้ว่าเป็น “ชาววัง” เพราะมีหน้าที่รับใช้งานชั้นต่ำอยู่ในวัง เป็นสามัญชนที่ทำงานในวัง กลุ่มนี้จึงเป็นชาววังเพราะอาศัยอยู่ในวังเท่านั้น
สรุปแล้ว ฝ่ายในจึงเป็นโลกอีกใบหนึ่งที่มีสตรีดำเนินบทบาทต่างๆ เป็นหลัก นอกจากพระมหากษัตริย์แล้ว ก็แทบไม่มีบุรุษคนใดย่างกรายเข้าไปได้เลย
อ่านเพิ่มเติม :
- ชีวิตสาวชาววัง ใครว่าสบาย? อาหาร-เครื่องแต่งกายล้วนละเอียดซับซ้อน
- สาวชาววังกับการ Shopping ดูแหล่งซื้อและสินค้าฮิต จนถึงเหตุผลที่จะควักซื้อ
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
ดารณี ศรีหทัย. สมเด็จรีเยนต์. กรุงเทพฯ : มติชน, 2554.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 22 พฤศจิกายน 2567