ผู้เขียน | วิภา จิรภาไพศาล |
---|---|
เผยแพร่ |
เสรีไทยสายนิสิตจุฬาฯ คือ นิสิตชาย จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่เข้าร่วมกับขบวนการเสรีไทย เพื่อช่วยเหลือขบวนการเสรีไทยต่อต้านญี่ปุ่น ด้วยการอาสาเข้าเป็นนักเรียนนายทหารสารวัตร (นร.สห.) ตามความต้องการของทางราชการ ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2
เสรีไทยสายนิสิตจุฬาฯ
เมื่อกองทัพญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกในหลายจังหวัดของไทย (8 ธันวาคม พ.ศ. 2484) และขอเดินทัพผ่านไทยไปโจมตีอังกฤษที่พม่า, อินเดีย และมาเลเซีย รัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม ตัดสินใจยินยอมให้ญี่ปุ่นเดินทัพผ่านและประกาศเข้าร่วมกับฝ่ายอักษะ
แต่มีคนไทยจำนวนมากไม่เห็นด้วย เพราะเห็นว่าการยินยอมเช่นนั้นเท่ากับการเสียอธิปไตย ทำให้เกิดการตั้งขบวนการต่อสู้ที่เรียกว่า “เสรีไทย” นำโดยนายปรีดี พนมยงค์ ผู้สำเร็จราชการและหัวหน้าเสรีไทยในไทย
มกราคม ปี 2488 ขณะที่สงครามยังคุกรุ่น พลเรือตรี สังวร สุวรรณชีพ เสรีไทย หารือกับนายปรีดี เพื่อดำเนินงานผลักดันฐานทัพญี่ปุ่นออกไปจากประเทศไทยขั้นแตกหัก ขบวนการเสรีไทยจะต้องมี “หน่วยทหารลับพร้อมรบแบบสงครามกองโจร” (Gurrilla Warfare) ที่สามารถทำการรบทั้งในป่าและในเมือง, มีระเบียบวินัยแบบทหาร และสามารถใช้อาวุธที่ฝ่ายพันธมิตรส่งมาให้ทางอากาศ
ผู้ที่จะเหมาะสมกับหน่วยทหารลับพร้อมรบคือ “นิสิตชายจุฬาฯ”
เพราะขณะนั้นมหาวิทยาลัยปิดการเรียนการสอนเพราะภัยสงคราม นิสิตชายเป็นยุวชนทหาร เคยฝึกวิชาทหารตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษา นายปรีดีเห็นด้วยและอนุมัติให้ดำเนินการได้ทันที
ปฏิบัติการลับ
พลเรือตรี สังวร จึงเข้าพบ หม่อมเจ้ารัชฎาภิเศก โสณกุล อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งได้อนุญาตให้นิสิตไปช่วยราชการ โดยให้เป็นความสมัครใจส่วนบุคคล และทำหนังสือเวียนไปยังคณะต่างๆ ให้เรียกนิสิตทุกคนมาเข้าร่วมประชุมด่วนในวันที่ 15 มีนาคม 2488 เวลา 10.00 น. ณ หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

การรับเป็นทหารลับของเสรีไทย ต้องกระทำอย่าง “ปิดลับ” การกล่าวเชิญชวนของพลเรือตรี สังวร ในที่ประชุมจึงไม่สามารถพูดได้ชัดเจนเต็มที่ ต้องใช้วิธีให้คนไปกระซิบบอกต่อๆ ดังปรากฏในบันทึกของผู้ร่วมเหตุการณ์อีกท่านหนึ่งดังนี้
“มีการกระซิบบอกกันเป็นทางลับๆ ว่า การเป็นนักเรียนนายทหารคราวนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อไปสู้รบต่อต้านญี่ปุ่นนั่นแหล่ะ บรรดานิสิตทั้งหมดจึงเข้าใจ ต่างได้สมัครเข้าเรียนในโรงเรียนทหารสารวัตร”
นิสิตที่มาประชุม 300-400 คน ทราบถึงเหตุผลแล้วก็ตัดสินเข้าร่วมกว่า 300 คน เมื่อตรวจโรคแล้ว มีผู้ผ่านการคัดเลือกจำนวน 298 คน หม่อมเจ้ารัชฎาภิเศกได้อนุมัติเงินรายได้ของจุฬาฯ สมทบจ่ายเป็นเบี้ยเลี้ยงแก่นิสิตระหว่างไปปฏิบัติราชการลับนี้ด้วย
เสรีไทย ไปเป็น นร.สห. 2488
15 เมษายน 2488 “โรงเรียนนายทหารสารวัตร” เปิดรับบรรดาเสรีไทยสายนิสิตจุฬาฯ เข้าเป็น “นักเรียนสารวัตรทหาร” (นร.สห.) ในหลักสูตรรวบรัดเพียง 1 ปี มีการสอนการบรรยายในห้องเรียน การฝึกเช้าเย็น
เวลานั้น พลโท นากามูระ อาเกโตะ แม่ทัพญี่ปุ่นประจำประเทศไทย ได้จับตาดูโรงเรียนแห่งนี้อย่างใกล้ชิด แต่ฝ่ายไทยก็ชี้แจงว่าจำเป็นต้องมีทหารสารวัตร เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองระหว่างสงคราม

กรกฎาคม 2488 มีการทยอยส่ง นร.สห. ทั้ง 298 นาย ไปยังค่ายสวนลดาพันธุ์ อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี เพื่อไปฝึกภาคสนาม แต่ที่จริงค่ายได้ลำเลียงอาวุธยุทโธปกรณ์ของกองทัพอเมริกาทิ้งร่มลงมาที่บ้านมาบตาพุด จังหวัดระยอง มารอนักเรียนนายทหารสารวัตร และมีนายทหารอเมริกันหลายนายอยู่ที่ค่าย เพื่อเป็นหัวหน้าการฝึกรบต่อต้านญี่ปุ่น
กลางเดือนสิงหาคม 2488 ญี่ปุ่นประกาศยอมแพ้สงคราม แต่โจรผู้ร้ายชุกชุมทั่วประเทศ ชาวจีนส่วนหนึ่งในกรุงเทพฯ ก่อเหตุจลาจลกลางเมือง นร.สห. ที่เตรียมไว้รบกับญี่ปุ่น ก็เลยปราบปรามคนจีนที่ก่อความวุ่นวายร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหาร, ทำหน้าที่ประสานงานกับทหารสหประชาชาติที่เข้ามาปลดอาวุธทหารญี่ปุ่นในไทย ฯลฯ ถึงเดือนพฤศจิกายน 2488 เหตุการณ์จึงสงบ
นร.สห. ได้รับพระราชทานยศเป็นว่าที่ร้อยตรี ทำพิธีประดับยศ ณ กรมสารวัตรทหาร เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2488 หลังจากนั้นก็ได้สลายตัว บ้างกลับเข้าศึกษาต่อที่จุฬาฯ, บ้างเข้ารับราชการเป็นตำรวจ, หันไปประกอบอาชีพส่วนตัว ฯลฯ อดีต นร.สห. 2488 ยังรวมตัวกันในนาม “ชมรมนักเรียนสารวัตรทหาร 2488” มีการพบปะติดต่อกันเรื่อยมา
อ่านเพิ่มเติม :
- ภารกิจ ‘เสรีไทย’ เก็บอาวุธจากร่มยุทธภัณฑ์ สร้างสนามบินลับ ถึงการฝึกทหารเสรีไทย
- ทำไมไม่มีเสรีไทยสายจีน ในประวัติศาสตร์เสรีไทย
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
กำพล จำปาพันธ์. “อนุสรณ์สถานกับความทรงจำ: นร.สห. 2488 เสรีไทยสายนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” ใน, ศิลปวัฒนธรรม มีนาคม 2560.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 21 กุมภาพันธ์ 2568