รู้จัก “เมืองพระรถ” เมืองโบราณยุคทวารวดีแห่งภาคตะวันออก “ชลบุรี”

เมืองพระรถ เมืองโบราณสมัยทวารวดี
(ภาพจาก มติชนออนไลน์, 31 พฤษภาคม 2559)

เมืองพระรถ เมืองโบราณสมัยทวารวดี ที่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแห่งแรกของชลบุรี

หลายคนอาจรู้จักจังหวัดชลบุรีในฐานะเมืองท่องเที่ยวหรือเมืองอุตสาหกรรม แต่จะมีใครบ้างที่ทราบว่าชลบุรีก็มีเมืองโบราณสมัยทวารวดี ยุคเดียวกับเมืองศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ นั่นคือ “เมืองพระรถ”

เมืองพระรถ ตั้งอยู่ที่ตำบลหน้าพระธาตุ อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี กรมศิลปากรขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแห่งชาติ ตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 52 ตอนที่ 75 ลงวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2478

แผนที่เมืองพระรถ
แผนที่เมืองพระรถ รวบรวมเอกสารโดยห้องสมุดประชาชนจังหวัดชลบุรี

เมืองพระรถเป็นเมืองโบราณขนาดใหญ่ อยู่ห่างจากตัวเมืองชลบุรีประมาณ 28 กิโลเมตร ปัจจุบันถนนฉะเชิงเทรา-พนัสนิคม ตัดทับส่วนหนึ่งของกำแพงและคูเมืองทางด้านตะวันออก 

มีการกล่าวถึงเมืองพระรถเป็นครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. 2474 ปรากฏหลักฐานคือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนชัยนาถนเรนทร กราบทูลต่อ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ความว่า “พบพระพุทธรูปองค์หนึ่งเป็นของชาวบ้านเมืองพนัสพบในบริเวณเมืองพระรถ” 

นักโบราณคดีเชื่อว่าเมืองนี้อยู่ในสมัยทวารวดี (อายุราวพุทธศตวรรษที่ 12-16) และเจริญสืบเนื่องมาจนถึงสมัยลพบุรี (พุทธศตวรรษที่ 17-18) โดยเป็นแหล่งค้าขายสำคัญให้กับเมืองต่าง ๆ ซึ่งร่องรอยทางกายภาพและโบราณวัตถุที่พบในเมืองพระรถ ได้แก่

โบราณสถาน มี 2 ประเภท คือ ร่องรอยของผังเมืองและศาสนสถาน ผังเมืองที่เหลือร่องรอยให้เห็นเป็นผังเมืองรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีกำแพงเมืองเป็นคันดิน 2 ชั้น ส่วนศาสนสถานที่พบคือ เนินพระธาตุ เป็นเนินพระสถูปรูปสี่เหลี่ยมก่อด้วยอิฐขนาดใหญ่ มีฐานสถูปแบบทวารวดี ปัจจุบันกรมศิลปากรได้ขุดแต่งไว้ ส่วนตอนบนได้ก่อพระเจดีย์คร่อมทับไว้ เป็นศาสนสถานที่ผู้คนละแวกนี้เคารพบูชา 

รูปหน้าพระธาตุ
หน้าพระธาตุ (ภาพจาก หนังสือ สารานุกรม วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดชลบุรี, กรมศิลปากร)

โบราณวัตถุ มีการพบวัตถุโบราณมากมาย เช่น เครื่องปั้นดินเผา เศษเปลือกหอยแครง (คล้ายกับที่พบในโคกพนมดี อำเภอพนัสนิคม) ชิ้นส่วนพระนารายณ์สวมหมวกแขก พระพุทธรูปแบบทวารวดี หินบดยา กังสดาล (ระฆังวงเดือนทำด้วยโลหะหล่อสัมฤทธิ์)

อีกหนึ่งโบราณวัตถุชิ้นสำคัญที่ค้นพบ คือ พระพุทธปางประทับยืนเหนือตัวพนัสบดี (พนัสบดี เป็นส่วนผสมของสัตว์ 3 ชนิด ครุฑ โค หงษ์ ซึ่งเป็นตัวแทนของสามเทพ คือ พระนารายณ์ พระศิวะ พระพรหม) พระพุทธรูปองค์นี้ ชาวบ้านเรียกกันว่า พระพนัสบดี ที่ต่อมาเป็นสัญลักษณ์ของอำเภอพนัสนิคม

พระพุทธรูปปางยืนบนพนัสบดี
พระพุทธรูปปางยืนบนพนัสบดี (ภาพจาก หนังสือ สารานุกรม วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดชลบุรี, กรมศิลปากร)

นอกจากโบราณสถานและโบราณวัตถุที่กล่าวมาแล้ว เมืองพระรถยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่อยู่คู่กับเมืองมาช้านาน อย่างตำนานมุขปาฐะเรื่อง พระรถ-เมรี 

เชื่อกันว่า เมืองพระรถคือเมืองของพระรถสิทธิ์ (บิดาของพระรถเสน) และมีสถานที่มากมายที่สันนิษฐานว่าเกี่ยวข้องกับตำนาน ทั้งถ้ำนางสิบสอง หมอนนางสิบสอง รางหญ้าม้าพระรถ สระสี่เหลี่ยม ที่อยู่อำเภอพนัสนิคม และยังเชื่อมกับเมืองโบราณพญาเร่ ที่ว่ากันว่าเป็นเมืองของนางยักษ์สันธมาร เพราะตั้งอยู่กลางป่าเขาตามท้องเรื่อง 

เมืองพระรถเป็นเมืองโบราณสำคัญแห่งหนึ่งของจังหวัดชลบุรี แสดงให้เห็นถึงความรุ่งเรืองมาตั้งแต่อดีต แม้จะถูกทิ้งร้างไปในช่วงเวลาหนึ่ง แต่ปัจจุบัน เมืองพระรถได้กลายเป็นอีกแหล่งท่องเที่ยวสำคัญที่ใครชื่นชอบประวัติศาสตร์หรือตำนานต่าง ๆ มักไม่พลาดแวะเวียนไปเยี่ยมชม 

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง : 

ตำนานพระรถเมรี อำเภอพนัสนิคม

ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 52 ตอนที่ 75 ลงวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2478

มหาบัณฑิต, มหาวิทยาลัยศิลปากร]. คลังปัญญามหาวิทยาลัยศิลปากร. ออนไลน์

คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุ (2544). สารานุกรม วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดชลบุรี, กรมศิลปากร (พิมพ์ครั้งที่ 1) : กรุงเทพมหานคร

อำไพ สุลักษณานนท์. (2530). การศึกษาเมืองพระรถ อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี จากหลักฐานโบราณวัตถุสถานและชั้นดินทางโบราณคดี [วิทยานิพนธ์ปริญญา


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 18 กุมภาพันธ์ 2568