ผู้เขียน | สุทธาสินี จิตรกรรมไทย เจียจันทร์พงษ์ |
---|---|
เผยแพร่ |
ย้อนดูชาวฝรั่งเศสสมัยกรุงศรีอยุธยาบรรยายเหตุการณ์ระทึก “เข้าป่าล่าแรด” สัตว์ดุร้าย ผิวหนังหนาแข็งจนกระสุนปืนก็ยิ่งไม่เข้า
สมัยกรุงศรีอยุธยา ของป่าที่เป็นสินค้าส่งออกสำคัญอย่างหนึ่งคือ “นอแรด” ซึ่งนำไปปรุงเป็นยาแผนโบราณของจีน นอแรดนี้น่าจะได้จากแรด 2 ชนิดในป่า ที่ปัจจุบันสูญพันธุ์จากเมืองไทยไปแล้ว คือ “แรดชวา” หรือแรดนอเดียว และ “แรดสุมาตรา” หรือกระซู่ มี 2 นอ ซึ่งเป็นแรดตัวเล็กที่สุด

จะเอานอแรดได้ก็ต้องล่าแรด ดังนั้นเมื่อ นิโกลาส์ แชรแวส ชาวฝรั่งเศสที่เข้ามากรุงศรีอยุธยาเมื่อ พ.ศ. 2224-2229 ตรงกับรัชสมัย สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ซึ่งน่าจะได้เห็นแรดในกรุงศรีอยุธยา จึงบันทึกถึงการเข้าป่าล่าแรดไว้ตอนหนึ่งใน “ประวัติศาสตร์ธรรมชาติและการเมืองแห่งราชอาณาจักรสยาม (ในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช)” ว่า (จัดย่อหน้าใหม่โดยผู้เขียนบทความ)
“ข้าพเจ้าไม่อาจงดเว้นที่จะกล่าวถึงแรด อันเป็นสัตว์ที่น่ากลัวและดุร้าย ซึ่งใครเห็นแล้วก็ต้องพรั่นพรึงเสียได้ มันมีลำตัวสูงเท่าฬาขนาดใหญ่ๆ และลักษณะหัวก็คล้ายๆ กัน เว้นเสียแต่มีนอแหลมอยู่บนดั้งจมูกยาวสักเท่าฝ่ามือ
ตีนของมันแต่ละข้างแบ่งออกเป็นกีบคล้ายนิ้วมือทั้งห้า มีรูปพรรณและความใหญ่เท่าตีนฬาทีเดียว หนังของมันสีน้ำตาล ไม่น่าดูเลย และแข็งโกกกระทั่งกระสุนปืนก็ยิงไม่เข้า หุ้มทั้งสองข้างลำตัวกระทั่งถึงดิน แต่ถ้าเวลามันโกรธแล้วมันจะพองตัวและทำตัวให้ใหญ่ได้เท่าโคถึกเลยทีเดียว ฆ่ามันได้ยากนัก จะจู่โจมมันต้องเสี่ยงต่ออันตรายที่จะถูกฉีกเนื้อเป็นชิ้นๆ
คนที่ทำการล่าสัตว์ชนิดนี้มีวิธีป้องกันความดุเดือดของมันได้ โดยที่มันชอบอยู่ในที่ลุ่มที่หล่ม เขาจึงคอยสังเกตเวลามันเคลื่อนย้าย โดยเข้าซ่อนตัวอยู่เสียในพุ่มไม้ทางด้านใต้ของลม คอยกระทั่งมันล้มตัวลงนอนหลับหรือลงตีแปลง เพื่อจะได้ย่องเข้าไปยิงกรอกเข้าในหูมันได้ถนัด อันเป็นแห่งเดียวที่มันอาจได้รับบาดเจ็บถึงตายได้ และทุกส่วนสรรพางค์ของสัตว์ชนิดนี้ใช้ทำยาได้ทั้งนั้น เฉพาะนอนั้นมีสรรพคุณในทางแก้ยาเบื่อยาเมา และขายกันตั้งนอละ 100 เอกิว (ประมาณ 600 ฟรังก์)”

นอแรดยังคงเป็นสินค้าส่งออกของสยามมาจนถึงกรุงรัตนโกสินทร์ เห็นได้จากการเป็นหนึ่งในภาษีอากร 38 ชนิด ที่มีการจัดเก็บในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
เมื่อเข้าสู่สยามสมัยใหม่ มีการออกกฎหมายควบคุมสัตว์ป่าหลายชนิด และในพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 กระซู่และแรดก็เป็นสัตว์ 2 ชนิดที่อยู่ในบัญชีสัตว์ป่าสงวนด้วย (แม้กระซู่จะสูญพันธุ์จากไทยแล้วก็ตาม)
อ่านเพิ่มเติม :
- “สมัน” สูญพันธุ์จากโลก เหตุเพราะขุด “คลองรังสิต” กินพื้นที่กว่า 1 ล้านไร่
- “กูปรี” สัตว์ป่าหายากของไทย เมื่อ 100 กว่าปีก่อนมีนับพัน แต่สูญพันธุ์เพราะอะไร?
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์. The Lost Forest ประวัติศาสตร์ (การทำลาย) สิ่งแวดล้อมไทยและสงครามแย่งชิงทรัพยากร. กรุงเทพฯ : มติชน, 2567
ธนพร อินพุ่ม, เรียบเรียง. “สัตว์ป่าสงวนในประเทศไทย”.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 17 กุมภาพันธ์ 2568